backup og meta

แสบจมูก เกิดจากอะไร และวิธีบรรเทาอาการแสบจมูกที่เหมาะสม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/09/2023

    แสบจมูก เกิดจากอะไร และวิธีบรรเทาอาการแสบจมูกที่เหมาะสม

    แสบจมูก เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือภูมิแพ้อากาศ โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ โรคไซนัสอักเสบ อุณหภูมิและความชื้นในอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหัน และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคโควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัด ก็อาจทำให้แสบจมูกได้เช่นกัน

    โดยทั่วไปอาการแสบจมูกอาจบรรเทาได้ด้วยการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ การกินยารักษาตามอาการ การใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ การพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น แต่หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการที่เป็นอยู่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

    แสบจมูก เกิดได้จากสาเหตุใดบ้าง

    อาการ แสบจมูก อาจเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้

    โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) หรือภูมิแพ้อากาศ

    เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น รา ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ หรือเมื่อสัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ความชื้นในอากาศ ทำให้เนื้อเยื่อจมูกอักเสบ ส่งผลให้มีอาการคัดจมูก แสบจมูก จมูกบวมแดง ไอ มีสารคัดหลั่งปริมาณมากสะสมอยู่ในโพรงจมูก น้ำมูกไหลลงคอ ทั้งยังทำให้คันตา ตาแดงได้ด้วย โดยผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้อากาศจะเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป

    วิธีรักษา

  • หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ให้ได้มากที่สุด อาจช่วยให้อาการบรรเทาได้
  • ใช้ยาแก้แพ้กลุ่มที่ไม่กดประสาท (Non-sedating antihistamines) เช่น เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) เลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) บิลาสทีน (Bilastine) เพื่อบรรเทาอาการแพ้
  • ทำความสะอาดและดูดฝุ่นบริเวณที่อยู่อาศัยเป็นประจำ ไม่ให้ฝุ่นเกาะตามเฟอร์นิเจอร์ โซฟาผ้า ตู้ ชั้นวางของ หัวเตียง หรือตามซอกมุมห้อง
  • ซักเครื่องนอน หมอน ผ้าห่มเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสะสมและวางตุ๊กตาที่มีขนไว้ในห้องนอน เพราะอาจมีฝุ่นเกาะอยู่มากจนทำให้แพ้และแสบจมูกได้
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดเช็ดหน้าวันละหลาย ๆ ครั้ง อาจช่วยให้จมูกตันน้อยลง และอาจสูดดมไอน้ำร้อนอย่างน้อย 3-4 ครั้ง/วัน โดยใช้น้ำเดือดธรรมดาเพียงอย่างเดียว หรือหยดทิงเจอร์เบนซอยด์ (Benzyl Benzoate) ผสมกับน้ำเดือด วิธีนี้อาจช่วยให้โพรงจมูกและลำคอชุ่มชื้น จมูกโล่งและหายใจได้คล่องขึ้น
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำเพื่อลดอาการระคายเคืองและขจัดสิ่งสกปรกหรือฝุ่นภายในโพรงจมูก
  • หากดูแลตัวเองเบื้องต้นและกินยาแก้แพ้แล้วอาการไม่ดีขึ้น คุณหมออาจจ่ายยาที่มีฤทธิ์แรงกว่า เช่น สเปรย์ฉีดจมูกที่มีคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
  • โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (Non-Allergic Rhinitis)

    โรคนี้ไม่ได้เกิดจากสารก่อภูมิแพ้หรือการติดเชื้อ แต่อาจเกิดจากจมูกไวต่อสารระคายเคืองทางเดินหายใจ เช่น มลพิษในอากาศ กลิ่นหรือสารเคมีบางชนิด ควันบุหรี่ รวมถึงการกินอาหารรสจัด การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลให้จมูกแห้งและระคายเคืองได้ง่าย ก็อาจทำให้เกิดโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้และมีอาการจาม แสบจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะในลำคอ คัดจมูก ได้เช่นกัน แต่มักไม่ทำให้มีอาการคันตาหรือลำคอ โดยทั่วไปอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาเมื่อหลีกเลี่ยงสารกระตุ้น

    วิธีรักษา

    • สังเกตตัวเองว่ามีอาการจมูกอักเสบจากสาเหตุใด และหลีกเลี่ยงสารระคายเคืองให้ได้มากที่สุด ในรายที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจนอาจรักษาด้วยการควบคุมสิ่งแวดล้อม การรักษาความสะอาดของที่พัก หรือการผ่าตัด
    • รักษาตามอาการ เช่น ให้ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) ยาแก้อาการคัดจมูก ในรายที่มีน้ำมูกไหล มีอาการจาม แต่หากรักษาไม่ได้ผลหรือมีผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ จมูกแห้ง เลือดกำเดาไหล คอแห้ง ให้เปลี่ยนมาใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (Intranasal Steroids)
    • เพิ่มความชื้นในอากาศภายในที่พักอาศัยหรือที่ทำงานด้วยการใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ (Air Humidity) อาจช่วยให้อาการจมูกแห้งและแสบจมูกลดลงได้ หรืออาจสูดหายใจรับไอน้ำจากน้ำอุ่น เพื่อช่วยคลายมูกเหนียวและลดอาการคัดจมูก
    • ใช้น้ำเกลือพ่นจมูก (Saline nasal sprays) ที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อลดการสะสมของน้ำมูก ฝุ่น สิ่งสกปรก และสารก่อระคายเคือง และช่วยบรรเทาอาการอักเสบที่เยื่อบุจมูก ควรทำเป็นประจำทุกวันจนกว่าอาการจะดีขึ้น
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน เพื่อให้ร่างกายมีระดับของเหลวที่เหมาะสม และช่วยรักษาความชุ่มชื้นในโพรงจมูก ทำให้จมูกไม่แห้งจนแสบจมูก

    โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute Sinusitis)

    ส่วนใหญ่เกิดจากเป็นไข้หวัดแล้วโพรงจมูกอักเสบและบวมทำให้ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน อาการที่พบได้บ่อย คือ แสบจมูก มีน้ำมูกสีเหลืองหรือเขียวหรือน้ำมูกไหลลงคอ จมูกตันจนหายใจไม่สะดวก และอาจมีอาการปวดตุบ ๆ บริเวณรอบดวงตา หน้าผาก แก้ม ทั้งยังอาจมีอาการปวดศีรษะ ไอ ปวดหู หูอื้อ ปวดฟัน มีไข้ อ่อนเพลีย มีกลิ่นปากร่วมด้วย โดยทั่วไปอาการจะหายไปภายใน 7-10 วัน แต่หากมีอาการเรื้อรังนานกว่า 12 สัปดาห์หรือมีอาการมากกว่า 4 ครั้ง/ปี แสดงว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic sinusitis)

    วิธีรักษา

  • พ่นโพรงจมูกด้วยสเปรย์น้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อทำความสะอาดโพรงจมูกและขับน้ำมูกเหลวหรือน้ำมูกแข็งที่เกรอะกรังในโพรงจมูก อาจช่วยลดการสะสมของเชื้อโรค สิ่งสกปรก หรือสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบได้
  • ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เช่น ฟลูติคาโซน (Fluticasone) บูเดโซไนด์ (Budesonide) อาจช่วยยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้และลดการอักเสบในโพรงจมูกได้ ควรใช้ในกรณีที่อาการทางจมูก เช่น คัดจมูก แสบจมูก น้ำมูกไหล กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ
  • ใช้ยาหดหลอดเลือด (Decongestants) ในรูปแบบยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของออกซีเมทาโซลีน (Oxymetazoline) ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) หรือยาหดหลอดเลือดในรูปแบบยาเม็ดที่มีฟีนิลเอฟรีน ซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) อาจช่วยลดอาการโพรงจมูกบวมและคัดจมูกเนื่องจากไซนัสอักเสบได้ ทั้งนี้ไม่ควรใช้ยาหดหลอดเลือดแบบสเปรย์ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน และไม่ควรกินยาเม็ดหดหลอดเลือดนานเกิน 1 สัปดาห์ เนื่องจากอาจทำให้อาการรุนแรงกว่าเดิมได้
  • ใช้ยารักษาโรคภูมิแพ้ (Allergy medications) เช่น เซทิริซีน (Cetirizine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เฟกโซเฟนาดีน ลอราทาดีน (Loratadine) หากแสบจมูกเนื่องจากสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ การใช้ยารักษาภูมิแพ้อาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้
  • ใช้ยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดตึง
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

    การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสต่าง ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางจมูกได้ ตัวอย่างโรคที่พบได้บ่อย เช่น

    • โรคไข้หวัดจากการติดเชื้อไวรัสไรโน (Rhinovirus) อาจทำให้มีอาการแสบจมูก เจ็บคอ น้ำมูกไหล เป็นไข้ ปวดศีรษะ ประสาทรับรู้กลิ่นหรือรสลดลง ปวดเมื่อยตามตัว
    • โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza, Flu) จากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) อาจทำให้มีอาการ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล คัดจมูก แสบจมูก ตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงรุนแรง บางคนอาจมีอาการอาเจียน ท้องร่วงร่วมด้วย
    • โรคโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ บริเวณจมูก คอ และ ปอด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ทำให้มีอาการแสบจมูก เจ็บคอ มีไข้ ไอ อ่อนเพลีย ไม่ได้กลิ่นหรือรับรสได้น้อยลง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

    วิธีรักษา

    • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง
    • ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำจากการสูญเสียน้ำเนื่องจากการอาเจียนหรือท้องร่วง
    • หากรู้สึกปวดศีรษะหรือมีไข้ ให้กินพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน
    • ใช้สเปรย์พ่นจมูกหรือล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อลดการระคายเคืองและอักเสบของโพรงจมูก

    แสบจมูก แบบไหนควรไปพบคุณหมอ

    หากรักษาตามอาการและดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วยังมีอาการแสบจมูกนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือหากมีอาการแสบจมูกร่วมกับอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

    • หายใจลำบาก
    • ปวดศีรษะ
    • เจ็บคอ
    • เลือดกำเดาไหล
    • เป็นลม หมดสติ
    • มีไข้
    • หน้ามืด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา