backup og meta

อินซูลิน มีหน้าที่ในการจัดการกับโรคเบาหวานได้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 22/06/2022

    อินซูลิน มีหน้าที่ในการจัดการกับโรคเบาหวานได้อย่างไร

    อินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างขึ้นโดยตับอ่อน มีหน้าที่ในการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดให้กลายเป็นพลังงานและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล ป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและการลุกลามของโรค รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น น้ำหนักเกิน โรคอ้วน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต ความเสียหายของเส้นประสาท

    อินซูลิน คืออะไร

    อินซูลิน คือ ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เอง โดยตับอ่อนมีหน้าที่ควบคุมการผลิตอินซูลินเพื่อใช้ในการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน และเพื่อรักษาความสมดุลของน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป

    สำหรับในผู้ป่วยเบาหวานที่ร่างกายมีความผิดปกติเกี่ยวกับการผลิตฮอร์โมนอินซูลินหรือร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น คุณหมออาจให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการใช้อินซูลิน ซึ่งอาจช่วยเพิ่มฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย เพื่อใช้ในการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ

    ประเภทของอินซูลิน

    อินซูลินแบ่งออกเป็น 4 ประเภท โดยอาจแบ่งตามระยะเวลาในการออกฤทธิ์ ดังนี้

  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-Acting Insulin) เป็นอินซูลินชนิดใส โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 15-30 นาที ออกฤทธิ์สูงสุดระหว่าง 30-90 นาที และออกฤทธิ์ได้นาน 3-5 ชั่วโมง มักใช้ฉีดก่อนรับประทานอาหาร 15 นาที หรือหลังรับประทานอาหาร 15 นาที
  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น (Regular or Short-Acting Insulin) เป็นอินซูลินชนิดใส โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30-60 นาที ออกฤทธิ์สูงสุดระหว่าง 1-2 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นาน 5-8 ชั่วโมง มักใช้ฉีดก่อนรับประทานอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง และสามารถฉีดเข้าหลอดเลือดดำได้
  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นานปานกลาง (Intermediate-Acting Insulin) เป็นอินซูลินชนิดขุ่น โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมง ไม่สามารถฉีดเข้าหลอดเลือดดำได้ โดยอินซูลินชนิดนี้อาจแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้
    • นิวเทริลโปรตามีนฮาเก็ดดอร์อินซูลิน (Neutral Protamine Hagedorn Insulin หรือ NPH) หรือเรียกว่า ไอโซเฟนอินซูลิน (Isophane Insulin) ใช้โปรตามีน (Protamine) เป็นสารที่ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์นานขึ้น โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมง ออกฤทธิ์สูงสุดระหว่าง 4-10 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นาน 12-20 ชั่วโมง
    • เลนส์อินซูลิน (Lente Insulin) ใช้สังกะสี (Zinc) เป็นสารที่ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์นานขึ้น โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 3-4 ชั่วโมง ออกฤทธิ์สูงสุดระหว่าง 8-12 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นาน 12-20 ชั่วโมง
    1. อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Insulin) โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นาน 24 ชั่วโมง

    อินซูลิน มีหน้าที่อย่างไรต่อโรคเบาหวาน

    โดยปกติเมื่อรับประทานอาหารเข้าสู่ร่างกาย ลำไส้เล็กจะทำหน้าที่ย่อยสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคส จากนั้นจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล ตับอ่อนจึงทำหน้าที่ผลิตและหลั่งอินซูลินออกมาเพื่อเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดให้กลายเป็นพลังงาน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ

    สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอาจมีความผิดปกติของการหลั่งอินซูลิน ทำให้การเผาผลาญน้ำตาลในเลือดผิดปกติ และส่งผลให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

    • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคภูมิต้านทานตนเองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยระบบภูมิคุ้มกันจะเข้าทำลายเซลล์ตับอ่อน ทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมาใช้ได้ไม่เพียงพอ
    • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย อาจพบบ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โดยเกิดจากการที่ตับอ่อนมีความผิดปกติในการหลั่งอินซูลิน ส่งผลให้เซลล์ใช้อินซูลินในการเผาผลาญน้ำตาลได้ไม่เต็มที่ เรียกว่า ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น

    ดังนั้น เมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินมาใช้ได้อย่างเพียงพอ การรักษาโรคเบาหวานด้วยการใช้อินซูลินจึงอาจเป็นอีกวิธีที่จะช่วยเพิ่มฮอร์โมนอินซูลินให้กับร่างกาย เพื่อใช้ในการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเบาหวานแต่ละคนอาจต้องใช้ชนิดของอินซูลินและขนาดยาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 22/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา