backup og meta

ค่าเบาหวานปกติ อยู่ที่เท่าไหร่ และเบาหวานขึ้นเท่าไหร่อันตราย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 16/03/2023

    ค่าเบาหวานปกติ อยู่ที่เท่าไหร่ และเบาหวานขึ้นเท่าไหร่อันตราย

    ค่าเบาหวานปกติ หรือค่าน้ำตาลเป้าหมายของผู้ป่วยเบาหวาน โดยทั่วไปควรอยู่ระหว่าง 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตรหากตรวจก่อนรับประทานอาหาร และควรมีค่าไม่เกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตรหากตรวจหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลสุขภาพให้ดี พยายามควบคุมรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้ระดับน้ำตาลสูงเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ภาวะเบาหวานขึ้นตา ภาวะเบาหวานลงเท้า โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต การติดเชื้อแทรกซ้อน

    ค่าเบาหวาน สามารถตรวจวัดได้อย่างไร

    การตรวจวัดค่าเบาหวานหรือระดับน้ำตาลในเลือด อาจทำได้ดังนี้

    การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร

    การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (Fasting Blood Sugar Test) เป็นการตรวจความเข้มข้นของระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหารข้ามคืนหรือประมาณ 8-12 ชั่วโมง

    สามารถแปลผลค่าระดับน้ำตาลได้ ดังนี้

    • ไม่เกิน 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ
    • 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง มีภาวะก่อนเบาหวาน เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
    • 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน

    การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล

    การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล (Oral glucose tolerance test) เป็นการทดสอบความทนทานของร่างกายต่อน้ำตาลกลูโคส โดยผู้ที่จะรับการทดสอบต้องอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วจะได้รับการเจาะเลือดครั้งที่ 1 เพื่อตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร หลังจากนั้นให้ผู้รับการทดสอบดื่มสารละลายกลูโคส 75 กรัม แล้วรอ 2 ชั่วโมง จึงเจาะเลือดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เพื่อตรวจค่าระดับน้ำตาล

    ผลการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล สามารถแปลผลตามค่าระดับน้ำตาลที่เจาะเลือดครั้งที่ 2 (ระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคส) ได้ดังนี้

    • ต่ำกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ
    • ระหว่าง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง มีภาวะก่อนเบาหวาน เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
    • 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป หมายถึง เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน

    การทดสอบน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม

    การทดสอบน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม (Random Blood Sugar Test) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดในเวลาใดก็ได้ และไม่จำเป็นต้องอดอาหารก่อนเข้ารับการตรวจ หากมีค่าระดับน้ำตาลในเลือด 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป หมายถึง เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน (แต่การตรวจวิธีนี้จะแม่นยำน้อยที่สุด)

    การตรวจวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมหรือฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี

    การตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี หรือการตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสม (Hemoglobin A1C หรือ HbA1c) เป็นการตรวจที่บ่งบอกถึงค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ด้วยการวัดเปอร์เซ็นต์ของฮีโมโกลบินที่จับกับน้ำตาลในกระแสเลือด โดยฮีโมโกลบินเป็นโปรตีนสำคัญของเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย การตรวจน้ำตาลสะสม หรือ HbA1c  ถือเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยประเมินความสม่ำเสมอในการควบคุมโรคเบาหวานได้ดีกว่าวิธีอื่น ๆ

    ผลการตรวจวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมหรือฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี สามารถแปลผลได้ดังนี้

    • ต่ำกว่า 5.7% หมายถึง ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ
    • 5.7-6.4% หมายถึง มีภาวะก่อนเบาหวาน หรือ เสี่ยงต่อเป็นโรคเบาหวาน
    • 6.5% ขึ้นไป หมายถึง เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน

    ค่าเบาหวานปกติ อยู่ที่เท่าไหร่

    โดยทั่วไป ค่าเบาหวานปกติ หรือค่าระดับน้ำตาลในเลือดเป้าหมายที่ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมให้ได้ มีดังนี้

    • ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหาร ควรอยู่ระหว่าง 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง ควรต่ำกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    ทั้งนี้ ค่าระดับน้ำตาลเป้าหมายของผู้ป่วยแต่ละกลุ่มอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสุขภาพองค์รวมของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นอายุ ภาวะสุขภาพ โรคร่วม หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคุณหมอจะช่วยกำหนดค่าเบาหวานปกติหรือระดับน้ำตาลเป้าหมายให้เหมาะสมกับสุขภาพของผู้ป่วยมากที่สุด

    เบาหวานขึ้นเท่าไหร่อันตราย

    หากผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายได้ ซึ่งอาจมาจากยังไม่สามารถปรับพฤติกรรมสุขภาพได้ดีนัก เช่น รับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงเป็นประจำ รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ ร่วมกับในผู้ป่วยบางราย หรือแม้จะควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี แต่หากมีปัจจัยทางสุขภาพบางอย่างมากระตุ้น เช่น การเจ็บป่วยแทรกซ้อน ความเครียด การรับประทานยาบางชนิดที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ก็อาจทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) ได้ โดยทั่วไปแม้จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง แต่หากไม่สูงมากนักหรืออยู่ในระยะเริ่มต้นก็มักจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ให้สังเกตได้ อย่างไรก็ตาม หากร่างกายมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน อาจทำให้มีอาการผิดปกติ ดังนี้

    • ถ่ายปัสสาวะบ่อย
    • หิวบ่อย กระหายน้ำมากขึ้น
    • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง 
    • สายตาพร่ามัว 
    • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

    แต่หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงตั้งแต่ 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไปเป็นเวลานานโดยไม่รับการรักษาที่เหมาะสมหรือไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร อาจนำไปสู่ภาวะฉุกเฉินอันตรายอย่างภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis หรือ DKA) เกิดจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง แต่ไม่สามารถนำน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงานได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนมาสลายไขมันไปใช้เป็นพลังงานแทน โดยกระบวนการเผาผลาญไขมันนี้จะทำให้เกิดสารคีโตน (Ketones) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด เมื่อหากมีคีโตนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดตามมา 

    อาการของภาวะเลือดเป็นกรด อาจมีดังนี้

    • ลมหายใจมีกลิ่นเปรี้ยวคล้ายผลไม้หมัก
    • ปากแห้ง คอแห้ง 
    • ปวดท้อง
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • หายใจติดขัด หายใจหอบ
    • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

    ภาวะแทรกซ้อนเบาหวานควบคุมไม่ดี

    ภาวะแทรกซ้อนเมื่อปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้องรัง อาจมีดังนี้

    • โรคไต หรือภาวะไตวาย
    • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
    • ภาวะหัวใจวาย ภาวะหัวใจขาดเลือด
    • ภาวะสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอด
    • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
    • ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
    • โรคเส้นประสาทจากเบาหวาน ทำให้เส้นประสาทส่วนปลายเสียหาย จนมีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้า หรือบางรายมีอาการปวดแสบร้อน หรือเจ็บปวดแม้สัมผัสเบา ๆ 
    • ภาวะเลือดไหลเวียนบริเวณขาและเท้าน้อยลง เนื่องจากหลอดเลือดส่วนปลายเสื่อม
    • แผลหายช้าลง
    • ความเสี่ยงในการถูกตัดอวัยวะ เช่น นิ้วเท้า นิ้วมือเท้า ขา หากมีแผลติดเชื้อลุกลาม หรือมีแผลเนื้อตายเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 16/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา