backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เชื้อราที่เล็บ อาการ สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และวิธีรักษารักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

เชื้อราที่เล็บ อาการ สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และวิธีรักษารักษา

เชื้อราที่เล็บ เกิดจากการเจริญเติบโตของเชื้อราบนเล็บ สังเกตได้จากเล็บที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาว หรือสีเหลือง ปลายเล็บหนาขึ้น และเล็บอาจมีรูปร่างผิดปกติ เกิดขึ้นได้ทั้งเล็บมือและเล็บเท้า อาจเป็นแค่เล็บเดียว หรือหลายเล็บก็ได้ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในผู้สูงอายุ

คำจำกัดความ

เชื้อราที่เล็บ คืออะไร 

เชื้อราที่เล็บ (Onychomycosis) หมายถึง การติดเชื้อรา หรือเชื้อยีสต์บริเวณเล็บมือหรือเล็บเท้า แต่พบมากบริเวณเล็บเท้า เพราะเสี่ยงต่อการเปียกหรือชื้นได้มากกว่า เช่น เมื่อสวมรองเท้าเปียก ๆ เล็บที่ติดเชื้อราจะมีสีเปลี่ยนไป เล็บหนาขึ้น มีขุยใต้เล็บ และอาจเป็นโพรงหรือช่องว่างใต้เล็บ

ประเภทของเชื้อราที่เล็บ

เชื้อราที่เล็บอาจแบ่งประเภทได้ ดังนี้ 

  • Distal Subungual Onychomycosis (DSO) เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดจากการติดเชื้อราเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) ทำให้เล็บมีสีขาว หรือสีเหลืองอมน้ำตาล เนื้อเล็บอาจหนาขึ้น จนเล็บยกหรือนูนขึ้นมา 
  • White Superficial Onychomycosis (WSO)  พบได้น้อยกว่าเชื้อราที่เล็บชนิด DSO เป็นการติดเชื้อราบริเวณแผ่นเล็บด้านบน มักเกิดจากการติดเชื้อ T. mentagrophytes ทำให้เล็บมีลักษณะเป็นขุยขาว ๆ หากเชื้อราลุกลามอาจทำให้เล็บขรุขระ ไม่เรียบเนียน เปราะบาง 
  • Candidal Onychomycosis เป็นการติดเชื้อราแคนดิด้า มักพบในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการที่สังเกตได้คือ บริเวณผิวหนังรอบเล็บหรือขอบเล็บบวมแดง ระคายเคือง รูปร่างของเล็บขรุขระ ไม่เรียบเนียน 
  • Proximal subungual onychomycosis (PSO) ประเภทการเกิดเชื้อราที่เล็บที่พบได้ไม่บ่อย โดยเชื้อราจะกระจายจากโคนเล็บไปยังปลายเล็บ โรคนี้อาจพบได้ในผู้ป่วยเอดส์ และอาจเป็นอาการของการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ระยะเริ่มต้น 

เชื้อราที่เล็บพบได้บ่อยแค่ไหน 

เชื้อราที่เล็บพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และมักเกิดขึ้นบริเวณเล็บเท้า อย่างไรก็ตาม เชื้อราที่เล็บสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยเล็บที่เป็นเชื้อรามักเกิดขึ้นประมาณ 1-3 เล็บ

อาการ

อาการของเชื้อราที่เล็บ

เชื้อราที่เล็บอาจสังเกตได้จากอาการ ดังนี้ 

  • สีของเล็บเปลี่ยนแปลง เช่น มีสีเหลือง สีขาว
  • ลักษณะของเล็บผิดปกติ ไม่เป็นรูปทรง บิดเบี้ยว 
  • เล็บเปราะบาง แตกหักได้ง่าย 
  • เล็บแยกตัวออกมาจากฐานเล็บ หรือเล็บหลุด 
  • เล็บเป็นโพรงหรือมีช่องว่างใต้เล็บ ร่วมกับมีขุย
  • เล็บมีกลิ่นค่อนข้างเหม็น 

ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่

หากอาการที่กล่าวมาข้างต้นรุนแรงมากขึ้น หรือผู้ป่วยเบาหวานสงสัยว่าอาจเป็นเชื้อราที่เล็บ ควรไปพบคุณหมอทันที

สาเหตุ

สาเหตุของการเกิดเชื้อราที่เล็บ

เชื้อราที่มักก่อให้เกิดการติดเชื้อราที่เล็บ คือ เชื้อราเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) โดยการติดเชื้อราอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเชื้ออาจลุกลามไปยังบริเวณเล็บเท้าได้ หรือการติดเชื้อจากผู้อื่นผ่านการใช้ของร่วมกัน เช่น ถุงเท้า รองเท้า รวมถึงอายุที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เล็บเปราะบาง มีรอยแตก ซึ่งอาจส่งผลให้เชื้อราเข้าไปในเล็บ และเจริญเติบโตจนทำให้เล็บติดเชื้อได้ นอกจากนี้ หากเลือดไหลเวียนไม่ดี หรือ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ก็อาจทำให้เกิดเชื้อราที่เล็บได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเชื้อราที่เล็บ 

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเชื้อราที่เล็บ เช่น 

  • อายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 
  • ติดเล็บปลอมเป็นประจำ 
  • เคยเป็นโรคสะเก็ดเงิน โรคน้ำกัดเท้า 
  • เดินเท้าเปล่าในบริเวณที่เปียกชื้น เช่น บริเวณสระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำ 
  • มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ 
  • รับประทานยาฆ่าเชื้อติดต่อกันเป็นเวลานาน

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

การวินิจฉัยและการรักษาเชื้อราที่เล็บ 

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเชื้อราที่เล็บ 

คุณหมออาจวินิจฉัยโดยการตรวจสอบว่าเล็บเปลี่ยนสีหรือไม่ และมีอาการต่าง ๆ ที่อาจบ่งชี้ว่าเป็นเชื้อราที่เล็บหรือเปล่า โดยอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การขูดขุยจากเล็บไปตรวจหาเชื้อราด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการ หากคุณหมอวินิจฉัยว่าติดเชื้อราที่เล็บ และทราบชนิดของเชื้อแล้ว ก็จะรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป 

การรักษาเชื้อราที่เล็บ 

วิธีรักษาเชื้อราที่เล็บอาจมีดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาทาเฉพาะที่ เช่น เอฟินาโคนาโซล (Efinaconazole) ซึ่งวิธีนี้จะได้ผลดีเมื่อเชื้อราที่เล็บยังไม่ลุกลามมากนัก และเชื้อรายังไม่ลามไปถึงโคนเล็บ ควรทายาเฉพาะที่อย่างสม่ำเสมอ จนกว่าเล็บจะกลับมาเป็นสีปกติ 
  • รับประทานยา เช่น เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ในบางกรณี อาจจำเป็นต้องรับประทานยาต่อเนื่องหลายเดือน จนกว่าอาการของเล็บที่ติดเชื้อราจะดีขึ้น 
  • รักษาด้วยแสงเลเซอร์ เป็นวิธีการใหม่ที่มีผลการศึกษาชี้ว่าอาจรักษาเชื้อราที่เล็บได้ผลดีและปลอดภัย
  • ถอดเล็บ ใช้ในกรณีที่ติดเชื้อราที่เล็บอย่างรุนแรงจนรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ปกติจะใช้ร่วมกับการทายาหรือรับประทานยาฆ่าเชื้อรา หลังถอดเล็บอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือร่วมปีกว่าจะหายติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แม้จะรักษาการติดเชื้อราที่เล็บจนหายดีแล้ว ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก  

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง 

การปรับไลฟ์สไตล์เหล่านี้อาจช่วยป้องกันการเกิดเชื้อราที่เล็บได้ 

  • ล้างมือและเท้าให้สะอาด และเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับเล็บที่ติดเชื้อ
  • ตัดเล็บให้สั้น และควรทำความสะอาดอุปกรณ์ดูแลเล็บทุกครั้งทั้งก่อนและหลังใช้งาน 
  • สวมรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่คับแน่นเกินไป และไม่สวมถุงเท้าหรือรองเท้าที่เปียกและอับชื้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว รองเท้า ถุงเท้า กรรไกรตัดเล็บ 
  • หลีกเลี่ยงการติดเล็บปลอมบ่อย ๆ และควรเลือกร้านทำเล็บที่สะอาดปลอดภัย ได้มาตรฐาน
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในบริเวณที่เปียกชื้น เช่น ห้องอาบน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ ห้องอบไอน้ำ 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา