backup og meta

เบาหวาน ขึ้นตา อาการ สาเหตุ และวิธีป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/05/2022

    เบาหวาน ขึ้นตา อาการ สาเหตุ และวิธีป้องกัน

    เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนหนึ่งของโรคเบาหวานหากระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยอยู่ในระดับสูง เบาหวาน ขึ้นตา อาการ ที่พบได้ประกอบด้วย ดวงตาพร่ามัว เห็นจุดดำ มองเห็นตอนกลางคืนไม่ชัด หรือหากปล่อยให้เบาหวานขึ้นตาไปนาน ๆ โดยไม่เข้ารับการรักษาอาจถึงขั้นตาบอดได้

    โรคเบาหวานและอาการเบาหวานขึ้นตา

    เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนทั่วไป มักเกิดจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินซึ่งมีหน้าที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้การจัดการกับน้ำตาลในเลือดของร่างกายบกพร่อง จนน้ำตาลค้างอยู่ในกระแสเลือดและระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น

    ในทางการแพทย์ ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน วิธีรักษาและดูแลดูตัวเองเบื้องต้นนั้น คุณหมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อย่างอาการเบาหวานขึ้นตา

    เบาหวาน ขึ้นตา เกิดจากอะไร

    ผู้ป่วยเบาหวาน หากไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเป็นเวลานาน หรือระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเป็นระยะ ๆ บ่อยครั้งจะทำให้หลอดเลือดของจอตาถูกทำลายและส่งผลเสียหายต่อดวงตาจนมองเห็นไม่ชัดเจน โดยภาวะนี้เรียกว่าเบาหวานขึ้นตา ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังต่อไปนี้

    • เบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก (Nonproliferative Diabetic Retinopathy หรือ NPDR) ในระยะนี้ ผนังหลอดเลือดของจอตามักอ่อนแอและเสียหาย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้หลอดเลือดรั่วหรืออุดตันได้ เมื่องเลือดรั่วเข้าสู่ดวงตา สามารถทำให้จุดภาพชัด (Macular) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดวงตา มีอาการบวม และทำให้การมองเห็นมีปัญหา ขณะเดียวกัน การอุดตันของหลอดเลือด เป็นสาเหตุของภาวะจุดภาพชัดขาดเลือด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการตาบอดได้ในที่สุดหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
    • เบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า (Proliferative Diabetic Retinopathy หรือ PDR) ในระยะนี้ หลอดเลือดจอตามักเกิดการอุดตันจนเสียหาย ทำให้ดวงตาสร้างหลอดเลือดจอตาขึ้นมาใหม่ เพื่อทดแทนหลอดเลือดเดิมอย่างไรก็ตาม หลอดเลือดซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่มักเปราะบางหรือรั่วได้ง่าย ส่งผลให้เกิดเลือดออกในวุ้นตา และจอตาลอกในเวลาต่อมา ยิ่งกว่านั้น หลอดเลือดใหม่อาจสร้างความเสียหายให้เส้นประสาทตาเพราะอาจถูกสร้างขึ้นในบริเวณตาดำ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคต้อหิน

    เบาหวาน ขึ้นตา อาการ เป็นอย่างไร

    เมื่อมีภาวะเบาหวานขึ้นตา ผู้ป่วยเบาหวานจะมีอาการดังต่อไปนี้

    • ดวงตาพร่ามัว
    • มองเห็นจุดดำ หรือเส้นสีดำ ลอยอยู่เบื้องหน้า
    • การมองเห็นผันผวน สลับกันระหว่างเห็นภาพชัดกับไม่ชัด
    • ความสามารถในการมองเห็นตอนกลางคืนแย่ลง
    • เห็นภาพบางส่วนมีเงามืด ทำให้ไม่สามารถเห็นภาพตรงหน้าได้ชัดเจนทั้งหมด
    • ตาบอด

    เบาหวาน ขึ้นตา เกิดจากปัจจัยเสี่ยงข้อใดบ้าง

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา ประกอบด้วย

    • เป็นโรคเบาหวานเป็นระยะเวลานาน
    • ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    • ความดันเลือดสูง
    • คลอเรสเตอรอลสูง
    • เบาหวาขณะตั้งครรภ์

    อาการเบาหวาน ขึ้นตา รักษได้ไหม มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

    เบาหวานขึ้นตา รักษาได้ โดยวิธีรักษาเบาหวานขึ้นตาจะช่วยยับยั้งอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือประคองอาการไม่ให้แย่ลง โดยวิธีรักษาอาจมีดังนี้

    • การฉีดยาที่ดวงตา เพื่อรักษาอาการบวมของจุดภาพชัด และทำให้การมองเห็นดีขึ้น โดยยาที่ใช้ฉีดมักประกอบด้วย สเตียรอยด์ (Steroid) เบวาซิซูแมบ (Bevaciuzumab) รานิบิซูแมบ (Ranibizumab)
    • การฉายแสงเลเซอร์ (Photocoagulation) เพื่อหยุดการรั่วของหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดซึ่งอุดตันอยู่หายบวม วิธีนี้มักใช้เพื่อรักษาหลอดเลือดสร้างใหม่ที่เปราะบาง ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า
    • การผ่าตัดด้วยมีด (Vitrectomy) วิธีนี้ใช้ในการรักษาเบาหวานขึ้นตาเพื่อนำเลือดซึ่งรั่วจากหลอดเลือดจอตาออกจากวุ้นตา เพื่อป้องกันวุ้นตาลอก อย่างไรก็ตาม คุณหมอจะเลือกใช้วิธีนี้ในกรณีที่การฉายแสงเลเซอร์ไม่ได้ผล หรืออาการของผู้ป่วยอยู่ในขั้นรุนแรง

    อาการเบาหวาน ขึ้นตา ป้องกันได้อย่างไร

    เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเบาหวานขึ้นตา ผู้ป่วยเบาหวาน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • รักษาระดับน้ำในเลือดไม่ให้สูงเกินไป ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ รับประทานยาหรือเข้ารับการรักษาโรคตามคำแนะนำของคุณหมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงการนอนดึก เนื่องจากการนอนดึกมักทำให้ผู้ป่วยเบาหวานอยากอาหารมากกว่าปกติ โดยเฉพาะจำพวกแป้งหรือน้ำตาล ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้ง่าย
    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ หากเป็นไปได้ ผู้ป่วยเบาหวานควรมีเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดติดบ้าน และหมั่นตรวจระดับน้ำตาลเป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด หากสูงหรือต่ำเกินไปจะได้สามารถดูแลตัวเองได้อย่างทันท่วงที และให้เป็นไปตามแผนการรักษาของคุณหมอซึ่งตั้งไว้ ทั้งนี้ หากการดูแลตัวเองยังไม่เป็นไปตามแผน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและรับประทานอาหาร หากมีข้อสงสัยควรขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากคุณหมอ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้
    • หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติ เมื่อพบความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น ผู้ป่วยเบาหวานควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา