backup og meta

อาหารเบาหวานในผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/08/2022

    อาหารเบาหวานในผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง

    อาหาร เบาหวาน ใน ผู้ สูงอายุ ควรเป็นอาหารที่มีความหลากหลาย สารอาหารครบถ้วน ทั้ง 5 หมู่ เเละ ควรเน้นเลือกชนิดอาหารที่มีกากใยสูง และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เพราะอาจส่งเสริมให้โรคเบาหวานควบคุมได้ไม่ดี และ เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลต่อสุขภาพผู้สูงอายุในระยะยาว ดังนั้น การเตรียมอาหารเบาหวานในผู้สูงอายุให้เหมาะสม ร่วมกับการดูแลอย่างใกล้ชิดอาจช่วยควบคุมตัวโรคและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้

    โรคเบาหวานในผู้สูงอายุ

    โรคเบาหวานเกิดจากร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดไปเป็นพลังงานได้อย่างเหมาะสม จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นและพัฒนาเป็นโรคเบาหวาน หากไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หากเป็นเบาหวานก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น ดังนี้

    • แผลติดเชื้อเรื้อรัง ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดแขนหรือขา
    • โรคหลอดเลือดสมองเเละหัวใจ
  • กล้ามเนื้ออ่อนเเรงจากมวลกล้ามเนื้อลดลง
  • การสูญเสียการมองเห็น จากภาวะเบาหวานขึ้นตา
  • อาการปวดเรื้อรัง
  • ดังนั้น การควบคุมอาหารและการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานอย่างใกล้ชิด จึงอาจเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้

    อาหาร เบาหวาน ใน ผู้ สูงอายุ มีอะไรบ้าง

    ผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ ได้พลังงานประมาณ 1,500-2,000 กิโลแคลอรี่/วัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยอาจอธิบายง่ายๆว่าสัดส่วนของอาหารในเเต่ละมื้อนั้น 1 จาน ควรมี คาร์โบไฮเดรต ¼ จาน (1 ส่วน) โปรตีน ¼ จาน (1 ส่วน) ผัก ½ จาน (2 ส่วน) เเละอาจมีผลไม้เสริมได้ในบางมื้อ 1 ส่วน สำหรับตัวอย่างอาหารและปริมาณการรับประทานอาหารแต่ละชนิดที่เหมาะสมต่อผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน อาจมีดังนี้

    • อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ควรเน้นรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ซึ่งคาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน จะให้พลังงาน 70 – 80 กิโลแคลอรี่ ตัวอย่างเช่น ข้าว 1 ทัพพี ขนมปัง 1 เเผ่น  ขนมจีน 1 จับ 
    • อาหารประเภทโปรตีน ควรรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและหนัง โดย 1 ส่วนจะให้พลังงาน 55 กิโลแคลอรี่ เช่น ปลา 30 กรัม เนื้อปู 60 กรัม เนื้อไก่ 30 กรัม เนื้อหมู 30 กรัม ไข่ขาว 3 ฟอง เต้าหู้ 100 กรัม
    • อาหารประเภทผัก สามารถเลือกบริโภคผักได้ทุกชนิด โดย 1 ส่วน ประมาณ 70 กรัม จะให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่ ทั้งผักสดประมาณ 1 ถ้วย และผักต้มสุกประมาณครึ่งถ้วย
    • อาหารประเภทผลไม้ โดย1 ส่วน จะให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี่ เช่น มะม่วงสุกครึ่งผลเล็ก สับปะรด 6 ชิ้น ชมพู่ 2 ผล องุ่น 15 ผลเล็ก แตงโม 10-12 ชิ้น มะละกอ 6 ชิ้น อย่างไรก็ตาม ควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำเป็นหลัก
    • อาหารประเภทไขมัน โดย 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี่ เช่น น้ำมันพืชต่าง ๆ 1 ช้อนชา น้ำสลัด 1 ช้อนชา เนยเทียม 1 ช้อนชา อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานไขมันจากเนื้อสัตว์ หนังสัตว์ กะทิ น้ำมันปาล์ม เพื่อลดการสะสมของคอเลสเตอรอลในเลือด
    • อาหารประเภทนม นมแต่ละชนิดอาจให้พลังงานที่แตกต่างกัน โดยผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานควรเลือกรับประทานนมจืด หากเป็นชนิดพร่องมันเนยก็เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันมิให้คลอเลสเตอรอลในเลือดสูง

    วิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน

    การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานอาจทำได้ ดังนี้

    • การรับประทานอาหาร ผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวควรดูแลการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน โดยควรเลือกชนิดและกำหนดปริมาณของอาหารให้เหมาะสมในแต่ละมื้อ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย เน้นเลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ รวมถึงอาหารจำพวกโปรตีนไม่ติดมันและหนัง และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เช่น ข้าวขาว อาหารแปรรูป แป้ง ขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน น้ำหวาน
    • ออกกำลังกาย ควรให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายหรือขยับร่างกายอยู่เสมอ เพื่อช่วยกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน อีกทั้งช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของร่างกาย โดยเน้นเป็นการออกกำลังกายที่ไม่เหนือยมากนัก เเละ ไม่มีการกระเเทกที่รุนเเรง เช่น เดิน โยคะ การเต้นประกอบจังหวะ รำไทเก็ก ประมาณวันละ 30 นาที อย่างน้อย 4-5 วัน/สัปดาห์ ทั้งนี้ อาจปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับแนวทางการออกกำลังกายที่เหมาะสม เนื่องจากผู้สูงอายุเเต่ละคนอาจมีภาวะสุขภาพที่ต้องระวังเเตกต่างกันออกไป
    • พบคุณหมออย่างสม่ำเสมอ ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง สุขภาพตา สุขภาพเท้า โรคระบบประสาท

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา