backup og meta

ความเสี่ยงเบาหวาน วิธีการตรวจเพื่อประเมินเบื้องต้น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

    ความเสี่ยงเบาหวาน วิธีการตรวจเพื่อประเมินเบื้องต้น

    ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานปีละประมาณ 20,000 คน ทั้งยังมีแนวโน้มจะมีผู้ป่วยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีอีกด้วย พบว่า กว่า 50% ของผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคนี้ จึงไม่ได้เข้ารับรักษา หรือควบคุมโรคอย่างถูกวิธี ดังนั้น การประเมิน ความเสี่ยงเบาหวาน เบื้องต้นให้ทราบว่าตัวเองเป็นเบาหวาน หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานหรือไม่นั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจาก หากรู้ตัวเร็วก็อาจเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ทั้งยังลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้อีกด้วย

    การตรวจเพื่อประเมิน ความเสี่ยงเบาหวาน

    การตรวจฮีโมโกลบินเอวันซี

    การตรวจฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c หรือ Hemoglobin A1c) เรียกสั้น ๆ ว่า การตรวจเอวันซี (A1c) เป็นการตรวจค่าน้ำตาลสะสม ซึ่งบ่งบอกถึงการควบคุมน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ยนในช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา สามารถใช้ในการประเมินความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ทั้งโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และยังเป็นการตรวจที่คุณหมอใช้เพื่อประเมินการรักษาและการควบคุมโรคเบาหวานของผู้ป่วยอีกด้วย

    การตรวจฮีโมโกลบินเอวันซี เป็นการตรวจน้ำตาลที่มาจับกับ ฮีโมโกลบิน ของเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งฮีโมโกลบินนี้ เป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่นำออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จากการที่รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินกว่าที่ร่างกายจะนำไปใช้ น้ำตาลในเลือดก็จะไปจับกับฮีโมโกลบินสะสมเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ฮีโมโกลบินเอวันซีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามมา

    การตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด หรือค่าฮีโมโกลบิน (A1c) ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร หรือเครื่องดื่ม ผลที่จะได้ออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยสามารถแปลผลได้ดังนี้

    • ค่าปกติ/ไม่เป็นเบาหวาน : ไม่เกิน 5.7 เปอร์เซ็นต์
    • เสี่ยงเป็นเบาหวาน/ภาวะก่อนเบาหวาน : ระหว่าง 5.7 – 6.4 เปอร์เซ็นต์
    • เข้าข่ายเป็นเบาหวาน : สูงตั้งแต่ 6.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้นไป

    แต่หากเป็นเบาหวานแล้วควรควบคุมให้มีฮีโมโกลบินเอวันซี หรือน้ำตาลสะสม ไม่เกิด 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้

    การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลกลูโคส

    การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลกลูโคส (Oral Glucose Tolerance Test หรือ OGTT) หรืออาจรู้จักกันว่าคือการตรวจโดยการกลืนน้ำตาล เป็น การทดสอบการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลินเมื่อได้รับน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายโดยคุณหมอหรือเจ้าหน้าที่จะให้ดื่มน้ำละลายกลูโคส 75 กรัม หลังจากนั้น 2 ชั่วโมงจึงจะทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งสามารถแปลผลได้ดังนี้

    • ปกติ : ระดับน้ำตาลไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    • เสี่ยงเป็นเบาหวาน/ก่อนเบาหวาน : ระดับน้ำตาลระหว่าง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    • เข้าข่ายเป็น เบาหวาน : ระดับน้ำตาลสูงตั้งแต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป

    โดยก่อนเข้ารับการตรวจ แนะนำให้รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตตามปกติ และดื่มน้ำให้เพียงพอ แต่จะต้องงดอาหารก่อนเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ในวันที่จะเข้ารับการทดสอบนี้

    การตรวจค่าดัชนีมวลกาย

    ดัชนีมวลกาย (BMI) คือ ค่าชี้วัดความสมดุลระหว่างน้ำหนักตัวและส่วนสูงของแต่ละบุคคลว่าอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมหรือไม่ เกณฑ์ค่าดัชนีมวลกายสำหรับคนไทย มีรายละเอียดดังนี้

    • น้ำหนักน้อยเกินไป : ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5
    • สุขภาพดี : ค่า BMI 18.5-22.9
    • น้ำหนักเกิน : ค่า BMI 23-24.9
    • อ้วน/โรคอ้วนระดับ 1 : ค่า BMI 25-29.9
    • อ้วนอันตราย/โรคอ้วนระดับ 2 : ค่า BMI 30 ขึ้นไป

    สำหรับคนไทยหรือคนเอเชียทุกเพศทุกวัย หากมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 หรือที่เรียกว่า น้ำหนักเกิน หรือมีปัจจัยเสี่ยงเบาหวานอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติ ไม่ออกกำลังกาย เป็นกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS) หรือ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวานก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้

    การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร

    การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (Fasting Plasma Glucose หรือ FPG) เป็นการตรวจวัดค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากงดเครื่องดื่มที่ให้พลังงานและอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยทั่วไปแล้วนิยมตรวจในช่วงเช้าก่อนที่ผู้เข้ารับการตรวจจะรับประทานอาหารเช้า โดยสามารถแปลผลได้ ดังนี้

  • ปกติ : ระดับน้ำตาลน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • เสี่ยงเป็นเบาหวาน/ภาวะก่อนเบาหวาน : ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน : มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม

    การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม (Random Blood Sugar Test หรือ RBS) เป็นการเจาะเลือดตรวจแบบไม่ระบุช่วงเวลา ผู้เข้ารับการตรวจจึงไม่จำเป็นต้องงดอาหาร และสามารถตรวจหลังรับประทานอาหารไปแล้วก็ได้ นอกจากนี้แล้วยังสามารถตรวจได้เองที่บ้านด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว หรือจะมาเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลได้เช่นเดียวกัน 

    หากระดับน้ำตาลที่ตรวจมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร รวมกับมีอาการของโรคเบาหวานหรือมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเช่น กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย สามารถแปลผลได้ว่า เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน

    อย่างไรก็ตามการตรวจน้ำตาลแบบสุ่ม เป็นเพียงการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานที่แม่นยำ ยังจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา