backup og meta

10 อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    10 อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

    โรคเบาหวาน คือ ภาวะเรื้อรังที่ผู้ที่เป็นโรคจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ส่งผลกระทบต่อนำน้ำตาลน้ำตาลซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายไปเผาผลาญเป็นพลังงาน หากเป็นเบาหวานแล้วควบคุมได้ไม่ดี ร่างกายจะไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลให้เป็นพลังงานได้ดีเท่าที่ควร จึงส่งผลทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา ซึ่งหลาย ๆ ท่าน อาจอยากทราบว่า อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีอะไรบ้าง เพื่อจะได้สังเกตตัวเองและสามารถรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ จะช่วยป้องกันโรคเบาหวานหรือบรรเทาอาการของโรคที่เกิดขึ้นได้

    10 อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

    อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 ชนิดที่ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีความคล้ายคลึงกันอยู่หลายอาการ ดังนี้

    • หิวและเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจนถึงระดับหนึ่ง ตับอ่อนเผลิตอาจทำงานบกพร่องกลับผลิตอินซูลินได้น้อยลง ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนหลักที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายนำน้ำตาลเข้าไปใช้เผาผลาญเป็นพลังงาน เมื่อร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้อาการหิวบ่อยและเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ
  • ปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำ เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ส่งผลทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น และทำให้รู้สึกกระหายน้ำบ่อยขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้ดื่มน้ำมาทดแทนน้ำที่สูญเสียไปจากปัสสาวะ
  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงานได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ร่างกายขาดพลังงานจนจำเป็นต้องเปลี่ยนมาเผาผลาญไขมันและกล้ามเนื้อเพื่อใช้เป็นพลังงานแทน ส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี มีน้ำหนักตัวลดลงแม้จะรู้สึกหิวบ่อย และไม่ได้ควบคุมอาหาร
  • ตาพร่ามัว เนื่องจากเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลให้ความเข้มข้นของสารน้ำและของเหลวในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ในเลนส์ตาจะมีส่วนที่เป็นของเหลวอยู่เช่นกัน จึงอาจทำให้เลนส์ตาบวมและเปลี่ยนแปลงรูปร่าง และส่งผลกระทบต่อการมองเห็น
  • แผลหายช้าและติดเชื้อง่าย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้ประสิทธิภาพของเซลล์เม็ดเลือดขาวในการจัดการกับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมบกพร่องไป อีกทั้งน้ำตาลที่สูงขึ้นยังเป็นแหล่งอาหารของเชื้อรา จึงทำให้เชื้อราเจริญเติบโตดีขึ้น ร่างกายอ่อนแอจนติดเชื้อได้ง่ายขึ้นและแผลหายช้าลง
  • ปากแห้งและผิวแห้ง เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้นจากการที่ต้องปัสสาวะเพิ่มขึ้น หากดื่มน้ำทดแทนได้ไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ จึงทำให้ปริมาณน้ำลายในช่องปากลดลงทำให้รู้สึกปากแห้ง นอกจากนี้เซลล์ผิวหนังและริมฝีปากสูญเสียความชุ่มชื้นจึงทำให้ผิวแห้ง คัน และ ริมฝีปากแห้งลอกได้
  • คลื่นไส้ อาเจียน เมื่อร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลมาเผาผลาญได้อย่างเหมาะสม จะหันมาเผาผลาญไขมันแทน ในกระบวนการเผาผลาญไขมันจะได้สารคีโตน ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด และหากร่างกายยังคงมีกระบวนการนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ  ก็อาจทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis หรือ DKA) ทำให้เกิดอาการไม่สบายท้องและมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะนี้นับเป็นภาวะแทรกซ้อนฉุกฉินที่อันตรายของโรคเบาหวาน 
  • คันอวัยวะเพศ เนื่องจากในปัสสาวะของผู้ป่วยเบาหวานอาจมีน้ำตาลที่ถูกขับร่วมด้วย หากทำความสะอาดไม่ดี อาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโต และนำไปสู่การติดเชื้อรา ซึ่งทำให้เกิดอาการคันที่อวัยวะเพศได้ หรือในผู้หญิงอาจมีอาการตกขาวได้ 
  • ปวดหรือชาบริเวณมือ เท้า หรือขา เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงจึงส่งผลให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย จึงทำให้การรับความรู้สึกผิดปกติไป จึงทำให้เกิดอาการชาและเจ็บปวดได้ขึ้น
  • ผื่่นสีดำ อาจมีผื่นเป็นปื้นหน้าสีน้ำตาล-ดำที่บริเวณคอ ข้อพับ ขาหนีบ และรักแร้ ซึ่งมีสาเหตุจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรือผู้ป่วยบางรายเป็นโรคอ้วนร่วมด้วย จึงอาจทำให้ผิวหนังเสียดสีกันมากขึ้นในบางบริเวณจนสีผิวเปลี่ยนไป
  • การดูแลตัวเองของผู้ป่วยเบาหวาน

    ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลตัวเองให้ดีอยู่อย่างสม่ำเสมอ รับประทานยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการบางอย่างได้ โดยสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เน้นรับประทานผัก ผลไม้ (ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ) ธัญพืช เนื่องจากอุดมไปด้วยเส้นใยสูง ซึ่งอาจช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้ นอกจากนี้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันดี วิตามินและเกลือแร่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน และควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลและไขมันสูง ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพ
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ช่วยลด/ควบคุมน้ำหนักนอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้สุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย
    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองเป็นประจำ โดยอาจทำการตรวจช่วงเก่อนและหลังรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ สลับ ๆ กัน และอาจตรวจช่วงก่อนนอน เพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดในชีวิตประจำวันซึ่งจะช่วยควบคุมการรับประทานอาหารได้ดียิ่งขึ้น
    • ใช้ยารักษาเบาหวานตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และไปพบคุณตามนัดหมายอยู่เสมอ เพื่อติดตามอาการและตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อให้ควบคุมเบาหวานได้ตามเป้าหมาย อันจะเป็นการป้องกันมิให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้น รวมถึงป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา