backup og meta

ลด เบาหวาน ป้องกันภาวะแทรกซ้อน ควรทำอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    ลด เบาหวาน ป้องกันภาวะแทรกซ้อน ควรทำอย่างไร

    เบาหวาน นับเป็น โรคเรื้อรังที่เกิดจากการที่ร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่อง จึงส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ในปัจจุบันเบาหวานยังเป็นโรคที่โดยทั่วไปเเล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถดูเเลหรือ ลด เบาหวาน เพื่อบรรเทาอาการและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้ เช่น เบาหวานขึ้นตา โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต

    สาเหตุที่ทำให้เป็นเบาหวาน

    สาเหตุของโรคเบาหวานเกิดจากการตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินลดลง ซึ่งอาจเกิดจากภูมิบางชนิดที่ร่างกายสร้างขึ้นเเล้วไปทำลายเนื้อเยื่อตับอ่อนของตนเอง ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินมีบทบาทสำคัญในการลดเเละควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในอยุ่ในสมดุล เมื่อมีอินซูลินไม่เพียงพอจึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จนนำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด 

    นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ไระดับน้ำตาลในเลือดในเลือดสูง เเละเกิดเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน

    เหตุผลที่ควร ลด เบาหวาน

    เเนะนำให้ควรลดเบาหวาน ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย คือ ระดับน้ำตาลก่อนอาหารเช้า หรือ หลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงอยู่ระหว่าง 90-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ มีค่าน้ำตาลสะสมไม่เกิน 7 เปอร์เซนต์ เนื่องจากหากปล่อยระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกิน อาจเพิ่มความเสี่ยงในเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน ดังนี้

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • เส้นประสาทเสื่อม ทำให้ปลายมือปลายเท้าชา
  • โรคไต
  • ภาวะเเทรกซ้อนทางตา ได้เเก่ เบาหวานขึ้นตา จอประสาทตาเสื่อม ต้อกระจก ต้อหิน เเละอาจรุนเเรงจนสูญเสียการมองเห็นได้
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • ภูมิคุ้มกันไม่ดี ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เเละ แผลหายช้า
  • อาการแทรกซ้อนผิวหนัง เช่น ผื่นเชื้อรา ผื่นเบาหวาน ผิวเเห้งคัน
  • ภาวะเเทรกซ้อนฉุกเฉินจากน้ำตาลในเลือดสูง เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic ketoacidosis) ภาวะโคม่าจากน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemic hyperosmolar syndrome) ซึ่งเป็นภาวะเเทรกซ้อนที่มีความรุนเเรงเเละอันตรายมาก
  • หากมีภาวะเบาหวามระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้มีปัญหาแทรกซ้อนเช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกในครรภ์ตัวใหญ่ทำให้คลอดยาก
  • ปัจจัยที่ทำให้ ลด เบาหวาน ได้ยาก

    ผู้ที่เป็นเบาหวานอาจพฤติกรรมการดำเนินชีวิตบางประการที่ทำให้ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี เช่น

  • รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก เช่น ข้าวขาว ข้าวเหนียว ขนมปังขาว น้ำอัดลม น้ำผลไม้
  • ละเลยการออกกำลังกาย รับประทานยารักษาเบาหวานหรือฉีดอินซูลินไม่สม่ำเสมอ ความเครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • มีความเจ็บป่วยไม่สบายหรือการติดเชื้อ 
  • จำเป็นต้องใช่ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์
  • วิธี ลด เบาหวานเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

    การควบคุมเบาหวานเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน อาจทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นเลือกอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เเต่มีน้ำตาล ไขมันต่ำและแคลอรี่ต่ำ เช่น มะเขือเทศ พริก อะโวคาโด ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผักใบเขียว บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก ข้าวโอ๊ต พืชตระกูลถั่ว อัลมอนด์ อกไก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน เพราะอาหารเหล่านี้นอกจากจะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงและมีประโยชน์ต่อสุขภาพเเล้ว ไฟเบอร์ยังอาจช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลและไขมันได้อีกด้วย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี๋ยวสูง เช่น  คุกกี้ เค้ก ขนมไทย น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด ช็อกโกแลต ข้าวขาวและผลิตภัณฑ์จากแป้งขัดขาว อาทิเช่น เส้นพาสต้า ขนมปัง เพราะอาจส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงและลดเบาหวานได้ยาก
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เเนะนำให้หมั่นออกกำลังกายที่ความเหนือยระดับปานกลางอย่างน้อย 30 นาที/วัน หรือ 150 นาที/สัปดาห์ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ โยคะ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ รวมถึงการทำงานบ้านและการพาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น เพื่อช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ลดเบาหวาน และช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
  • ผ่อนคลายความเครียด และ พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะความเครียดจะส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่อออกฤทธิ์ต้านอินซูลิน จึงอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดควบคุมได้ยากขึ้น
  • ฉีดอินซูลินและรับประทานยารักษาเบาหวานตามที่คุณหมอแนะนำ รวมถึงไปพบคุณหมอตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา