backup og meta

คนเป็นเบาหวานกินอะไรได้บ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 10/02/2023

    คนเป็นเบาหวานกินอะไรได้บ้าง

    คนเป็นเบาหวานกินอะไรได้บ้าง เป็นคำถามที่หลายคนอาจสงสัย เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องควบคุมการรับประทานอาหาร เพราะอาหารบางชนิดอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น หรือส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น จนอาจทำให้อาการของโรคเบาหวานแย่ลง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้ง่ายขึ้น

    ทำไมคนเป็นเบาหวานควรวางแผนการรับประทานอาหาร

    อาหารที่คนเป็นเบาหวานรับประทานเข้าไปอาจมีแคลอรี่หรือพลังงาน ไขมัน หรือน้ำตาลสูง จนอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยาก จนทำให้อาการของโรคเบาหวานแย่ลง และเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานในระยะยาว เช่น โรคหัวใจ ภาวะเส้นประสาทเสียหาย ปัญหาเกี่ยวกับไต

    คนเป็นเบาหวานหรือมีภาวะก่อนเบาหวานจึงอาจจำเป็นต้องขอคำแนะนำในการวางแผนการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมจากคุณหมอ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่าง ๆ ในปริมาณที่เหมาะสม โดยที่ไม่กระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันเลือดสูง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่พบได้บ่อย

    คนเป็นเบาหวานกินอะไรได้บ้าง

    อาหารที่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน อาจมีดังนี้

    อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ

    คาร์โบไฮเดรต เป็นสารอาหารที่สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาล และพลังงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นอาหารที่เรารับประทานกันเป็นหลัก เช่นข้าว ขนมปัง แต่ผู่ป่วยเบาหวาน ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ต่ำและอุดมด้วยไฟเบอร์ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี (เช่น ข้าวโอ๊ต คีนัว ข้าวฟ่าง ข้าวกล้อง) ผัก ผลไม้ (เช่น ผักโขม แอปเปิ้ล อะโวคาโด สตรอว์เบอร์รี่)

    ข้อมูลจากงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Annual of Internal Medicine เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งทำการศึกษาผลกระทบของอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำที่มีต่อความอยากอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือด และภาวะดื้ออินซูลินในผู้ป่วยโรคอ้วนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยการให้กลุ่มตัวอย่าง 10 คน รับประทานอาหารปกติเป็นเวลา 7 วัน แล้วเปลี่ยนมารับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตต่ำเป็นเวลา 14 วัน พบว่า ผู้ป่วยมีความไวต่ออินซูลินเพิ่มขึ้นประมาณ 75% ทั้งยังมีระดับไตรกลีเซอร์ไรด์และคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงเฉลี่ย 35% และ 10% ตามลำดับ

    ไขมันไม่อิ่มตัว

    ไขมันไม่อิ่มตัวเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เพราะอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ไขมันไม่อิ่มตัวแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

    • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว พบมากในอะโวคาโด น้ำมันคาโนลา น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วลิสง เป็นต้น
    • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน พบมากในข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย ถั่วเหลือง เป็นต้น
    • กรดไขมันโอเมก้า 3 พบมากในปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน วอลนัท เป็นต้น

    งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยทัฟส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เผยแพร่ในวารสาร PLOT Medicine เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ทำการศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการรับประทานไขมันดีแทนคาร์โบไฮเดรตหรือไขมันอิ่มตัวกับความเสี่ยงโรคเบาหวาน โดยการรวบรวมและทบทวนข้อมูลผลงานวิจัย 102 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วมงานวิจัยเป็นประชากรวัยผู้ใหญ่จำนวน 4,660 คน พบว่า การรับประทานไขมันไม่อิ่มตัวทั้งเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อนแทนคาร์โบไฮเดรตและไขมันอิ่มตัว อาจส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยลดระดับฮีโมโกลบินเอวันซี (HBA1c) ในเลือดลงได้ 0.1% โดยระดับฮีโมโกลบินเอวันซีเป็นระดับน้ำตาลในเลือดสะสมในช่วง 2-3 เดือนก่อนเข้ารับการตรวจเลือด และระดับฮีโมโกลบินเอวันซีที่ลดลงทุก ๆ 0.1% จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 22% และ 6.8% ตามลำดับ

    โปรตีน

    โปรตีนคือสารอาหารสำคัญที่ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย ช่วยลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ทั้งยังช่วยในการสร้างกล้ามเนื้อและการสร้างแอนติบอดีที่ใช้ต่อสู้กับการติดเชื้อ ป้องกันการเจ็บป่วย อาหารจำพวกโปรตีนเหมาะสมกับคนเป็นเบาหวานเนื่องจากโปรตีนไม่แตกตัวเป็นกลูโคสหรือน้ำตาล จึงไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือดโดยตรง โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association) แนะนำว่า คนเป็นเบาหวานควรเลือกรับประทานโปรตีนจากพืช เช่น ถั่ว เต้าหู้ จากเนื้อสัตว์ไร้ไขมัน เนื้อสัตว์ปีกและปลา เช่น ไก่ เนื้อหมูไม่ติดมัน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน รวมถึงจากนมไขมันต่ำและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมไขมันต่ำ เช่น โยเกิร์ต ชีส

    เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย

    น้ำมีส่วนช่วยลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนไปยังเซลล์ทั่วทั้งร่างกาย ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหาร ป้องกันท้องผูก และช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต ผู้ป่วยเบาหวานควรดื่มน้ำเปล่าเพราะน้ำอาจช่วยขับน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกายผ่านการปัสสาวะ โดยใน 1 วัน ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 4-6 แก้ว หรือหากไม่ต้องการดื่มน้ำเปล่า ก็อาจเลือกดื่มเครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ นมไขมันต่ำ น้ำผลไม้คั้นสด ที่มีรสชาติไม่หวาน ปราศจากน้ำตาล หรือใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น สตีเวียหรือหญ้าหวาน น้ำผึ้ง ซูคราโลส

    อาหารที่คนเป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยง

    อาหารที่คนเป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน มีดังนี้

    • อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ขนมปังขาว มันฝรั่ง อาหารทอด พาสต้า ข้าวขาว เนื่องจากร่างกายจะย่อยอาหารและเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาลเพื่อนำไปกักเก็บเป็นพลังงานนำไว้ใช้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน น้ำตาลที่ได้อาจซึมเข้าสู่กระแสเลือด หากรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงอาจทำให้มีปริมาณน้ำตาลในเลือดมากเกินไป จนควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ยากขึ้น
    • ไขมันอิ่มตัว ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ คอเลสเตอรอล รวมถึงโซเดียมในปริมาณมาก เช่น เนื้อสัตว์ติดไขมัน เครื่องในสัตว์ ไข่แดง เนยขาว เนยเทียม น้ำมันปาล์ม เพราะอาจนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแดงอุดตัน และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
    • อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน น้ำผลไม้ ผลไม้กระป๋อง อาหารแช่แข็ง ชีส อาจมีการปรุงแต่งรสชาติด้วยโซเดียมและน้ำตาลในปริมาณมาก หากรับประทานมากเกินไปหรือรับประทานเป็นประจำอาจทำให้อาการของโรคเบาหวานแย่ลง และเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 10/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา