backup og meta

การ พยาบาล ผู้ ป่วย เบาหวาน ต้องทำอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 07/02/2023

    การ พยาบาล ผู้ ป่วย เบาหวาน ต้องทำอะไรบ้าง

    เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลหรือพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมโรคให้ดีและประคับประคองไม่ให้อาการแย่ลง เพราะหากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพตามมาได้ ทั้งนี้ ใน การ พยาบาล ผู้ ป่วย เบาหวาน ผู้ดูแลหรือคนในครอบครัว ควรจัดเตรียมอาหารที่เหมาะสม ได้แก่ อาหารมีไขมันต่ำและน้ำตาลน้อย กระตุ้นให้ผู้ป่วยออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที สวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าอยู่เสมอ รวมทั้งดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด

    เบาหวาน คืออะไร

    เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง สาเหตุเกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินซึ่งมีหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ลดลงจนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบกพร่อง และระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ตรวจหลังจากอดอาหาร 8 ชั่วโมง) จะนับว่าสูงจนเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน

    ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการพยาบาลหรือดูแลที่เหมาะสม ระดับน้ำตาลในเลือดอาจเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากโรคเบาหวานได้ เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

    การ พยาบาล ผู้ ป่วย เบาหวาน ต้องทำอะไรบ้าง

    ญาติหรือคนในครอบครัวอาจช่วยเหลือหรือให้การพยาบาลผู้ป่วยเบาหวานตามคำแนะนำเบื้องต้นต่อไปนี้ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป รวมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

    • เลือกจัดชนิดอาหารให้ผู้ป่วยรับประทานอย่างเหมาะสม เช่น ผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี ผลิตภัณฑ์จากนม (ไขมันต่ำ) ไข่ไก่ ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เครื่องดื่มที่ไม่เติมน้ำตาล ซึ่งอาหารเหล่านี้นับเป็นอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงมากนักหลังมื้ออาหาร จึงช่วยให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ดีขึ้น
    • กระตุ้นให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การวิ่งเหยาะ ๆ เต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์
    • ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมคลายเครียดต่าง ๆ เพื่อลดความตึงเครียดและความกังวล เช่น เดินเล่น ออกกำลังกาย ทำสวน นั่งสมาธิ ฟังเพลง ทำงานอดิเรก เพราะความเครียดจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ร่างกายหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อมีความเครียด ฮอร์โมนนี้มีฤทธิ์ต้านกับฮอร์โมนอินซูลิน จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้
    • ดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดระดับน้ำตาลหรือฉีดอินซูลินตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพราะหากรับประทานยาหรือฉีดอินซูลินไม่เหมาะสม อาจทำให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ไม่ดี นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน หรือหากได้รับยามากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพเช่นกัน
    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดปลายนิ้วเองอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากสามารถช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลทราบถึงการควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้คุณหมอใช้ประกอบการรักษา เพื่อให้สามารถปรับยาได้เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น โดยอาจแนะนำให้เจาะตรวจช่วงก่อนอาหารเช้า อาหารเย็น สลับกับการตรวจหลังรับประทานอาหารเป็นระยะ ทั้งนี้ ระดับน้ำตาลที่เหมาะสมก่อนรับประทานอาหารควรอยู่ระหว่าง 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และหลังรับประทานอาหารไม่ควรสูงกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    • ดูแลให้ผู้ป่วยสวมรองเท้าที่เหมาะสม เพราะหากผู้ป่วยเบาหวานมีแผลที่เท้า แผลอาจหายช้ากว่าคนทั่วไป ทั้งยังเสี่ยงติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลที่เท้า จึงแนะนำให้ผู้ป่วยสวมรองเท้าหรือ ถุงเท้าตลอดเวลาแม้จะอยู่ภายในอาคาร โดยรองเท้าที่เหมาะสมกับผู้ป่วย คือ รองเท้าที่ห่อหุ้มบริเวณปลายนิ้วเท้าได้ทั้งหมด หัวไม่แหลม ใส่สบาย น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี เป็นรองเท้าส้นเตี้ย แต่ต้องไม่ใช่รองเท้าแตะ
    • หมั่นคอยตรวจเท้าของผู้ป่วย โดยควรสังเกตทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อดูว่ามีแผลหรือรอยถลอกหรือไม่ และหากมีบาดแผลควรทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือหรือน้ำต้มสุกสะอาด รวมถึงใช้แอลกอฮอล์หรือยาฆ่าเชื้อเช็ดรอบแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณเท้า 
    • ดูแลสุขภาพผิวหนังของผู้ป่วยให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานจะมีแนวโน้มผิวแห้งได้ง่ายกว่าคนทั่วไป และเมื่อผิวแห้งจะทำให้ระคายเคืองและเกิดแผลผิวหนังอักเสบติดเชื้อได้ง่าย เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟฟิโลคอกคัส (Staphylococcus) ทางผิวหนัง ซึ่งอาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยควรอาบน้ำด้วยสบู่อ่อน และทามอยส์เจอไรเซอร์หลังอาบน้ำ รวมทั้งควรดูแลให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เพียงพอซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวแห้งได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 07/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา