backup og meta

น้ำตาลต่ำ ตอนกลางคืน เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/03/2023

    น้ำตาลต่ำ ตอนกลางคืน เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

    น้ำตาลต่ำ ตอนกลางคืน เป็นภาวะที่อาจพบได้ในผู้ป่วยเบาหวานที่ฉีดอินซูลินและรับประทานยาลดระดับน้ำตาลเพื่อควบคุมโรคเบาหวาน ร่วมกับมีพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา อดอาหารมื้อเย็น ออกกำลังกายช่วงก่อนนอน ซึ่งทำให้ระดับอินซูลินในร่างกายไม่สมดุล ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากเกินไป จนนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในตอนกลางคืน ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการผิดปกติและเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว

    ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คืออะไร

    ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Low blood sugar/Hypoglycemia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ หากผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าอยู่ในภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ในผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน หากระดับน้ำตาลต่ำกว่า 55  มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าอยู่ในภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ) ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย เหงื่อออกมากผิดปกติ ปวดศีรษะ ตัวสั่น หงุดหงิดง่าย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ซึม ปลุกไม่ตื่น ชัก จนอาจถึงแก่ชีวิตได้

    น้ำตาลต่ำ ตอนกลางคืน เกิดจากอะไร

    ภาวะ น้ำตาลต่ำ ตอนกลางคืน หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะนอนหลับ (Nocturnal hypoglycemia/Night time hypos) อาจพบได้ในผู้ป่วยเบาหวานที่ฉีดอินซูลินและผู้ที่รับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับอินซูลินหรือยาที่กระตุ้นการหลั่งอินซูลินในปริมาณมากเกินไป ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดไปเป็นพลังงานให้กับเซลล์ในร่างกาย เมื่อมีอินซูลินมากเกินไป จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ เซลล์จึงขาดพลังงาน จนกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ

    ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ตอนกลางคืน เช่น

    • งดอาหาร โดยเฉพาะมื้อเย็น
    • รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา
    • ออกกำลังกายก่อนนอนหรือในช่วงกลางคืน ซึ่งการออกกำลังกายจะเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาลและเพิ่มความไวต่ออินซูลินของเซลล์ในร่างกาย ส่งผลให้มีน้ำตาลในเลือดต่ำในตอนกลางคืนได้
    • มีการเจ็บป่วยของร่างกายร่วมด้วย เช่น ภาวะติดเชื้อ
    • ฉีดอินซูลินช่วงก่อนอาหารเย็น หรือฉีดอินซูลินชนิดก่อนนอนในปริมาณมากเกิดไป

    อาการของภาวะน้ำตาลต่ำ ตอนกลางคืน

    อาการของภาวะน้ำตาลต่ำ ตอนกลางคืน อาจมีดังนี้

    • กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
    • รู้สึกหิว อยากอาหารหวาน
    • ตัวเย็น เหงื่อออกผิดปกติ เหงื่อออกมากจนเสื้อผ้าและที่นอนเปียกชื้น
    • ตัวสั่น
    • หายใจเร็วขึ้นหรือช้าลงกะทันหัน
    • ฝันร้าย จนบางครั้งอาจทำให้สะดุ้งตื่น
    • หัวใจเต้นแรง ใจสั่น
    • ตื่นมาพร้อมกับมีอาการปวดศีรษะ หรือรู้สึกนอนหลับไม่สนิท
    • รู้สึกอ่อนเพลียกว่าปกติ

    การดูแลตัวเองและคนรอบข้างเมื่อ น้ำตาลต่ำ ตอนกลางคืน

    วิธีดูแลผู้ที่มีภาวะน้ำตาลต่ำในช่วงกลางคืน อาจทำได้ดังนี้

    • สำหรับผู้ป่วยที่ปลุกไม่ตื่นหรือไม่ได้สติ ในต่างประเทศจะมียาฉีดกลูคากอน (Glucagon injection) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด จึงแนะนำให้ผู้ดูแลรีบฉีดยากลูคากอนนี้ให้กับผู้ป่วย แต่ในประเทศไทย ยังมียาฉีดกลูคากอนไม่แพร่หลาย ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการน้ำตาลต่ำจนปลุกไม่ตื่น แนะนำให้รีบนำส่งโรงพยาบาลหรือเรียกรถพยาบาลทันที เพื่อให้การรักษาโดยการฉีดสารละลายกลูโคสทางหลอดเลือดดำ เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาการอาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
    • สำหรับผู้ป่วยที่ปลุกตื่นและยังมีสติ ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็ว เช่น ลูกอม 4-5 เม็ด หรือน้ำตาลทราย/น้ำผึ้ง/น้ำเชื่อม 1 ช้อนโต๊ะ หรือน้ำหวาน/น้ำผลไม้ 150-200 มิลลิลิตร ตามด้วยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ขนมปัง 1 แผ่น หรือแครกเกอร์/คุกกี้ 2 ชิ้น หรือกล้วย 1 ลูก หรือนม 1 แก้ว เพราะอาหารดังกล่าวจะค่อย ๆ ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เพื่อรักษาให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น 15 นาทีให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หากยังมีระดับน้ำตาลน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้รับประทานอาหารเช่นเดิมและตรวจเลือดซ้ำ จนกว่าระดับน้ำตาลจะสูงกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จึงจะถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย รวมทั้งหลังจากนี้ให้ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้มั่นใจว่าระดับน้ำตาลยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย

    เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ

    หากมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของภาวะน้ำตาลต่ำรุนแรง ซึ่งควรรีบไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

    • ไม่มีแรง
    • แขนขาอ่อนแรง ไม่สามารถเดินหรือยกแขนได้ตามปกติ
    • หมดสติ ปลุกไม่ตื่น
    • สับสนมึนงง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
    • ชัก

    หากมีอาการน้ำตาลต่ำเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุและทั้งปรับยา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอีก

    ภาวะน้ำตาลต่ำอาจทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ฝันร้าย เหงื่อออกชุ่มเสื้อผ้า รู้สึกนอนหลับไม่เต็มอิ่ม หากมีอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยควรตรวจสอบและปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด น้ำตาลต่ำ ตอนกลางคืน เพื่อให้สามารถพักผ่อนช่วงกลางคืนได้อย่างปลอดภัย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา