backup og meta

เบาหวาน อาการ และวิธีการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

    เบาหวาน อาการ และวิธีการป้องกัน

    เบาหวานเป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ที่เกิดจากร่างกายจัดการอินซูลินและน้ำตาลได้ไม่ดีพอ เกิดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยอินซูลินมีหน้าที่นำพาน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดที่ได้จากการรับประทานอาหาร เข้าสู่เซลล์เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน เมื่ออินซูลินไม่เพียงพอจึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป และเมื่อป่วยเป็นโรค เบาหวาน อาการ ที่พบอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค อย่างไรก็ตาม หากไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ไตเสียหาย จอประสาทตาเสื่อมได้

    เบาหวาน คืออะไร

    เบาหวาน คือ โรคเรื้อรังที่จะวินิจฉัยเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป ซึ่งเป็นผลจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หากปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะนี้นานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง ระบบประสาทเสื่อม  

    เบาหวานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • เบาหวานชนิดที่ 1 พบได้บ่อยในวัยเด็ก เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง ทำให้ตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นำไปสู่ภาวะน้ำตาลสะสมในเลือดสูงขึ้น อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย
  • เบาหวานชนิดที่ 2 พบได้บ่อยในวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ที่อายุ 40 ปี ขึ้นไป เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือเซลล์ในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หากปล่อยไว้นานอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย และน้ำหนักลดได้
  • ข้อมูลจากสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 9.8 ในขณะที่ผู้ชายมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 7.8 อีกทั้งโรคเบาหวานยังพบได้มากในช่วงอายุ 60-69 ปี โดยแบ่งออกเป็นผู้หญิงร้อยละ 21.9 และผู้ชายร้อยละ 15.9 นอกจากนี้ สตรีตั้งครรภ์บางรายมีความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์และอาจส่งผลให้บุตรเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานในอนาคต 

    เบาหวาน อาการ มีอะไรบ้าง

    อาการของเบาหวานชนิดที่ 1 มีความรุนแรงกว่าเบาหวานชนิดที่ 2 แต่เบาหวานทั้ง 2 ชนิด อาจส่งผลให้เกิดอาการคล้ายกัน ดังนี้

    • รู้สึกหิวบ่อย
    • ปากแห้ง กระหายน้ำ
    • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง เช่น เห็นเป็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว
    • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
    • เหนื่อยล้าง่าย
    • แผลหายช้า
    • ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
    • ปัสสาวะบ่อย และอาจส่งผลให้นอนหลับไม่เพียงพอ
    • มีคีโตนในปัสสาวะมาก เนื่องจากร่างกายขาดพลังงาน
    • คันบริเวณอวัยวะเพศ
    • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • ติดเชื้อบ่อยครั้ง เช่น ติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในช่องคลอด

    การรักษาเบาหวาน

    การรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 คือ การหมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด และการบำบัดด้วยยาอินซูลิน ประเภทของอินซูลินมีทั้งแบบออกฤทธิ์สั้น ออกฤทธิ์เร็ว และออกฤทธิ์นาน ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของคุณหมอว่าสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยเหมาะกับอินซูลินรูปแบบใด นอกจากการใช้ยาอินซูลินแล้ว คุณหมออาจรักษาด้วยยารับประทาน หรือยาฉีดชนิดอื่น ๆ และในปัจจุบันมียารักษาเบาหวานหลากหลายชนิด เพื่อให้ร่างกายจัดการกับอินซูลินได้ดีขึ้น

    หากรักษาด้วยยาอินซูลินไม่ได้ผล การปลูกถ่ายตับอ่อนใหม่อาจช่วยให้ร่างกายผลิตอินซูลินได้ดีขึ้น แต่วิธีนี้อาจไม่สำเร็จเสมอไป หรือผู้ป่วยอาจต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย เพื่อป้องกันร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่

    การป้องกันเบาหวาน

    ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น อาหารไขมันต่ำ มีเส้นใยอาหารสูง เน้นผักและผลไม้
    • ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางประมาณ 30 นาทีต่อวัน เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ
    • ลดน้ำหนักส่วนเกิน ด้วยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา