backup og meta

ตรวจเลือด ในผู้ป่วยเบาหวาน ด้วยเครื่องวัดน้ำตาลในเลือด ทำอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 16/03/2023

    ตรวจเลือด ในผู้ป่วยเบาหวาน ด้วยเครื่องวัดน้ำตาลในเลือด ทำอย่างไร

    ตรวจเลือด เบาหวาน เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการตรวจเลือดสามารถช่วยวัดและติดตามระดับน้ำตาลในเลือดในทุกช่วงเวลา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในค่าปกติและสามารถป้องกันการลุกลามของโรคเบาหวานได้

    ตรวจเลือด เบาหวาน มีประโยชน์อย่างไร

    การตรวจเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน อาจช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ ไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไปจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงยังอาจมีประโยชน์ต่าง ๆ ดังนี้

  • ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะสม
  • ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถติดตามผลของยาในการรักษาโรคเบาหวาน
  • ช่วยให้ผู้ป่วยทราบถึงการบรรลุเป้าหมายในการรักษาโรคเบาหวาน
  • ช่วยให้ผู้ป่วยทราบถึงปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดและสามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม
  • ช่วงเวลาที่ควรตรวจเลือดเบาหวาน

    ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจเลือดเพื่อวัดค่าน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกวัน ซึ่งสามารถตรวจเลือดได้หลายครั้งใน 1 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงหรือต่ำเกินไปจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจเลือด อาจมีดังนี้

    • ควรตรวจครั้งแรกในตอนเช้าหลังตื่นนอน ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากอดอาหารข้ามคืน ค่าระดับน้ำตาลในเลือดควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
    • ควรตรวจทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ เพื่อให้รู้ความแตกต่างของระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างก่อนรับประทานอาหารและหลังรับประทานอาหาร รวมถึงอาจช่วยให้รู้ว่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารเพิ่มสูงขึ้นมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
    • ควรตรวจทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหน้ามืด เป็นลม หรือมีอาการโคม่าได้
    • ควรตรวจครั้งสุดท้ายในช่วงก่อนนอน เพื่อให้ทราบถึงระดับน้ำตาลในเลือดปัจจุบันก่อนอดอาหารข้ามคืน

    อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานแต่ละคนอาจมีช่วงเวลาและความถี่ในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและอาการของโรค จึงควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับช่วงเวลาในการตรวจอย่างเหมาะสม

    ตรวจเลือด เบาหวาน ทำอย่างไร

    เครื่องวัดน้ำตาลในเลือดมีหลายประเภทซึ่งส่วนใหญ่มีการทำงานในลักษณะเดียวกัน ผู้ป่วยอาจขอคำแนะนำจากคุณหมอในการใช้เครื่องวัดน้ำตาลในเลือดเพื่อเรียนรู้วิธีใช้งานอย่างถูกต้อง วิธีการใช้เครื่องวัดน้ำตาลในเลือด มีขั้นตอนดังนี้

    1. ตรวจสอบความสะอาดและตรวจสอบว่าเครื่องวัดพร้อมใช้งานหรือไม่
    2. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด เช็ดมือให้แห้ง จากนั้นนวดมือเบา ๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปที่นิ้ว
    3. ใส่แถบทดสอบลงในเครื่องวัดน้ำตาล จากนั้นใช้เข็มเฉพาะเจาะที่บริเวณปลายนิ้วและบีบโคนนิ้ว เพื่อให้เลือดไหลออกมา
    4. เอาแถบทดสอบแตะที่เลือด รอสักครู่ ค่าน้ำตาลในเลือดจะปรากฏขึ้นที่หน้าจอของเครื่องวัดน้ำตาล
    5. ติดตามและบันทึกผล อาจเพิ่มหมายเหตุที่อาจส่งผลต่อความคลาดเคลื่อนของค่าน้ำตาลในเลือด เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การทำกิจกรรมต่าง ๆ
    6. จัดเก็บอุปกรณ์ทดสอบ โดยการทิ้งเข็มและแถบทดสอบในที่ที่เหมาะสม โดยเก็บใส่ภาชนะที่มิดชิด เช่น ขวด แล้วนำไปทำลาย และควรเก็บแถบทดสอบที่เหลือให้ห่างจากความชื้น ความร้อนหรืออุณหภูมิที่เย็นจัด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 16/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา