backup og meta

Diabetes Mellitus คือ โรคอะไร อันตรายหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

    Diabetes Mellitus คือ โรคอะไร อันตรายหรือไม่

    Diabetes Mellitus บางครั้งเรียกสั้น ๆ เพียง Diabetes หมายถึง โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง โดยผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากร่างกายมีความผิดปกติเกี่ยวกับการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ร่างกายมักผลิตอินซูลินได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ทั้งนี้ หากเป็นเบาหวานและไม่พยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ อาทิ โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวานขึ้นตา ปัญหาการได้ยิน ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว

    Diabetes Mellitus คือ โรคอะไร

    Diabetes Mellitus คือ โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือเกินกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เนื่องจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินซึ่งมีหน้าที่ลำเลียงน้ำตาลสู่เซลล์อวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้น้ำตาลสะสมอยู่ในกระแสเลือดจนสูงขึ้นเรื่อย ๆ

    นอกจากนี้ เบาหวานยังเกิดได้จากภาวะดื้ออินซูลิน หรือการที่ร่างกายผลิตอินซูลินได้ตามปกติ แต่เซลล์ในร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ ตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินมากขึ้น เพื่อช่วยให้เซลล์ในร่างกายได้รับน้ำตาลอย่างเพียงพอ เมื่อตับอ่อนทำงานหนักมากขึ้นก็ส่งผลให้ตับอ่อนเสียหายจนกระทั่งผลิตอินซูลินได้น้อยลง ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และกลายเป็นโรคเบาหวานในที่สุด

    โดยทั่วไป อาการที่พบได้เมื่อเป็นเบาหวาน ประกอบด้วย กระหายน้ำ มือหรือเท้าชา รู้สึกหมดแรง ติดเชื้อง่าย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด ปากแห้ง สายตาพร่ามัว

    ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทย คิดเป็น 4.8 ล้านคนโดยประมาณ ตามข้อมูลของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2562 และในอีก 20 ปีข้างหน้า ทางสมาคมฯ คาดว่า จะมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.3 ล้านคนในปี พ.ศ. 2583

    ชนิดของ Diabetes Mellitus

    โรคเบาหวานมี 3 ชนิด ดังนี้

    • เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเบาหวานชนิดที่ 1 มักพบในเด็กและวัยรุ่นมากกว่าในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 4-7 ปี และ 10-14 ปี นอกจากนี้ เบาหวานชนิดที่ 1 สามารถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือจากพ่อแม่ไปสู่ลูกได้
    • เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด หรือราว 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเพียงพอ หรือเกิดภาวะดื้ออินซูลินของเซลล์ในร่างกาย โดยทั่วไป กลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนจนถึงสูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน รวมถึงผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคเบาหวาน
    • เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากภาวะดื้ออินซูลินของเซลล์ในร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รกสร้างฮอร์โมนฮิวแมนพลาเซนต้าแลกโตรเจน (Human placental lactogen-hPL) ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอินซูลิน เบาหวานขณะตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ และมักหายไปเองหลังคลอด อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจเพิ่มโอกาสเสียชีวิตให้ทารก ในช่วงก่อนหรือหลังคลอด รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้ด้วย

    ทั้งนี้ ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หรือระหว่าง 70-99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่ยังไม่ถึง 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะหมายถึง กำลังเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน โดยคนกลุ่มนี้ควรดูแลตัวเอง ด้วยการออกกำลังกาย ลดอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาล และหลีกเลี่ยงการนอนดึก เพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2

    ภาวะแทรกซ้อนของ Diabetes Mellitus

    ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือต่ำกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร มักพบภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ ซึ่งมักจะรุนแรงและอาจทำให้สูญเสียสุขภาวะได้

  • ความผิดปกติของเส้นประสาท ระดับน้ำตาลในเลือดสูง สามารถทำให้ผนังของเส้นเลือดฝอย ซึ่งทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย โดยอาการที่พบบ่อยประกอบด้วย อาการชาหรือเจ็บปวด บริเวณปลายนิ้วมือหรือนิ้วเท้า นอกจากนี้ หากเส้นประสาทในหูชั้นในซึ่งทำงานร่วมกับสมองได้รับความเสียหาย ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงเกิดปัญหาการได้ยิน หรือสูญเสียการได้ยินในท้ายที่สุด
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มักทำให้หลอดเลือดและเส้นประสาทซึ่งควบคุมการทำงานของหัวใจเสียหายได้ และเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วยเบาหวานเป็นโรคต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหัวใจวาย โดยโรคเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
  • ภาวะเบาหวานขึ้นตา เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน หรือเกิดซ้ำหลายครั้ง หลอดเลือดของจอตาจะได้รับความเสียหาย จนอาจมีเลือดรั่วซึมออกมา หากไม่รีบรักษาจะ ส่งผลต่อการมองเห็น ได้แก่สายตาพร่ามัว มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำเบื้องหน้า มองเห็นตอนกลางคืนได้ลำบาก หรืออาจตาบอดได้ในที่สุด
  • โรคไตจากเบาหวาน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จะสร้างความเสียหายให้กับหลอดเลือดฝอยของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งไตด้วย โดยปกติไตจะทำหน้าที่กรองของเสียจากกระแสเลือด หากไตทำงานผิดปกติ จะทำให้มีโปรตีนปนเปื้อนในปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานปัสสาวะบ่อยหรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้
  • นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวาน ยังเสี่ยงมีภาวะซึมเศร้า ทั้งจากการที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อาจทำให้ไม่ได้ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ การที่ต้องรับประทานยาหลายขนานซึ่งอาจทำให้รู้สึกกดดันในการที่ต้องดูแลตนเองให้รับประทานยาจนครบและต่อเนื่อง รวมทั้งการควบคุมอาหารเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด อาจทำให้ไม่ได้รับประทานของที่ชอบ เหล่านี้อาจเป็นผลให้อารมณ์ไม่ดี เครียด หรือซึมเศร้าได้

    Diabetes Mellitus ป้องกันได้หรือไม่

    เพื่อป้องกันความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน บุคคลทั่วไปและผู้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ เพราะมีเส้นใยสูง ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างมื้ออาหาร
    • ออกกำลังกายประมาณ 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อควบคุมน้ำหนัก ป้องกันโรคอ้วน กำจัดน้ำหนักส่วนเกิน ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคอ้วนมักมีแนวโน้มเกิดภาวะดื้ออินซูลิน และมีความเสี่ยงสูงเป็นโรคเบาหวาน
    • นอนหลับให้เพียงพอ หรือระหว่าง 7-9 ชั่วโมง เพราะการนอนดึกจะทำให้ร่างกายเกิดความต้องการรับประทานอาหารประเภทแป้งหรือน้ำตาล ซึ่งส่งผลทำให้ระดับน้ำในเลือดสูงได้ง่าย เสี่ยงเป็นเบาหวานมากขึ้น
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ผู้หญิงควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือประมาณ 1.6 ลิตรต่อวัน และผู้ชายควรดื่มน้ำอย่างน้อย 10 แก้วหรือประมาณ 2 ลิตรต่อวัน โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานเนื่องจากอาจเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา