backup og meta

เบาหวานชนิดที่2 อาการ สาเหตุ การรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 23/02/2022

    เบาหวานชนิดที่2 อาการ สาเหตุ การรักษา

    เบาหวานชนิดที่2 เกิดจากการที่เซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลิน หรือร่างกายอาจผลิตอินซูลินได้ไม่ดีพอ ซึ่งอินซูลินทำหน้าที่ในการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย เมื่อเซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดีพอ ก็อาจส่งผลให้เซลล์รับน้ำตาลได้น้อยลง จนอาจทำให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูง และอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ โดยเบาหวานชนิดที่2 เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคเบาหวาน โดยอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี แต่เด็กที่เป็นโรคอ้วนก็อาจเป็นโรคเบาหวานชนิดที่2 ได้เช่นกัน

    เบาหวานชนิดที่2 คืออะไร

    เบาหวานชนิดที่2 เกิดจากการที่ร่างกายมีความบกพร่องในการควบคุมและใช้น้ำตาล โดยร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสไปเป็นพลังงานได้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนเลือด ระบบประสาท และภูมิคุ้มกัน

    ปกติแล้ว อินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากตับอ่อน มีหน้าที่ในการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน นำไปสร้างเป็นกล้ามเนื้อและเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย แต่หากเป็นโรคเบาหวานชนิดที่2 ร่างกายจะตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยลง จึงทำให้เซลล์ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ

    เบาหวานชนิดที่2 อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ควบคุมอาการและความรุนแรงของโรคได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงต้องใช้ยารักษาโรคเบาหวาน หรือการรักษาอินซูลินควบคู่ไปด้วย โรคเบาหวานชนิดที่2 อาจพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่เด็กที่เป็นโรคอ้วนก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่2 ได้เช่นกัน 

    อาการของเบาหวานชนิดที่2

    สำหรับอาการของเบาหวานชนิดที่2 อาจได้แก่

    • รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง
    • มองเห็นภาพซ้อน
    • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในช่วงตอนกลางคืน
    • กระหายน้ำตลอดเวลา
    • รู้สึกชาที่มือหรือเท้า
    • รู้สึกหิวตลอดเวลา
    • น้ำหนักลดลงแบบไม่ทราบสาเหตุ
    • แผลรักษาไม่หาย

    สาเหตุของเบาหวานชนิดที่2

    สาเหตุของเบาหวานชนิดที่2 อาจเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

    • น้ำหนักเกิน การมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนอาจทำให้เกิดการดื้อต่ออินซูลิน
    • ยีน นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า DNA ต่าง ๆ อาจส่งผลต่อการสร้างอินซูลินในร่างกาย
    • เซลล์ทำงานผิดปกติ ปัญหานี้อาจส่งผลต่อการสร้างและใช้อินซูลินหรือกลูโคสของเซลล์ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคเบาหวานได้
    • เบต้าเซลล์ (Beta Cells) ไม่สมบูรณ์ เบต้าเซลล์ มีหน้าที่ในการผลิตและหลั่งอินซูลิน หากเบต้าเซลล์ส่งอินซูลินในปริมาณที่ไม่ถูกต้องและไม่ตรงเวลา อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลง
    • กลูโคสจากตับ ปกติแล้วเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ตับจะสร้างและปล่อยกลูโคสออกมา และเมื่อรับประทานอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดอาจสูงขึ้น ตับก็จะสร้างและปล่อยกลูโคสออกมาช้าลง รวมถึงเก็บกลูโคสเอาไว้ใช้ แต่สำหรับผู้ที่มีการทำงานของตับผิดปกติ ทำให้ตับปล่อยกลูโคสออกมาเรื่อย ๆ จนเกินความจำเป็นของร่างกาย
    • ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลินมักมีกลุ่มอาการต่าง ๆ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และไตรกลีเซอไรด์สูง

    ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่2

    • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานชนิดที่2 
    • อายุมากกว่า 45 ปี
    • ไม่ออกกำลังกาย
    • พักผ่อนน้อยหรือนอนมากเกินไป
    • ความเครียด
    • สูบบุหรี่
    • กินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
    • น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
    • มีภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเบาหวาน ซึ่งหมายความว่า น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังสูงไม่ถึงเกณฑ์ที่จะวินิจฉัยเบาหวาน
    • มีประวัติการรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ 
    • ให้กำเนิดทารกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
    • มีภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ
    • เป็นโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง
    • มีภาวะความดันโลหิตสูง
    • มีภาวะซึมเศร้า
    • มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
    • ไตรกลีเซอไรด์สูง
    • ไขมันดี (HDL) มีระดับต่ำ 
    • ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอที่จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
    • เซลล์ในกล้ามเนื้อ ไขมัน และตับอ่อนดื้อต่ออินซูลิน อาจส่งผลให้รับน้ำตาลได้ไม่เพียงพอ

    การวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่2

    การวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่2 อาจทำได้ด้วยการตรวจเลือด รวมถึงอาจวินิจฉัยได้ด้วยการทดสอบต่าง ๆ เหล่านี้

    • Glycated hemoglobin (A1C) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องอดอาหาร อาจระบุน้ำตาลในเลือดเป็นเปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา หากระดับน้ำตาลในเลือดสูง นั่นอาจหมายความว่า ฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นตัวพาออกซิเจนในเซลล์เม็ดเลือดแดง มีน้ำตาลเกาะอยู่มาก ค่า A1C อาจแบ่งออกได้ดังนี้
      • ค่า A1C ต่ำกว่า 5.7% ถือว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ
      • ค่า A1C ระหว่าง 5.7%-6.4% อาจอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเบาหวาน
      • ค่า A1C 6.5% ขึ้นไป แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • Oral Glucose Tolerance Test (OGTT) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากที่อดอาหารข้ามคืน จากนั้นคุณหมอจะให้ดื่มสารละลายกลูโคส แล้วรอเวลาอีก 2 ชั่วโมง จึงวัดระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง 
    • ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าปกติ
    • ระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเบาหวาน
    • ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • Fasting Plasma Glucose (FPG) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่ต้องอดอาหาร โดยต้องไม่รับประทานอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนการวัดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งการวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยวิธีนี้อาจจะทำในตอนเช้า ก่อนรับประทานอาหารเช้า สำหรับค่าของการวัดระดับน้ำตาลในเลือดอาจแบ่งได้ดังนี้
    • ระดับน้ำตาลในเลือดขณะที่อดอาหารน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าปกติ
    • ระดับน้ำตาลในเลือดขณะที่อดอาหารตั้งแต่ 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเบาหวาน
    • ระดับน้ำตาลในเลือดขณะที่อดอาหาร 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือมากกว่า แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • การรักษาเบาหวานชนิดที่2

    การรักษาเบาหวานชนิดที่2 อาจเกี่ยวข้องกับการจัดการระดับน้ำตาลในเลือด หลายคนอาจรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร และจัดการความเครียด ให้สุขภาพดีขึ้น หรือบางคนอาจต้องรับประทานยาร่วมด้วย ซึ่งวิธีการรักษาเบาหวานอาจทำได้ดังนี้

    การดูแลตัวเอง

    แม้เบาหวานชนิดที่2 อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การดูแลตัวเองเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ซึ่งการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากเบาหวานชนิดที่2 อาจทำได้ดังนี้

    • วางแผนการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่อาหารที่มีไฟเบอร์ เพิ่มผักและผลไม้ลงในอาหาร  การเลือกอาหารที่มีไขมันน้อยเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดแคลอรี่ และควรงดคาร์โบไฮเดรตที่ขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว รวมถึงของหวาน
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ ประมาณ 30-60 นาที/วัน เช่น เดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ควบคู่กับการฝึกความแข็งแรง เช่น โยคะ ยกน้ำหนัก อาจช่วยลดปริมาณแคลอรี่ที่รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน ทั้งยังช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ สำหรับผู้ที่ใช้ยาที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือด อาจต้องรับประทานอาหารว่างก่อนออกกำลังกาย
    • ลดน้ำหนัก การลดน้ำหนักส่วนเกิน 7% และควบคุมน้ำหนัก อาจช่วยให้ควบคุมเบาหวานชนิดที่2 ได้
    • ทดสอบระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับการรักษา หากผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่2 ใช้อินซูลิน คุณหมออาจให้ต้องทดสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

    การรักษาด้วยยา

    คุณหมออาจให้รับประทานยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ซึ่งอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แม้เมทฟอร์มินอาจเป็นยาทางเลือกแรกสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่2 แต่มียารักษาเบาหวานอีกหลายกลุ่ม โดยคุณหมออาจสั่งจ่ายยาอื่น ๆ ซึ่งได้แก่

    • Alpha-Glucosidase Inhibitors ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลในทางเดินอาหาร เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นหลังจากที่เพิ่งรับประทานอาหาร 
    • GLP1 RA ฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มการหลั่งอินซูลิน เพื่อตอบสนองต่อกลูโคสและชะลอการดูดซึมกลูโคสในลำไส้
    • DPP-4 Inhibitors กลุ่มฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาล โดยยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) จากตับอ่อน และกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน
    • SGLT-2 Inhibitors ช่วยยับยั้งการปล่อยกลูโคสผ่านทางปัสสาวะ โดยชะลอการดูดซึมกลูโคสของไต
    • Sulfonylureas และ Meglitinides ช่วยกระตุ้นให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินมากขึ้น
    • Thiazolidinediones ช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลิน และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่

    ผ่าตัดลดน้ำหนัก

    การผ่าตัดลดน้ำหนัก อาจช่วยเปลี่ยนรูปร่างและการทำงานของระบบย่อยอาหาร การผ่าตัดนี้อาจช่วยลดน้ำหนัก จัดการกับโรคเบาหวานชนิดที่2 และภาวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 35 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเบาหวานหรือโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่การผ่าตัดชนิดนี้อาจต้องอาศัยความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงระยะยาว เช่น ภาวะขาดสารอาหาร โรคกระดูกพรุน

    การรักษาด้วยอินซูลิน

    การรักษาด้วยอินซูลินอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่2 หากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การใช้ยา หรือการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยคุณหมอจะเป็นผู้กำหนดว่า ควรใช้การรักษาด้วยอินซูลินเมื่อใด รวมถึงกำหนดประเภทของอินซูลิน ซึ่งปริมาณและตารางเวลาในการฉีดอินซูลินอาจเปลี่ยนแปลงตามระดับน้ำตาลในเลือด ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยอินซูลิน ได้แก่ ไตรกรีเซอไรด์สูง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 23/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา