backup og meta

ควบคุมเบาหวาน ไม่อยู่ อาจเสี่ยงเป็น โรคหัวใจและหลอดเลือด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    ควบคุมเบาหวาน ไม่อยู่ อาจเสี่ยงเป็น โรคหัวใจและหลอดเลือด
    หาก ควบคุมเบาหวาน ไม่อยู่ อาจนำไปสู่ปัญหาภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานต่าง ๆ รวมถึง โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเข้ารับการตรวจกับคุณหมอเป็นประจำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย

    โรคเบาหวาน คืออะไร   

    โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แม้อดอาหารนานเกินกว่า 8 ชั่วโมง หรือตรวจพบระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร โดยระดับน้ำตาลในเลือดจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อน แต่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ร่างกายจะไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือใช้อินซูลินได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดไม่สามารถเข้าสู่เซลล์เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานได้ และยังทำให้ไขมันสะสมอยู่ที่ผนังหลอดเลือด เป็นเหตุให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว

    สาเหตุส่วนใหญ่ที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น มีดังต่อไปนี้

    • รับประทานยาเบาหวานไม่ถูกประเภท
    • ลืมรับประทานทานยา หรือลืมฉีดอินซูลิน
    • มีการออกกำลังกายที่น้อยกว่าที่ควร หรือการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เช่น ของหวาน ข้าวขาว ขนมปัง

    อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำตาลในเลือดอาจสูงขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อ หรือมีอาการป่วยซ่อนเร้น หรือโรคเครียดได้

    จะทราบได้อย่างไรว่าน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ

    หากผู้ป่วยเบาหวานมีอาการอ่อนแรง เหนื่อย ตาพร่า ปัสสาวะบ่อยขึ้น ปากแห้ง กระหายน้ำ รู้สึกคลื่นไส้และอาเจียน ต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลาหลายวัน อาจเป็นสัญญาณว่า ควบคุมเบาหวาน ได้ไม่ดี และอาจทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือเวียนหัวเวลายืน

    ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนผู้อื่นสังเกตได้ว่ามีการแสดงออกด้วยท่าทีแปลก ๆ เช่น มีอาการสับสน ปัสสาวะบ่อยมาก  ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายที่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลทันที เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

    ควบคุมเบาหวาน ไม่อยู่ เสี่ยงอย่างไร

    เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเป็นระยะเวลานาน ๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในการเกิดโรคหรือภาวะที่เกี่ยวกับระบบหมุนเวียนเลือด ดังต่อไปนี้

    • หัวใจวาย
    • โรคหลอดเลือดสมอง
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • โรคหัวใจล้มเหลว
    • ภาวะไตวาย

    นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสุขภาพดวงตา สายตาอาจพร่าวมัว หรือเกิดแผลติดเชื้อที่แขน ขา ชนิดรักษาไม่หาย เพราะยาไม่สามารถผ่านหลอดเลือดไปฆ่าเชื้อได้ จนการติดเชื้อรุนแรงขึ้น เชื้อโรคกระจายเข้าสู่ภายในร่างกาย จนเกิดเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หรืออวัยวะภายในต่าง ๆ ทำให้ในที่สุด ต้องตัดแขนขาที่ติดเชื้อนั้นทิ้งเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วย

    ถึงแม้ว่าการแพทย์จะก้าวหน้าอย่างมากก็ตาม แต่ผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนมากยังมีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และเสียชีวิตจากโรคนี้ เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ ยังไม่ตระหนักถึงความเกี่ยวข้องของโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงไม่สามารถลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับ ระบบไหลเวียนโลหิตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นการรักษาร่วมกันของทั้งสองโรคจึงมีความสำคัญและต้องรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

    โรคหัวใจและหลอดเลือด คืออะไร

    โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นความผิดปกติทั้งที่บริเวณหัวใจและที่หลอดเลือดเป็นชื่อเรียกโดยทั่วไปของภาวะผิดปกติหลาย ๆ รูปแบบของหัวใจ รวมไปถึงโรคที่ส่งผลกระทบต่อหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต ดังนี้

    • โรคหัวใจ
    • โรคหลอดเลือดหัวใจ
    • โรคหลอดเลือดสมอง
    • โรคหัวใจขาดเลือด
    • โรคความดันโลหิตสูง
    • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
    • โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
    • หัวใจวาย

    การจะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ต้องใช้เวลาหลายปี เนื่องจากปริมาณโลหิตที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ จะลดลง เพราะมีการสะสมไขมันในหลอดเลือดทั้งในหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดแดงในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งกระบวนการนี้เรียกโดยทั่วไปว่า การแข็งตัวของหลอดเลือด

    ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

    ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มี 2 อย่างคือ

    1. ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่ อายุ เพศ กรรมพันธุ์ และชาติกำเนิด

    2. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือควบคุมได้ มีดังนี้

    • ความดันโลหิต

    ความดันโลหิต เป็นค่าที่ซับซ้อน เกิดจากการขยายและหดตัวของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่และแรงดันจากหัวใจที่ส่งผ่านมา เมื่อหัวใจบีบและคลายตัว ทำให้ค่าความดันโลหิตประกอบด้วยค่าสองค่าเสมอ คือ

    • ค่าตัวบน เป็นความดันตอนหัวใจบีบตัวอัดส่งเลือดเข้าหลอดเลือดแดงที่ยืดหยุ่น ทำให้มีการขยายตัวออก เพื่อรับเลือด
    • ค่าตัวล่าง ซึ่งเป็นความดันในหลอดเลือด ช่วงเวลาที่หัวใจหยุดบีบตัวอัดเลือดแล้วและคลายตัวออก แต่ผนังหลอดเลือดแดงที่ขยายตัวออก เกิดการหดตัวยุบลง ทำให้มีความดันเหลือค้างในหลอดเลือดแดง

    ค่าความดันโลหิตปกติ คือ 120/80 มิลลิเมตรปรอท

    การที่หลอดเลือดตีบแคบลง จะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เพราะต้องบีบตัวแรงขึ้น เพื่อสร้างแรงดันให้สูงขึ้น ให้เลือดสามารถไหลผ่านท่อที่ตีบแคบลงทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หลอดเลือดแดงที่แข็งตัวขาดความยืดหยุ่น เมื่อมีหัวใจบีบอัดเลือดส่งเข้ามา ก็จะไม่สามารถขยายตัวออกเพื่อลดแรงดันลงได้ ก็เป็นเหตุให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

    • การสูบบุหรี่

    ในควันบุหรี่มีสารพิษมากมายหลายอย่าง เช่น นิโคติน คาร์บอนมอนอกไซด์

    นิโคตินทำให้หลอดเลือดแดงบีบเกร็งตัวตีบแคบลงและทำลายผนังหลอดเลือด เมื่อหลอดเลือดแคบลง หัวใจต้องเต้นเร็วขึ้น หรือแรงขึ้นหรือทั้งสองอย่าง เพื่อสามารถดันโลหิตเข้าหลอดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ ผลคือความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้น และทำให้คอเลสเตอรอลเกาะผนังหลอดเลือดมากขึ้น

    ส่วนคาร์บอนมอนอกไซด์จะไปแย่งที่จับของออกซิเจนในเซลล์เม็ดเลือดแดงแบบกึ่งถาวร ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจน ไปสู่หัวใจและอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายน้อยลงเป็นเวลานาน และระดับไขมันดีในเลือดลดลงเช่นกัน เป็นเหตุให้เลือดข้นขึ้นก่อเกิดลิ่มเลือดที่จะไปอุดตันหลอดเลือดของอวัยวะต่าง ๆ

  • ระดับคอเลสเตอรอล

  • คอเลสเตอรอล คือไขมันชนิดหนึ่งที่พบได้ที่เยื่อหุ้มเซลล์ คอเลสเตอรอลมี 2 ชนิด คือคอเลสเตอรอลชนิดดี (High Density Lipoprotein Cholesterol: HDL) และ คอเลสเตอรอลชนิดเลว (High Density Lipoprotein Cholesterol: LDL) ซึ่งไขมันดี เป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย ช่วยกำจัดไขมันส่วนเกินให้ออกจากหลอดเลือดแดง ส่วนไขมันไม่ดี เป็นไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย ที่ก่อตัวอยู่ที่ผนังหลอดเลือด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวหรือตีบตัน การที่ไขมันไม่ดีเพิ่มสูงขึ้นและไขมันดีลดต่ำลงจะทำให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ

    • การใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่ง

    ผู้ที่ใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่ง เช่น นอนดูทีวีนาน ๆ นั่งเล่นมือถือนาน ๆ นั่งทำงานหน้าจอคอมนาน ๆ มีการขยับเคลื่อนไหว ร่างกายน้อย จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนที่มีการเปลี่ยนแปลงอริยาบถตลอดเวลา เพราะผลการที่ ร่างกายหยุดอยู่นิ่งเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้หัวใจอ่อนแอ เลือดในหลอดเลือดดำ และน้ำเหลืองมีการไหลเวียนน้อย หรือ คั่งค้างจนอาจเกิดอาการน้ำคั่ง หรือเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำที่อยู่ลึก ๆ และกระจายไปอุดอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น ปอด หัวใจ และสมอง

    • การขาดการออกกำลังกาย

    ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายน้อย จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง หลอดเลือดแดงมีความยืดหยุ่นสูง ไม่แข็งตัวง่าย ความดันโลหิตเป็นปกติ ระดับไขมันดีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ไขมันไม่ดีลดน้อยลง

    • โรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน

    โรคอ้วนทำให้ระดับคอเลสเตอรอลและไขมัน LDL สูงขึ้น ในขณะที่ระดับไขมันดีลดลง ทำให้ความดันโลหิตสูง

    ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนั้น ยังทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นในการส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย

    การมีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือโรคอ้วนเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับการใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่งและขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

    • โรคเบาหวาน

    โรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอยู่นาน ๆ จะทำ ให้หลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและใหญ่อักเสบ เสียหาย หรือถูกทำลาย ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น โรคหัวใจวาย ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดในสมองตีบ ตัน หรือแตก เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ หากเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโรคเบาหวานต่อหัวใจและหลอดเลือด เพื่อที่จะได้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งยังป้องกัน การเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อย่างถูกต้อง

    วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

    วิธีการ ควบคุมเบาหวาน เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องมุ่งมั่นในการดูแลพฤติกรรมของตนเองและปรับเปลี่ยนแนวทางดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น ได้แก่

    1. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโทษต่อหัวใจและร่างกาย เช่น อาหารเค็ม อาหารมัน อาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
    2. การออกกำลังกายเป็นประจำและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
    3. เลิกสูบบุหรี่ รวมทั้ง หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการสูบบุหรี่
    4. ตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ ความดันโลหิต ระดับคอเลสเตอรอลอย่างสม่ำเสมอ
    5. การลดความเครียดและควบคุมอารมณ์
    6. การรับประทานยาตามที่คุณหมอสั่ง
    7. การปรึกษาคุณหมอตามนัดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ

    LIPI-2022-0058

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา