backup og meta

น้ำตาเทียม วิธีใช้ และผลข้างเคียงที่ควรรู้


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 22/09/2021

    น้ำตาเทียม วิธีใช้ และผลข้างเคียงที่ควรรู้

    น้ำตาเทียม เป็นยาหยอดตาที่นำมาใช้หล่อลื่นลูกตา ในกรณีที่ต่อมน้ำตาในร่างกายผลิตน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการตาแห้ง ระคายเคือง จนนำไปสู่การมองเห็นเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้การใช้น้ำตาเทียมอาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กระจกตา ป้องกันการติดเชื้อ และทำให้การมองเห็นสิ่งรอบตัวได้ชัดเจนมากขึ้น

    น้ำตาเทียม คืออะไร

    น้ำตาเทียม คือ สารละลายสำหรับหยอดตาที่มีส่วนประกอบของสารคาร์บอกซีเซลลูโลส (CMC) เด็กซ์แทรน (Dextran) กลีเซอรีน (Glycerin) ไฮโพรเมโลส (Hypromellose) โพลิเอทิลีน ไกลคอล (พีอีจี400) พอลิซอร์เบต (Polysorbates) ชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่ภายใน เพื่อช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้น และช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับดวงตาเนื่องจากตาแห้ง เช่น ระคายเคืองตา ตาแดง ตาพร่า ซึ่งภาวะตาแห้งอาจเกิดจากอายุที่มากขึ้น การใส่คอนแทกเลนส์ การใช้สายตามากเกินไป ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด ปัญหาสุขภาพบางประการ การผ่าตัดดวงตา หรือปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นควัน อากาศเข้าดวงตาจากสภาวะลมแรง

    ชนิดของน้ำตาเทียม

    • น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสีย

    น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสียประกอบด้วย เบนซัลโคเนียม คลอไรด์ (Benzalkonium Chloride หรือ BKC) จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโต คนส่วนใหญ่สามารถใช้น้ำตาเทียมแบบมีสารกันเสียได้อย่างปลอดภัย แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคตาแห้งรุนแรงที่จำเป็นต้องหยอดน้ำตาเทียมบ่อย หากใช้น้ำตาเทียมชนิดนี้อาจส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรง หรือภาวะเป็นพิษ และทำให้อาการแย่กว่าเดิมได้ หากใครแพ้สารกันเสียที่ใส่ในน้ำตาเทียม หรือไม่แน่ใจว่าจะตนเองแพ้หรือไม่ อาจควรเลี่ยงไปใช้น้ำตาเทียมชนิดอื่นแทน

    น้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสีย

    น้ำตาเทียมที่ไม่ใส่สารกันเสียจะมีสารเคมีในปริมาณน้อยกว่า และจะมาในลักษณะหลอดเล็ก ๆ ที่มีปริมาณเพียงพอสำหรับใช้งานในหนึ่งวัน น้ำตาเทียมชนิดไม่มีสารกันเสียเหมาะกับผู้ที่ต้องใช้น้ำตาเทียมติดต่อกันเกิน 4 วัน ผู้ที่มีปัญหาตาแห้งในระดับปานกลาง จนถึงระดับรุนแรง

    • น้ำตาเทียมที่มีสารเคลือบตา

    น้ำตาเทียมชนิดนี้มีสารที่เรียกว่า Hydroxypropyl-guar (HP-guar) ซึ่งมีลักษณะคล้ายเจล และอาจทำให้ตาพร่ามัวในช่วงแรกที่หยอด แต่สารนี้อาจช่วยให้น้ำตาเทียมสามารถเคลือบตาได้นานขึ้น ทำให้เซลล์ลูกตาชุ่มชื้นขึ้น จึงอาจลดความเสี่ยงในการเกิดอาการตาแห้งจนเซลล์ลูกตาระคายเคือง หรือเสียหายได้

    • น้ำตาเทียมที่มีน้ำมัน

    น้ำตาเทียมที่ประกอบด้วยน้ำมัน เช่น น้ำมันละหุ่ง น้ำมันแร่ อาจช่วยปรับระดับของน้ำมันที่อยู่ในน้ำตาให้สมดุล เพราะหากในน้ำตามีน้ำมันน้อยเกินไปจะทำให้น้ำตาระเหยเร็วกว่าปกติ จนตาแห้ง และระคายเคือง หรืออาจทำให้เกิดโรคตา เช่น เปลือกตาอักเสบ ภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ

    วิธีใช้น้ำตาเทียมที่ถูกต้อง

    ขั้นตอนการใช้น้ำตาเทียม มีดังนี้

    1. ล้างมือให้สะอาด และเช็ดมือให้แห้ง
    2. เงยหน้าเล็กน้อย ใช้นิ้วชี้ดึงเปลือกตาล่างลงมาให้เป็นกระเปาะ หรือช่องที่รองรับน้ำยาหยอดเวลาหยด
    3. บีบน้ำตาเทียม 1-2 หยดลงในกระเปาะตาล่าง อย่าให้ปลายหลอดน้ำตาเทียมโดนนิ้ว ดวงตา หรือพื้นผิวอื่น ๆ
    4. หลับตาช้า ๆ สัก 2-3 วินาที ให้น้ำตาเทียมเคลือบทั่วผิวลูกตา
    5. ล้างมือให้สะอาดอีกครั้ง

    สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ควรถอดออกก่อนที่จะหยอดตา และรออย่างน้อย 15 นาที หลังจากหยอดยาหยอดตา จึจะสามารถใส่คอนแทคเลนส์กลับเข้าไปดังเดิม

    ผลข้างเคียงของการใช้น้ำตาเทียม

    ผลข้างเคียงจากการใช้น้ำตาเทียม มีดังนี้

    • ระคายเคืองตา ตาแดง เจ็บตา ตาพร่ามัว
    • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง
    • ปฏิกิริยาภูมิแพ้  เช่น หน้าบวม ปากบวม หรือลิ้นบวม ผื่นผิวหนัง อาการคัน ลมพิษ

    หากใช้น้ำตาเทียมแล้วอาการตาแห้งแย่ลง หรือเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวนานเกิน 72 ชั่วโมง ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที

    วิธีเก็บรักษาน้ำตาเทียม

    ควรเก็บน้ำตาเทียมไว้ที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส และไม่ควรนำน้ำตาเทียมไปแช่แข็ง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า เมื่อเปิดน้ำตาเทียมแล้ว ไม่ควรใช้งานเกิน 30 วัน และหากหมดอายุควรทิ้งในทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 22/09/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา