backup og meta

10 อาการก่อนเป็นเบาหวาน ที่ควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    10 อาการก่อนเป็นเบาหวาน ที่ควรรู้

    อาการก่อนเป็นเบาหวาน เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (Prediabetes) ซึ่งจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่สูงถึงเกณฑ์เป็นโรคเบาหวาน โดยส่วนมากแล้วผู้มีภาวะก่อนเบาหวาน จะยังไม่มีอาการแสดงใด ๆ ที่ผิดปกติให้สังเกตหรือเป็นสัญญาณเตือน แต่หากละเลยหรือปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจส่งผลให้มีอาการเช่น หิวบ่อย กระหายน้ำ/ปัสสาวะบ่อย ดังนั้นผู้ที่มีความเสียงของโรคเบาหวานหรือมีภาวะก่อนเบาหวานแล้วจึงควรหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ หรือหากพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจละเอียดเพิ่มเติม

    10 อาการก่อนเป็นเบาหวาน ที่ควรรู้

    เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน โดยไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีอาการแสดงของโรคที่คล้ายกัน เนื่องมากจากอาการเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจากการที่ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจนถึงระดับหนึ่ง หรือ มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมานานเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ดังนั้นผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน หรือแม้จะเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวานแล้วแต่ยังมีระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่สูงมากนัก หรือเพิ่งเริ่มเป็น จึงมักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ให้เห็น หรือ เป็นสัญญานเตือนที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับการดูแลสุขภาพให้ดี จนมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้มีอาการผิดปกติได้ดังนี้

  • หิวมาก เมื่อปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึงระดับหนึ่ง จะส่งผลให้ตับอ่อนกลับผลิตอินซูลินบกพร่องมากขึ้น จึงยิ่งทำให้เซลล์ในร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักไปใช้เผาผลาญได้อย่างที่ควร ส่งผลให้ร่างกายขาดพลังงาน จึงทำให้รู้สึกหิวบ่อยมากกว่าปกติ
  • ความเหนื่อยล้า เมื่อร่างกายไม่ได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ จึงทำให้เกิดความเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ
  • ปัสสาวะบ่อย เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ จึงส่งผลให้มีอาการปัสสาวะบ่อย
  • กระหายน้ำ เป็นผลสืบเนื่องจากการปัสสาวะบ่อย สมองจึงกระตุ้นให้รู้สึกกระหายน้ำ เพื่อให้ดื่มทดแทนส่วนที่เสียไป ดังนั้นส่งผลให้รู้สึกกระหายน้ำมากขึ้นตามไปด้วย
  • ปากแห้งและคันตามผิวหนัง เนื่องจากเซลล์ผิวหนังและริมฝีปากสูญเสียความชุ่มชื้นจากที่ร่ากายเสียน้ำไป เนื่องมากจากปัสสาวะบ่อยขึ้น จึงทำให้ริมฝีปากแห้ง ผิวแห้ง และมีอาการคันระคายเคืองผิวหนังได้ง่ายขึ้น
  • ตาพร่ามัว เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของความเข้นข้นของของเหลวในร่างกาย ภายในเลนส์ตาจะมีส่วนที่เป็นของเหลวด้วยเช่นกัน จึงส่งผลให้เลนส์ตาบวมขึ้น ส่งผลให้การโฟกัสภาพผิดปกติไป
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับพลังงานจากกลูโคสอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ร่างกายเริ่มกระบวนการเผาผลาญไขมันและกล้ามเนื้อ จนทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
  • รู้สึกเสียวซ่าหรือชาปลายมือแลเท้า เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ทำให้เส้นประสาทเสียหาย จนอาจทำให้มีอาการเสียวซ่า ชา หรือบางรายอาจทำให้เกิดอาการปวดได้
  • ติดเชื้อง่ายขึ้น เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการจัดการกับเชื้อโรคจะบกพร่องไป ร่วมกับน้ำตาลเป็นอาหารของเชื้อโรคต่าง ๆ เช่นกัน จึงอาจทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้นและแผลหายได้ช้าลง
  • ผื่นเข้มที่ผิวหนัง ภาวะดื้อต่ออินซูลินอาจทำให้ผิวโดยเฉพาะที่บริเวณหลังคอ ข้อพับ ใต้วงแขน หรือขาหนีบ มีลักษณะเป็นปื้นหนา สีคล้ำ/ดำขึ้นได้
  • ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้มีอาการก่อนเป็นเบาหวาน

    ทุกคนสามารถเกิดภาวะก่อนเป็นเบาหวานได้หากมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้

    • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายอาจเสื่อมสภาพลง ส่งผลให้ตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน รวมถึงการทำงานขออวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายอาจมีประสิทธิภาพลดลง
    • ผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตร และผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตร  ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเข้าข่ายภาวะอ้วนลงพุง
    • ผู้ที่รับประทานอาหารแปรรูป ของทอด อาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูงเป็นประจำ  และไม่ค่อยรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ ผัก ถั่ว เมล็ดธัญพืช 
    • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน คือมีดัชนีมวลกายสูงกว่า 22.9  
    • มีระดับไขมันได้แก่ คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดสูง ไ หรือมีไขมันหน้าท้องสะสมปริมาณมาก
    • ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย หรือ มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary lifestyle) ผู้หญิงที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดทารกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
    • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับโรคเบาหวาน เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ มีปัญหาการนอนหลับ นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา