backup og meta

สถิติเบาหวานในประเทศไทย ปัจจัยเสี่ยงและวิธีป้องกันเบาหวานที่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/06/2022

    สถิติเบาหวานในประเทศไทย ปัจจัยเสี่ยงและวิธีป้องกันเบาหวานที่ควรรู้

    สถิติเบาหวานในประชากรทั่วโลกและในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเฝ้าระวัง เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต สถิติเบาหวานในประเทศไทยล่าสุด พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากเบาหวานโดยเฉลี่ย 200 คน/วัน และผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นโรคเบาหวานประมาณ 5 ล้านคนการจัดการโรคเบาหวานและการดูแลตัวเองอาจช่วยป้องกัน และลดจำนวนผู้ป่วยเบาหวานได้

    สถิติเบาหวานในประเทศไทย

    โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อที่คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทั้งประชากรทั่วโลกและในประเทศไทย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตลดลงด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต แผลที่เท้า โรคปลายประสาทตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม โดยคนไทยเสียชีวิตจากโรคเบาหวานมากถึง 200 คน/วัน สหพันธ์เบาหวานนานาชาติคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2583 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเบาหวานสูงถึง 5.3 ล้านคน และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย พบว่า กลุ่มอายุ 60-69 ปี มีความชุกเป็นโรคเบาหวานสูงที่สุด ในผู้ชายคิดเป็นร้อยละ 15.9 และผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 21.9

    จากการสำรวจสุขภาพคนไทยครั้งที่ 5 ปี พ.ศ. 2557 พบว่า ความชุกของโรคเบาหวานในประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน ร้อยละ 9.8 และผู้ชายร้อยละ 7.8 นอกจากนี้ โรคเบาหวานยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตติดอันดับ 2 ของผู้หญิงในประเทศไทย และผู้ชายติดอันดับ 7 ของการเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน

    ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานในประเทศไทย

    จากข้อมูลปี พ.ศ.2560 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานในประเทศไทยเกี่ยวข้องกับ การมีน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย ดังนี้

  • การมีน้ำหนักเกินทั้งหมดคิดเป็น 31.6% คิดแยกเป็นผู้ชาย 27.7% และผู้หญิง 35.4%
  • โรคอ้วนทั้งหมดคิดเป็น 9.2% คิดแยกเป็นผู้ชาย 6.1% และผู้หญิง 12.1%
  • การไม่ออกกำลังกายทั้งหมดคิดเป็น 14.6% คิดแยกเป็นผู้ชาย 12.8% และผู้หญิง 16.4%
  • ปัจจัยการใช้ชีวิตของคนไทยแบบเนือยนิ่งและไม่ออกกำลังกายมีความสัมพันธ์กับความชุกของน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคเบาหวาน โดยโรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่า 7 เท่า ในขณะที่การมีน้ำหนักเกินเพิ่มความเสี่ยง 3 เท่า

    นอกจากนี้ อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป และรองลงมาเป็นวัยผู้ใหญ่อายุ 30-69 ปี ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยประชากรผู้สูงอายุอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 14.4 ล้านคน ในปี พ.ศ.2568 และจะมีผู้สูงอายุ 1 ใน 5 คนเป็นโรคเบาหวาน

    การจัดการโรคเบาหวานในประเทศไทย

    เพื่อควบคุมโรคเบาหวานและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน การประเมินความเสี่ยงเพื่อวินิจฉัยและตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน เป็นวิธีที่จะช่วยให้รู้ทันโรคและสามารถเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่เริ่มต้น

    แนวทางการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในผู้ใหญ่

    การตรวจคัดกรองโรค และการประเมินความเสี่ยงตามข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลกมีเกณฑ์ดังนี้

    1. ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
    2. ผู้มีภาวะอ้วน (BMI 25 กิโลกรัม/เมตร2 และ/หรือ มีรอบเอวเกินมาตรฐาน) และครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน
    3. เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือรับประทานยาคุมความดันโลหิต
    4. ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ โดยมีระดับไตรกลีเซอไรด์ 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร.และ/หรือ เอช ดี แอล คอเลสเตอรอล (HDL) < 35 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือได้รับยาลดไขมันในเลือด
    5. มีประวัติโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิดเกิน 4 กิโลกรัม
    6. เคยได้รับการตรวจพบว่าเป็น Impaired glucose tolerance (IGT) ความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง หรือ Impaired fasting glucose (IFG) ระดับน้ำตาลขณะอดอาหารผิดปกติ
    7. มีกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่
    8. มีโรคหัวใจและหลอดเลือด

    วิธีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน

    คุณหมออาจแนะนำให้ใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง ได้แก่

    1. การตรวจวัดพลาสมากลูโคสขณะอดอาหาร โดยวิธีตรวจเลือดจากหลอดเลือดดำ
    2. ตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยวิธีเจาะปลายนิ้ว หากระดับ FPG หรือ FCBG 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้ตรวจยืนยันด้วย FPG อีกครั้ง ในวันนั้นหรือสัปดาห์ถัดไป หากยังคงค่าเดิมวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน
    3. การตรวจความทนต่อกลูโคส สามารถวินิจฉัยได้ไวกว่า FPG หากระดับพลาสมากลูโคส 2 ชั่วโมงหลังดื่มน้ำตาล 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้ตรวจยืนยันอีกครั้งในวันนั้นหรือสัปดาห์ถัดไป หากยังคงค่าเดิมวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน

    การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน

    คำแนะนำจาก กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการป้องกันโรคเบาหวานและดูแลตัวเองเพื่อสุขภาพ ดังนี้

    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารสหวาน มัน และเค็ม
    • งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ขยับร่างกายและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอยู่เสมอ
    • ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม และรักษารอบเอวไม่ควรเกินมาตรฐาน ในผู้ชายไม่ควรมากกว่า 90 เซนติเมตร และผู้หญิงไม่ควรมากกว่า 80 เซนติเมตร
    • ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
    • หากมีอาการของโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หิวบ่อย รับประทานอาหารมากขึ้น น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ ชาปลายมือปลายเท้า หรือเป็นแผลง่ายและหายยากขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เริ่มต้น
    • หากสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ควรใส่ใจเรื่องการควบคุมอาหาร การรับประทานยา เข้ารับการตรวจตามนัด และสังเกตอาการป่วยที่อาจเกิดขึ้นอย่างผิดปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา