backup og meta

Diabetes (โรคเบาหวาน) คืออะไร มีสัญญาณเตือนและการป้องกันอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    Diabetes (โรคเบาหวาน) คืออะไร มีสัญญาณเตือนและการป้องกันอย่างไรบ้าง

    Diabetes เป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีวิธีรักษาที่สามารถควบคุมโรคให้ผู้ป่วยยังคงมีสุขภาพโดยรวมที่ดีได้ อีกทั้งยังมีวิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันหรือควบคุมโรคเบาหวาน รวมถึงลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง เช่น โรคปลายประสาทเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตและโรคเบาหวานขึ้นตา

    Diabetes คืออะไร

    Diabetes คือ หนึ่งในโรคเรื้อรังที่มีสาเหตุหลักมาจากการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักในการควบคุมความสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด โดยอินซูลินจะกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายนำน้ำตาลไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน โดยในตับอ่อนจะมีเซลล์ชนิดเบต้า (Beta Cells) ที่มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน หากตับอ่อนผิดปกติและไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินให้เพียงพอ หรือการจัดการกับน้ำตาลของเซลล์ในร่างกายผิดปกติไป จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะก่อนเบาหวานและโรคเบาหวานได้

    โรคเบาหวานสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคร่าว ๆ ดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าโจมตีและทำลายเซลล์ตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน จึงทำให้ร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตามมา
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดเซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า ภาวะดื้ออินซูลิน จึงทำให้เเม้ตับอ่อนจะผลิตอิซูลินได้ตามปกติเเต่ก็มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเพิ่มขึ้น
  • เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากฮอร์โมน HPL (Human placental lagtogen) ที่สร้างจากรก รวมถึงฮอร์โมนชนิดอื่น ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นขณะตั้งครรภ์ มีฤทธิ์ต้านกับอินซูลิน จึงส่งผลให้เซลล์ในร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลินชั่วคราว และทำให้เกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานประเภทนี้สามารถหายได้เองหลังจากคลอดบุตร เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวลดลงกลับสู่ระดับปกติ
  • สัญญาณเตือนของ Diabetes

    สัญญาณเตือนของ Diabetes อาจมีดังต่อไปนี้

    • กระหายน้ำมากและถ่ายปัสสาวะบ่อย ปกติแล้วคนทั่วไปมักถ่ายปัสสาวะ 4-7 ครั้ง/วัน แต่เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ และเป็นการเสียน้ำออกจากร่างกาย ดังนั้น สมองจึงกระตุ้นให้รู้สึกกระหายน้ำเพื่อให้ดื่มน้ำทดเเทน
    • ผิวและริมฝีปากแห้ง เกิดจากภาวะร่างกายขาดน้ำเนื่องจากถ่ายปัสสาวะบ่อย เเละดื่มน้ำทนเเทนไม่เพียงพอ จึงทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น ส่งผลให้ริมฝีปากและผิวหนังแห้ง และมีอาการคันระคายเคืองผิว
    • ตาพร่ามัว ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา ซึ่งหากไม่รักษาอาจเสี่ยงเกิดภาวะจอประสาทตาบวม มองเห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว และนำไปสู่ภาวะตาบอดได้
    • เหนื่อยล้า เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลาหนึ่ง นอกจากจะทำให้เสียน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะ จนอาจเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำแล้ว การที่ร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม ยังทำให้ร่างกายขาดพลังงาน จึงเกิดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย 
    • ปลายมือและเท้าชา เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงทำให้หลอดเลือดและเส้นประสาทส่วนปลายเสียหาย เช่น เส้นประสาทที่เลี้ยงบริเวณปลายมือเเละเท้า ส่งผลให้เกิดอาการชา หรือในบางรายมีอาการปวดแสบหรือเสียวซ่าที่บริเวณปลายมือและปลายเท้า
    • น้ำหนักลดลง ปกติแล้วอินซูลินจะทำหน้าที่ดึงน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน แต่ในผู้ที่ปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากระดับหนึ่ง จนเกิดภาวะที่ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานได้อย่างเพียงพอ อาจทำให้ร่างกายจำเป็นต้องเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทน จึงส่งผลให้น้ำหนักลดลงได้

    การป้องกัน Diabetes และลดความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน

    สามารถป้องกันโรคเบาหวานและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้ด้วยการดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ผักใบเขียว แตงกวา ฟัก กะหล่ำดอก มะเขือเทศ ส้ม กล้วย ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อัลมอนด์ ถั่วลิสง ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต รวมทั้งเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำเเละมีไขมันดีเป็นส่วนประกอบ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ปลาทู อกไก่ ซึ่งจะช่วยควบคุมน้ำหนักและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ได้ดีขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแป้ง ไขมันและน้ำตาลสูง เช่น ของทอด ขนมหวาน เบเกอร์รี่ เค้ก โดนัท คุกกี้ ไอศกรีม เนื้อสัตว์/หนังสัตว์ติดมัน อาหารเเปรรูป เช่นไส้กรอก เบคอน ขนมปังขาว ข้าวขาว มันฝรั่ง รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล เช่น เบียร์ ไวน์ โซจู น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลเเละไขมันในเลือดสูงและเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานตามมาได้
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ เเนะนำให้ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือ 150 นาที/สัปดาห์ เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ทำงานบ้าน พาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น ซึ่งนอกจากจะช่วยเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกินเเล้วยังช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายสามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น 
    • เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่มีสารพิษที่ส่งผลทำลายเซลล์ในร่างกาย รวมทั้งนำไปสู่การเกิดภาวะดื้ออินซูลิน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน รวมถึงโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด โรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง
    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ จะทำให้ทราบว่ากำลังเสี่ยงเป็นเบาหวานอยู่หรือไม่ เพราะหากอยู่ในภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงระยะเริ่มต้น หรือระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่มาก จะยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ให้สังเกตได้ นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพประจำปียังเป็นการตรวจคัดกรองโรค เพื่อให้สามารถตรวจพบโรคตั้งเเต่ระยะแฝงและทำการรักษาได้ตั้งเเต่เนิ่น ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา