backup og meta

CEA คือ อะไร มีความสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคมะเร็ง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 20/09/2023

    CEA คือ อะไร มีความสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคมะเร็ง

    CEA คือ โปรตีนชนิดหนึ่งชื่อว่า Carcinoembryonic Antigen ซึ่งพบได้ในร่างกายมนุษย์ และเป็นตัวบ่งชี้อย่างหนึ่งของโรคมะเร็ง โดยคุณหมอมักตรวจค่า CEA จากเลือดหรือของเหลวในตัวผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งก่อนและหลังการรักษา เพื่อเปรียบเทียบระดับ CEA และประเมินจากค่า CEA ว่าวิธีรักษาได้ผลหรือไม่

    CEA คืออะไร

    ค่า CEA คือ โปรตีน Carcinoembryonic Antigen ซึ่งพบได้ในร่างกายมนุษย์ โดยปกติจะผลิตขึ้นระหว่างที่กำลังเป็นทารกจากเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร และตรวจพบค่า CEA ในระดับสูงขณะทารกอยู่ในครรภ์มารดา

    อย่างไรก็ตาม เมื่อคลอดออกมา ร่างกายของมนุษย์จะหยุดผลิตโปรตีน CEA ทำให้ค่า CEA ที่ตรวจเจอมักอยู่ในระดับต่ำ หรือระหว่าง 0-2.5 นาโนกรัมต่อเลือด 1 มิลลิลิตร

    ทั้งนี้ หากตรวจพบค่า CEA สูงกว่าระดับดังกล่าว อาจหมายความว่าบุคคลนั้นมีโอกาสที่จะป่วยด้วยโรคมะเร็งต่าง ๆ อยู่ อาทิ

  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งตับ
  • มะเร็งตับอ่อน
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร
  • มะเร็งรังไข่
  • การตรวจระดับ CEA

    ระดับ CEA ตรวจได้จากตัวอย่างของเหลวในร่างกาย ส่วนใหญ่มักตรวจจากเลือด โดยคุณหมอจะตรวจทั้งก่อนและหลังรักษาโรคมะเร็ง เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ได้แก่

    • ระดับความรุนแรงของมะเร็งในผู้ป่วย
    • วิธีการรักษาโรคที่ใช้ว่าได้ผลหรือไม่ เช่น ฉายรังสี ใช้ยาเคมีบำบัด ผ่าตัด
    • ตรวจว่าคนไข้มีโอกาสเป็นมะเร็งซ้ำหรือไม่ หลังจากการรักษาโรคจนหายแล้ว

    โดยปกติ เพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็ง คุณหมอจะไม่ใช้การตรวจระดับ CEA เพียงอย่างเดียว เนื่องจากการตรวจดังกล่าว ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนหรือแม่นยำมากพอที่จะบอกได้ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งชนิดใด และอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับโรคมะเร็งแต่ส่งผลให้ค่า  CEA อยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติได้ เช่น

    • การตั้งครรภ์
    • การสูบบุหรี่
    • โรคถุงลมโป่งพอง
    • โรคถุงน้ำดีอักเสบ
    • โรคแผลในกระเพาะอาหาร
    • ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่

    ขั้นตอนการตรวจระดับ CEA

    โดยทั่วไป คุณหมอจะตรวจระดับ  CEA ด้วยการเจาะเลือด แล้วนำตัวอย่างเลือดที่ได้ไปตรวจในห้องปฏิบัติการ

    นอกจากนี้ คุณหมออาจใช้เข็มเจาะไขสันหลัง ช่องท้อง หรือช่องอก เพื่อดูดของเหลวจากบริเวณดังกล่าวไปตรวจหาระดับ  CEA ได้เช่นกัน

    ทั้งนี้ การเก็บตัวอย่างของเหลวไปตรวจระดับ  CEA อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงบางอย่าง เช่น เลือดไหลบริเวณที่เจาะเลือดหรือเจาะของเหลว ปวดหัว มึนงง ติดเชื้อ

    นอกจากนี้ ก่อนการตรวจระดับ  CEA ผู้ป่วยควรแจ้งคุณหมอหากมีภาวะสุขภาพ การรับประทานยาบางชนิด หรือโรคประจำตัว ได้แก่

    • กำลังตั้งครรภ์ หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ เนื่องจากทั้ง 2 ปัจจัย ทำให้ระดับ CEA สูงกว่าปกติได้
    • รับประทานยาแอสไพริน หรือยาอื่น ๆ ที่ทำให้เลือดไหลเวลามีแผลมากกว่าปกติ

    ผลตรวจระดับ CEA มีความหมายอย่างไร

    การตรวจระดับ CEA ในร่างกาย แบ่งเป็นผลการตรวจก่อนและหลังรักษาโรคมะเร็ง โดยผลตรวจสามารถตีความได้ ดังนี้

    ก่อนการรักษาโรคมะเร็ง

    • ระดับ CEA สูงกว่าค่าปกติ แต่ไม่สูงมาก หมายถึง ก้อนเนื้อร้ายยังมีขนาดเล็ก หรือมะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
    • ระดับ CEA สูงกว่าค่าปกติ และอยู่ในระดับสูงมาก หมายถึง ก้อนเนื้อร้ายมีขนาดใหญ่ และอาจกำลังลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ

    หลังการรักษาโรคมะเร็ง

    • หากระดับ CEA ไม่เปลี่ยนแปลง หมายถึง มะเร็งไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษา อาจต้องเปลี่ยนวิธีอื่นเพื่อให้การรักษาได้ผลดีขึ้น
    • หากระดับ CEA ลดลง จากที่ตอนแรกอยู่ในระดับสูง หมายถึง วิธีการรักษาโรคได้ผล แต่ยังอาจต้องติดตามผลเป็นระยะ ๆ
    • หากระดับ CEA สูงขึ้น หลังจากรักษามะเร็งหายแล้ว หมายถึง ผู้ป่วยเป็นมะเร็งซ้ำหลังจากการรักษาโรค จำเป็นต้องหาวิธีการรักษาที่ตอบสนองต่อมะเร็งให้ดีขึ้น

    ยิ่งกว่านั้น การพบระดับ CEA สูงจากของเหลวซึ่งดูดจากไขสันหลัง ช่องท้อง หรือช่องอก ยังอาจหมายถึงเชื้อมะเร็งได้กระจายไปถึงบริเวณดังกล่าวแล้ว ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำในการรักษาต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 20/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา