backup og meta

นม 6 ชนิด สำหรับผู้ป่วย เบาหวาน และวิธีควบคุมอาการเบาหวาน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/03/2023

    นม 6 ชนิด สำหรับผู้ป่วย เบาหวาน และวิธีควบคุมอาการเบาหวาน

    เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่อาจส่งผลให้กระดูกเปราะบาง เสี่ยงกระดูกแตกหักง่าย จึงจำเป็นต้องได้รับแคลเซียมในปริมาณมากเพื่อช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง นม จึงอาจเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะนมอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย เช่น วิตามินบี วิตามินดี แคลเซียม ฟอสฟอรัส ที่อาจช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและช่วยเพิ่มพลังงานแก่ร่างกาย แต่ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกนมไขมันต่ำ นมพร่องมันเนย หรือนมจากธัญพืช นอกจากนี้ ยังควรศึกษาวิธีควบคุมอาการเบาหวาน เพื่อช่วยป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการแย่ลง

    นม 6 ชนิด สำหรับผู้ป่วย เบาหวาน มีอะไรบ้าง

    นมที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อาจมีดังนี้

    นมอัลมอนด์

    นมอัลมอนด์ คือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเมล็ดอัลมอนด์ อุดมไปด้วยแมกนีเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส ทองแดง และเหล็ก ที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ต้านอนุมูลอิสระ และอาจช่วยลดคอเลสเตอรอล เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้แลคโตสในนมวัว ผู้ที่ลดน้ำหนัก ผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ป่วยเบาหวาน

    จากการศึกษาในวารสาร Metabolism Clinical and Experimental เมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานอัลมอนด์ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งทำการทดลองในผู้ป่วยชาวจีนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 20 คน (ชาย 9 คน หญิง 11 คน) อายุ 58 ปี โดยให้รับประทานอัลมอนด์ 60 กรัม/วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า อัลมอนด์อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มความสมดุลของระดับอินซูลิน และช่วยลดคอเลสเตอรอล ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด

    นมถั่วเหลือง

    นมถั่วเหลืองอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินอี แมกนีเซียมโพแทสเซียม แคลเซียม และโฟเลต ที่อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ช่วยควบคุมความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยบำรุงกระดูก จึงเป็นนมที่อาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

    จากการศึกษาในวารสาร Nutrition Research and Practice เมื่อปี พ.ศ. 2551 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานอาหารเสริมถั่วเหลืองต่อระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในพลาสมา และการต้านอนุมูลอิสระในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลือง 69 กรัมต่อวัน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มที่รับประทานถั่วเหลืองอาจมีระดับของน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก อีกทั้งยังมีระดับการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่า จึงอาจสรุปได้ว่าถั่วเหลืองอาจมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือด อีกทั้งยังช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันเซลล์เสื่อมสภาพในผู้ป่วยเบาหวานได้

    นมข้าวโอ๊ต

    นมข้าวโอ๊ต เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากมีวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย ช่วยบำรุงกระดูก เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหาร รวมไปถึงอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด

    จากการศึกษาในวารสาร Nutrients เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ทบทวนการศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานข้าวโอ๊ตในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยศึกษาจากบทความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 14 ฉบับ พบว่า การรับประทานข้าวโอ๊ตอาจช่วยลดความเข้มข้นของคอเลสเตอรอล และอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับไขมันในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงผลของการรับประทานข้าวโอ๊ตต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และความปลอดภัยในการรับประทานข้าวโอ๊ต

    นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์

    นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีแคลเซียม เหล็ก วิตามินเอ วิตามินดี และวิตามินอี ที่อาจช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันโรคโลหิตจาง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น และอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ อีกทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำและมีน้ำตาลน้อย จึงอาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

    จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Endocrinology and Metabolism ปี พ.ศ. 2562 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์ต่อความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันและการเกิดลิ่มเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยดำเนินการทดสอบกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 50 คน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานมีระดับคอเลสเตอรอลไม่ดีและระดับความดันโลหิตลดลง ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบผลลัพธ์ที่แน่ชัด

    นมเฮเซลนัท

    นมซึ่งทำมาจากถั่วเฮเซลนัท อุดมไปด้วยวิตามินเเละเเร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็น วิตามินบี วิตามินอี ทองแดง แมกนีเซียม แมงกานีส โพแทสเซียมและไขมันโอเมก้า 9 ที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

    จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Research in Medical Sciences เมื่อปี พ.ศ. 2556 พบว่าศึกษาผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานถั่วเฮเซลนัทอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ มีค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่เป็นไขมันไม่ดีลดลง และช่วยเพิ่มไขมัน เอชดีเเอล (HDL) ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดีได้

    • นมแพะ

    นมแพะ มีสารอาหารและเเร่ธาตุที่มีประโยชน์มากมาย เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม และวิตามินเอ ที่ช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจและกระดูก อีกทั้งยังมีปริมาณของน้ำตาลแลคโตสน้อยกว่านมวัว จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้นมวัว อย่างไรก็ตาม ควรเลือกนมแพะที่ไม่เติมน้ำตาลเพื่อควบคุมมิให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกินไป

    จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Nutrition & Food Research ปี พ.ศ. 2564 ที่ศึกษาเกี่ยวกับ นมแพะอาจช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้เป็นการศึกษาในหนูทดลอง ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติม

    วิธีดูเเลตนเองเพื่อควบคุมเบาหวาน

    นอกเหนือจากการดื่มนม ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดูแลตนเองได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ออกกำลังกาย เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น โดยแนะนำให้ออกกำลังกายที่ความหนักระดับปานกลาง อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ วันละ 30 นาที เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ ว่ายน้ำ กระโดดเชือก เล่นโยคะ รวมไปถึงการทำงานบ้านทั่วไป
    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นรับประทานผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน และเครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาล เช่น น้ำเปล่า มะเขือเทศ แตงกวา อัลมอนด์ เฮเซลนัท เนื้อปลา
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง โซเดียมสูง และน้ำตาลสูง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป เนย ชีส มันฝรั่งทอด เค้ก โดนัท คุกกี้ น้ำอัดลม และน้ำผลไม้ปรุงแต่ง เพราะอาหารเเละเครื่องดื่มเหล่านี้จะเพิ่มระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคอ้วน และทำให้เบาหวานแย่ลงได้
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
    • รับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือด และฉีดอินซูลิน ตามที่คุณหมอกำหนดอย่างสม่ำเสมอ
    • หมั่นตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วด้วยตนเอง และบันทึกค่าระดับน้ำตาลและช่วงเวลาที่ตรวจ เพื่อเป็นข้อมูลให้คุณหมอทราบ ซึ่งจะช่วยให้คุณหมอสามารถปรับการรักษาให้เหมาะสมได้ดียิ่งขึ้น
    • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อคัดกรองโรค และป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา