backup og meta

นมสำหรับคนเป็นเบาหวาน ที่ควรบริโภค

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/03/2023

    นมสำหรับคนเป็นเบาหวาน ที่ควรบริโภค

    โรคเบาหวาน คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นพลังงานได้  ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกินไป นมเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากอุดมไปด้วยโปรตีนและสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย แต่ควรเลือกดื่ม นม สำหรับ คน เป็น เบาหวาน เช่น นมไขมันต่ำ นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ ที่มีน้ำตาลน้อย เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

    นมมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยเบาหวานอย่างไร

    นม คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว แพะ นอกจากนี้ยังมีนมจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ ซึ่งประกอบไปด้วยสารอาหารสำคัญ เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม โปรตีน วิตามินดี วิตามินเอ วิตามินบี ที่มีส่วนช่วยรักษามวลกระดูก เสริมสร้างกระดูกและ ฟัน ให้แข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกพรุนและ โรคข้อเข่าเสื่อม

    อย่างไรก็ตาม นมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมบางชนิด เช่น ชีส เนย อาจมีไขมันอิ่มตัวสูง คาร์โบไฮเดรตสูง และคอเลสเตอรอลสูง หากผู้ป่วยเบาหวานรับประทานมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้ เพื่อความปลอดภัยผู้ป่วยเบาหวานจึงควรเลือกรับประทานนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมอย่างเหมาะสม

    นม สำหรับ คน เป็น เบาหวาน มีอะไรบ้าง

    ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกดื่มนมที่มีไขมัน และคาร์โบไฮเดรตต่ำ เพราะนมไขมันต่ำอาจช่วยป้องกันการเพิ่มระดับไขมันและคอเลสเตอรอลที่อาจทำให้น้ำหนักเพิ่ม เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากระบบย่อยอาหารจะทำการย่อยคาร์โบไฮเดรตและเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคส เข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและทำให้อาการเบาหวานแย่ลงได้ ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรเลือกดื่ม ดังต่อไปนี้

    • นมวัวไขมันต่ำ

    ปกตินมวัว 1 แก้ว (240 มิลลิลิตร) มีแคลอรี่ 152 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม และไขมัน 7 กรัม แต่หากเป็นนมวัวไขมันต่ำ 1 แก้ว จะมีคาร์โบไฮเดรต 12 กรัม แต่อาจจะมีไขมันเพียง 2.5-4.5 กรัม การดื่มนมวัวไขมันต่ำจึงอาจทำให้ร่างกายได้รับไขมันน้อยลง และได้รับคอเลสเตอรอลที่ดี (HDL) มากกว่าคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ซึ่งอาจช่วยป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง ที่มีส่วนทำให้ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ยาก และเพิ่มความเสี่ยงนำไปสู่โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด

    • นมแพะ

    นมแพะมีโปรตีนสูงซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้ดี อีกทั้งยังเหมาะสำหรับผู้ที่แพ้แลคโตสในนมวัว อย่างไรก็ตาม โดยปกตินมแพะ 1 แก้ว หรือ 240 มิลลิลิตร มีแคลอรี่ 168 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 11 กรัม น้ำตาล 11 กรัม ไขมัน 10 กรัม ซึ่งอาจไม่ดีต่อสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากนมแพะปกติมีไขมันและน้ำตาลสูง เสี่ยงเพิ่มน้ำตาลในเลือด ดังนั้น จึงควรเลือกดื่มนมแพะไขมันต่ำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงและน้ำหนักเพิ่มได้

    • นมอัลมอนด์

    นมอัลมอนด์ 1 แก้ว (240 มิลลิลิตร) มีแคลอรี่ 40 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 2 กรัม ไขมัน 3 กรัม และมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินอี ที่อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ โรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงนมอัลมอนด์ที่มีน้ำตาลสูงหรือที่ปรุงแต่งรสชาติต่าง ๆ เนื่องจากอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงได้

    งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2562 ที่รวบรวมผลการทดลองเกี่ยวกับผู้ป่วยเสี่ยงเป็นเบาหวานและมีภาวะก่อนเบาหวานในผู้ใหญ่จำนวน 371 คน โดยให้รับประทานอัลมอนด์ 60 กรัม/วัน เป็นเวลา 4 เดือน พบว่าความเข้มข้นของอินซูลินในเลือดเพิ่มขึ้น ภาวะดื้ออินซูลินลดลง และระดับการดูดซึมกลูโคสในเลือดดีขึ้น ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า อัลมอนด์และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากอัลมอนด์ เช่น นมอัลมอนด์ อาจดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน

    • นมถั่วเหลือง

    นมถั่วเหลือง 1 แก้ว (240 มิลลิลิตร) มีแคลอรี่ 100 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 8 กรัม ไขมัน 4 กรัม และมีสารอาหารที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี แคลเซียม โพแทสเซียม โฟเลต ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อ บำรุงสุขภาพหัวใจ ป้องกันสมองเสื่อม เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้แลคโตสในนมวัวและ นมแพะ และเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากมีไขมันและคาร์โบไฮเดรตน้อย 

    จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์แอมเฮิสต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2552 พบว่าอาหารที่อุดมไปด้วยถั่วเหลือง มีสารไอโซฟลาโวน (Isoflavone) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่อาจช่วยกระตุ้นการทำงานของอินซูลิน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล และอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและโรคเบาหวาน

    • นมจากเมล็ดแฟลกซ์

    นมที่ทำจากเมล็ดแฟลกซ์ในปริมาณ 7 กรัม หรือ 1 ช้อนโต๊ะ มีแคลอรี่ 37.4 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 2.02 กรัม ไขมัน 2.95 กรัม และสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ไฟเบอร์ โฟเลต โพแทสเซียม ที่อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด 

    จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกร่วมกับมหาวิทยาลัยในรัฐบาโรดา ประเทศอินเดีย ปีพ.ศ. 2554 พบว่าเมล็ดแฟลกซ์ อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 และสารต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ที่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ได้

    อาหารประเภทอื่น ๆ ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

    อาหารอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มีดังนี้

    • อาหารที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวฟ่าง ธัญพืชไม่ขัดสี พืชตระกูลถั่ว
    • ผักและ ผลไม้ที่อุดมไปด้วยประกอบด้วยไฟเบอร์ เช่น ผักคะน้า ผักโขม แครอท พริกหยวก ผักกาดแก้ว มะเขือ หัวหอม แอปเปิ้ล อะโวคาโด
    • โปรตีนไขมันต่ำ เช่น ไก่ หมู ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ไข่ เต้าหู้ 
    • ไขมันดี เช่น  น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา