backup og meta

Metabolic Syndrome คือ อะไร เกี่ยวกับโรคเบาหวานอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    Metabolic Syndrome คือ อะไร เกี่ยวกับโรคเบาหวานอย่างไร

    Metabolic Syndrome คือ เมแทบอลิกซินโดรมซึ่งเป็นกลุ่มของอาการหรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่เกิดจากระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์สูง ความดันโลหิตสูง ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะดื้ออินซูลิน และเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นป้องกันมิให้เกิดภาวะเมเเทบอลิกซินโดรมรวมไปถึงโรคแทรกซ้อน ได้แก่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

    Metabolic Syndrome คือ อะไร

    ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม หมายถึง กลุ่มของอาการหรือปัญหาสุขภาพที่เกิดจากระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติไป ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

    ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าเกณฑ์วินิจฉัยว่ามีภาวะเมแทบอลิกซินโดรม คือ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอย่างน้อย 3 ใน 5 ข้อต่อไปนี้

  • ขนาดรอบเอวใหญ่ หรือมากกว่า 40 นิ้วในผู้ชาย และมากกว่า 32 นิ้วในผู้หญิง
  • มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือ สูงตั้งเเต่ 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตรเป็นต้นไป หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานเเล้ว
  • ความดันโลหิตสูง หรือตั้งแต่ 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป หรือ ได้รับยารักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง คือ สูงตั้งเเต่ 150 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เป็นต้นไป
  • ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีหรือเอชดีแอล (HDL) ต่ำ หรือน้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ชาย และน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้หญิง
  • เมแทบอลิกซินโดรม มีสาเหตุมาจากอะไร

    ปัจจุบันนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของภาวะเมแทบอลิกซินโดรม แต่อาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

    • ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินบกพร่องไป โดยที่ฮอร์โมนอินซูลินนี้จะถูกสร้างเเละหลั่งจากตับอ่อน เพื่อมาควบคุมระดับน้ำตาลในกระเเสเลือด เมื่อเซลล์เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ตับอ่อนจึงต้องพยามผลิตอินซูลินมากขึ้นเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ตามปกติ และเมื่อตับอ่อนทำงานหนักขึ้น จึงเกิดความเสียหายจนผลิตอินซูลินน้อยลงในที่สุด ส่งผลระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานในที่สุด ทั้งนี้ ภาวะดื้ออินซูลินสัมพันธ์กับอาการต่าง ๆ ของภาวะเมแทบอลิกซินโดรม จึงอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Insulin Resistance Syndrome
    • โรคอ้วนลงพุง หรือผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือรูปร่างอ้วนที่ชั้นไขมันเด่นมาสะสมบริเวณช่องท้องมากกว่าส่วนอื่น ๆ (Central Obesity) อาจเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย ทั้ง พันธุกรรม พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี เช่น ไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารจำพวกไขมันสูงหรือน้ำตาลสูง ทั้งนี้ ชั้นไขมันในช่องท้องจะเปลี่ยนเป็นกรดไขมันอิสระส่งผลให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอล LDL ซึ่งเป็นไขมันเลวเพิ่มขึ้น และมีคอเลสเตอรอล HDL ซึ่งเป็นไขมันดีลดลง เเละยังทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติไปอีกด้วย
    • วัย เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ประสิทธิภาพของระบบต่าง ๆ ในร่างกายอาจทำงานผิดปกติไป รวมทั้งระบบเผาผลาญที่อาจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนเก่า ทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญพลังงานได้ตามปกติ จึงมีพลังงานส่วนเกินที่สะสมในรูปแบบไขมันเพิ่มมากขึ้น และนำไปสู่ภาวะเมแทบอลิกซินโดรมได้
    • พันธุกรรม ผู้ที่มีภาวะนี้อาจมียีนส์บางกลุ่มที่ทำให้เสี่ยงในการเกิดโรคได้ง่ายกว่าผู้อื่น

    Metabolic Syndrome รักษาได้อย่างไร

    โดยทั่วไปแล้ว นอกจากการรับประทานยา คุณหมอจะเน้นการรักษาที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของการเกิดภาวะเมแทบอลิกซินโดรม โดยการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งยังช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง สำหรับการปรับพฤติกรรมสุขภาพมีเเนวทางเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  • ลดน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน เเนะนำให้ลดน้ำหนักลง ซึ่งการลดน้ำหนักได้อย่างน้อย 7 – 10 เปอร์เซ็นต์ สามารถช่วยกระตุ้นให้เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ลดความดันโลหิต และลดไขมันพอกตับได้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เเนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาที/วัน หรือ 150 นาที/สัปดาห์ อาจเป็นการออกกำลังที่มีความเหนื่อยระดับปานกลางเช่น การเดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ  หรือปั่นจักรยาน เพื่อลดน้ำหนัก ลดความดันโลหิตและลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์
  • เลิกสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่ส่งผลเเง่ลบต่อร่างกาย ทำให้ต่อเซลล์หลาย ๆ ชนิดทำงานผิดปกติไป ไม่ว่าจะเป็น ตอบสนองต่ออินซูลินแย่ลงหรือทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มขึ้น และทำให้หลอดเลือดเสื่อม เสี่ยงต่อการตีบหรืออุดตัน เป็นสาเหตุให้เลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่สะดวก
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืชเต็มเมล็ด และหลีกเลี่ยงอาหารเเปรรูป อาหารรสจัด อาหารที่มีน้ำตาลสูงเเละไขมันสูง เนื่องจากจะทำให้ระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด รวมทั้งระดับความดันโลหิต เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย
  • Metabolic Syndrome ป้องกันได้อย่างไร

    ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม อาจป้องกันได้ด้วยการออกดูเเลสุขภาพเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด และเนื้อสัตว์ไม่ติดมันเป็นหลัก หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารรสจัด รวมทั้งอาหารที่มี ไขมันอิ่มตัว เช่น เนย มายองเนส น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู มันฝรั่งทอด
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • งดสูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกฮออล์เเต่พอดี
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา