backup og meta

อาการโรคเบาหวานระยะแรก สังเกตจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 23/03/2022

    อาการโรคเบาหวานระยะแรก สังเกตจากอะไร

    โรคเบาหวาน หมายถึงภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดเป็นพลังงานได้เพียงพอซึ่งอาจสังเกตได้จาก อาการโรคเบาหวานระยะแรก ไม่ว่าจะเป็นกระหายน้ำบ่อย หิวบ่อย การมองเห็นเปลี่ยนแปลง แขนขาอ่อนแรงกว่าปกติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาการของโรคเบาหวานอาจยากต่อการสังเกต ดังนั้น จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ และรับการรักษาโรคเบาหวานอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย

    สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน

    เบาหวานแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ เบาหวานประเภทที่ 1 เบาหวานประเภทที่ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยมีสาเหตุแตกต่างกัน ดังนี้

    • โรคเบาหวานประเภทที่ 1 ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจมาจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มีหน้าที่ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคเข้าจู่โจมและทำลายเซลล์ผลิตอินซูลินในตับอ่อน ส่งผลให้มีระดับอินซูลินในร่างกายไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานให้ร่างกายนำไปใช้ น้ำตาลจึงสะสมในกระแสเลือดและก่อให้เกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 1
    • โรคเบาหวานประเภทที่ 2 มีสาเหตุมาจากร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน หรือเรียกอีกอย่างได้ว่าภาวะดื้ออินซูลิน ที่ตับอ่อนอาจสามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ แต่เซลล์ไม่มีการตอบสนองต่ออินซูลิน ทำให้ไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้เพียงพอ และทำให้น้ำตาลสะสมในกระแสเลือด นำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
    • เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงการตั้งครรภ์ ที่ส่งผลให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ นำไปสู่เบาหวานขณะตั้งครรภ์

    อาการโรคเบาหวานระยะแรก

    อาการโรคเบาหวานระยะแรก อาจสังเกตได้จากสัญญาณเตือนต่าง ๆ ดังนี้

    • ปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำ

    ปกติคนทั่วไปมักปัสสาวะประมาณ 4-7 ครั้ง/วัน แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานอาจปัสสาวะมากกว่านั้น เพราะระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ไตจึงทำงานหนักเพื่อขับน้ำตาลส่วนเกินออกในรูปแบบปัสสาวะ อีกทั้ง ยังอาจส่งผลให้กระหายน้ำมากขึ้นเนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำมาก

    • อ่อนเพลียและหิวมากกว่าปกติ

    หากตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ร่างกายจะไม่สามารถใช้พลังงานจากน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงอาจส่งผลให้ร่างกายขาดพลังงาน รู้สึกอ่อนเพลีย และหิวบ่อยมากกว่าปกติ

    • ระบบประสาทเสื่อมลง

    ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้ประสิทธิภาพของระบบการไหลเวียนเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายลดลง ส่งผลต่อการทำงานของเส้นประสาท และอาจทำให้เกิดอาการเท้าชา มือชา และเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย เนื่องจาก ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด

    • การติดเชื้อ

    ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจส่งผลให้ยีสต์สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จึงอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณเท้า มือ หน้าอก รอบ ๆ อวัยวะเพศ และช่องคลอด ทำให้มีอาการตกขาวในผู้หญิงได้

    • ปัญหาการมองเห็น

    เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดและเนื้อเยื่อบริเวณดวงตา ทำให้ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง ตาพร่ามัว และมองสิ่งรอบตัวเป็นภาพซ้อน

    • คลื่นไส้ อาเจียน

    เมื่อร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ประโยชน์ได้ จึงต้องเผาผลาญไขมันแทน ทำให้เกิดกรดคีโตน (Ketone) หากร่างกายมีระดับคีโตนมากเกินไปอาจทำให้เสี่ยงเป็นภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoacidosis) ทำให้รู้สึกไม่สบายท้องและคลื่นไส้ อาเจียน

    • น้ำหนักลดลง

    โรคเบาหวานทำให้ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลจากอาหารให้เป็นพลังงานได้มากเพียงพอ และอาจเริ่มเผาผลาญมวลกล้ามเนื้อเพื่อดึงมาเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งอาจทำให้น้ำหนักลดลง

    การจัดการอาการโรคเบาหวาน

    วิธีบรรเทาอาการโรคเบาหวาน อาจทำได้ ดังนี้

    • รักษาด้วยยา ในปัจจุบันมียาเบาหวานหลายชนิดทั้งชนิดกินและฉีดใต้ผิวหนัง ซึ่งคุณหมอจะเลือกชนิดของยาให้เหมาะสมกับสภาวะการเจ็บป่วย และเศรษฐานะของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ โดยสามารถหาซื้ออุปกรณ์ตรวจน้ำตาลในเลือดได้ตามร้านขายยา และควรบันทึกข้อมูลเพื่อแจ้งให้คุณหมอทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด เพื่อดำเนินการรักษาได้อย่างเหมาะสม
    • เลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ มีไขมันต่ำ แคลอรี่ต่ำ และใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยควรออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น แอโรบิก เดิน ปั่นจักรยาน วันละ 30 นาที หรืออย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินดึงน้ำตาลเป็นพลังงาน และส่งเสริมการลดระดับน้ำตาลในเลือด
    • ลดน้ำหนัก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานอาจมีน้ำหนักมาก ดังนั้น จึงควรลดน้ำหนักเพื่อช่วยลดความเสี่ยง และบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน และในการรักษาปัจจุบัน การรักษาเพื่อลดน้ำหนัก มีทั้งชนิดควบคุมอาหาร ใช้ยา และผ่าตัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 23/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา