backup og meta

วิธีลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคเบาหวาน มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    วิธีลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคเบาหวาน มีอะไรบ้าง

    น้ำตาลในเลือด เป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายที่ได้จากกระบวนการย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โดยน้ำตาลจะถูกลำเลียงผ่านกระแสเลือดไปยังเซลล์ส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อใช้เป็นพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปก็อาจส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ ดังนั้น จึงควรดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี และศึกษา วิธีลดน้ำตาลในเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวานในอนาคต

    วิธีลดน้ำตาลในเลือด สำคัญอย่างไร

    การปฏิบัติตาม วิธีลดน้ำตาลในเลือด ที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเกณฑ์เป้าหมายอย่างเหมาะสม มีความสำคัญกับสุขภาพอย่างมาก เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โรคเบาหวาน รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่อาจเป็นอันตราย ดังนี้

    • โรคหัวใจและหลอดเลือด หากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเป้าหมายเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เส้นเลือดทั่วทั้งร่างกายเสื่อมลง จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ได้
  • โรคปลายประสาทเสื่อม เมื่อควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานานจะส่งผลให้เส้นประสามเสื่อม โดยมักเกิดอาการกับเส้นประสาทบริเวณส่วนปลายก่อน เช่น ปลายนิ้วมือ ปลายนิ้วเท้า จึงทำให้รู้สึกชาที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า หรืออาจทำให้รู้สึกปวด แสบ เสียวซ่าได้
  • เบาหวานขึ้นตา หากคุมเบาหวานได้ไม่ดี นอกจากจะทำให้เส้นเลือดทั่วทั้งร่างกายเสื่อมแล้ว ยังทำให้เส้นเลือดที่จอประสาทตาได้รับความเสียหายด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเบาหวานขึ้นตา โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อหิน โรคต้อกระจก และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจรุนแรงจนทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง ผู้ป่วยที่ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากจะทำให้ผิวแห้งเสี่ยงระคายเคืองได้ง่ายแล้ว ยังทำให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงผิวหนังได้ไม่ดี และทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จนติดเชื้อได้ง่าย
  • ไตวาย หากปล่อยให้ระดับในตาลในเลือดสูงเรื้อรังอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรัง และถึงแม้จะกลับมาคุมเบาหวานได้ดีแล้ว ก็ไม่สามารถฟื้นฟูการทำงานของไตให้กลับมาเป็นดังเดิมได้ ซึ่งหากการทำงานของไตลงลงมากจนไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการล้างไต หรือผ่าตัดปลูกถ่ายไต
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หากควบคุมเบาหวานได้ไม่ดีอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดได้ด้วย
  • ค่าน้ำตาลในเลือดปกติ ควรอยู่ที่เท่าไหร่

    หากทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบอดอาหาร 8 ชั่วโมง ค่าน้ำตาลในเลือดปกติไม่ควรเกิน 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากค่าน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง ระดับน้ำตาลสูงเกินเกณฑ์หรือมีภาวะก่อนเบาหวาน หรือหากระดับน้ำตาล 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป จะเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน หากเจาะระดับน้ำตาลในเลือดไม่ว่าจะในช่วงเวลาใดก็ตาม แล้วระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ที่อาจส่งผลให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง ใจสั่น ไม่มีสมาธิ ชัก และหมดสติได้

    วิธีลดน้ำตาลในเลือด มีอะไรบ้าง

    วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อาจทำได้ดังนี้

    วิธีลดน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง

    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

    ควรเน้นรับประทานผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ และอาหารที่มีไขมันดีสูง เช่น กะหล่ำ ผักกาด ผักคะน้า ผักโขม มะเขือยาว มะเขือเทศ มะเขือม่วง ส้ม กีวี ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วลันเตา อัลมอนด์ อะโวคาโด ปลาแซลมอน น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมันไม่ดีอย่างของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน ขนมหวาน มันฝรั่ง ข้าวโพด น้ำมันหมู เนย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล ในปริมาณมาก

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ควรออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 30 นาที/วัน เป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ โดยเลือกออกกำลังในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน นอกจากนี้ ยังแนะนำให้เพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น ทำงานบ้าน ทำสวน รดน้ำต้นไม้ เดินขึ้นบันไดแทนใช้ลิฟต์ พาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาลและพลังงานส่วนเกินแล้ว ยังเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคกระดูกและข้อต่อ โรคหัวใจ โรคหอบหืด สามารถปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพได้

  • ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ
  • แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อให้ร่างกายได้รับของเหลวเพียงพอต่อความต้องการ และช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ  

    • ตรวจสุขภาพประจำปี

    การตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ รวมไปถึงโรคเบาหวาน ได้ตั้งแต่ในระยะต้น ๆ เนื่องจากภาวะก่อนเบาหวานหรือโรคเบาหวาน หากเพิ่งเริ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะยังไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็น อีกทั้งการตรวจสุขภาพประจำปียังยังเป็นการคัดกรองสุขภาพโดยรวมที่อาจช่วยให้ทราบภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน เช่น โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง หากมีภาวะดังกล่าวจะได้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม

    วิธีลดน้ำตาลในเลือดโดยการใช้ยาทางการแพทย์

  • ใช้ยาฉีดอินซูลิน
  • อินซูลินในปัจจุบันอยู่ในรูปแบบของยาฉีด ซึ่งเป็นอินซูลินสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์เสมือนกับอินซูลินที่ร่างกายผลิตขึ้นเองจากตับอ่อน จึงมีผลช่วยลดน้ำตาลในเลือดหรือช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ได้ โดยอาจแบ่งอินซูลินได้หลายชนิดตามการออกฤทธิ์ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความเร็วในการออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาล ได้แก่ อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-acting Insulin) อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้นหรือปกติ (Regular or Short-acting Insulin) อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting Insulin) และอินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน (Long-acting Insulin) หากจำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้ยาฉีดอินซูลิน คุณหมอจะเป็นผู้กำหนดขนาดและวิธีการใช้ ซึ่งจะต่างกันไปในแต่ละบุคคล

    • ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน 

    การใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด นับเป็นวิธีการรักษาหลักของผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 โดยในปัจจุบันมียารักษาเบาหวานอยู่หลายชนิด ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลผ่านกลไลที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นยาที่ช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลินจากตับอ่อน เช่น ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) ยากลุ่มที่ยับยั้งเอนไซม์ดีพีพี-4 (Dipeptidyl-Peptidase 4 Inhibitor) หรือยาช่วยให้เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น กระตุ้นการนำน้ำตาลเข้าไปเผาผลาญได้เพิ่มขึ้น เช่น ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ยาไพโอกลิทาโซน (Pioglitazone) ทั้งยังมียาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มในสมอง ช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น และยังมียากลุ่มที่ยับยั้งเอสจีแอลทีทู (SGLT2 Inhibitor) ที่ไต ช่วยเพิ่มการขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ โดยการเลือกใช้ยานี้ คุณหมอจะเลือกพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ที่เป็นเบาหวานแต่ละราย

    หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลันหรือรุนแรง เช่น มีภาวะเลือดเป็นกรด จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยคุณหมอจะรักษาด้วยการให้อินซูลินทางหลอดเลือดดำ และต้องให้สารน้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา