backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

กลาก อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 04/03/2023

กลาก อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน

กลาก (Dermatophytosis หรือ Ringworm) คือ โรคผิวหนังติดเชื้อชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อรา เนื่องจากเซลล์ผิวหนังชั้นนอกที่ตายแล้วสะสมอยู่บนผิวหนังจนหมักหมมและติดเชื้อรา ส่งผลให้ผิวลอกเป็นวงสีขาวชัดเจน พร้อมมีผื่นแดง มีอาการคัน ขนร่วง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของกลาก อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้

คำจำกัดความ

กลาก คืออะไร

โรคกลาก (Dermatophytosis หรือ Ringworm) คือ โรคผิวหนังติดเชื้อชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อรา เนื่องจากเซลล์ผิวหนังชั้นนอกที่ตายแล้วสะสมหมักหมมกันจนเกิดเชื้อรา และส่งผลให้ผิวลอกเป็นวงสีขาวชัดเจน พร้อมกับมีอาการผื่นแดง และอาการทางผิวหนังอื่น ๆ ร่วมด้วย

กลากสามารถพบได้ทั่วทั้งร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง หนังศีรษะ หรือว่าเล็บ อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจสับสนระหว่าง กลากกับเกลื้อน เนื่องจากเป็นโรคผิวหนังจากเชื้อราเหมือนกันทั้งสองชนิด แต่โรคกลากจะมีลักษณะอาการผื่นเป็นวงที่ชัดเจนกว่า ในขณะที่เกลื้อนจะมีลักษณะผิวแห้งเป็นขุยทั่วไป ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน

กลาก พบบ่อยแค่ไหน

กลากเป็นโรคผิวหนังจากเชื้อราที่สามารถพบได้ทั่วไป และเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ผู้ที่ไม่ค่อยรักษาความสะอาดของผิวหนังอาจเสี่ยงเป็นกลากได้มากกว่า

อาการ

อาการของกลาก

อาการทั่วไปของกลาก ได้แก่

  • ผื่นแดงเป็นวง
  • ผิวลอกเป็นขุยสีขาว
  • อาการคัน
  • ขนร่วงในบริเวณที่มีกลาก

กลาก สามารถพบได้บนผิวหนังทั่วทั้งร่างกาย เช่น แขน ขา หนังศีรษะ ขาหนีบ ใบหน้า ซอกพับผิวหนัง

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

โดยปกติแล้ว การทายารักษาโรคกลากที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาร่วมกับการทำความสะอาดผิวหนังให้สะอาดอยู่เสมอ สามารถช่วยให้หายเป็นกลากได้ แต่หากดูแลรักษาด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว อาการของโรคกลากไม่หายไปภายใน 2 สัปดาห์ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุที่แน่ชัด และจะได้รักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุด

สาเหตุ

สาเหตุของกลาก

กลากเกิดขึ้นจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งเชื้อราที่อาจทำให้เกิดโรคกลาก มีดังนี้

  • เชื้อราไตรโคไฟตัน (Trichophyton)
  • เชื้อราไมโครสปอรัม (Microsporum)
  • เชื้อราเอพิเดอร์โมไฟตัน (Epidermophyton)

เชื้อราเหล่านี้แพร่กระจายได้หลายช่องทาง ทั้งจากคนสู่คน จากสัตว์สู่คน จากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อรา จากดินและสิ่งสกปรกโดยรอบ เชื้อราเหล่านี้จะอาศัยอยู่บนเซลล์หนังกำพร้า ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดของผิวหนัง เมื่อหมักหมมนานเข้า โดยเฉพาะหากเป็นผิวหนังบริเวณซอกพับ หรือบริเวณที่อับชื้นง่าย ก็อาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตและเกิดเป็นโรคกลากได้ในที่สุด

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของกลาก

หากมีภาวะดังต่อไปนี้ อาจทำให้เสี่ยงเป็นกลากได้ง่ายขึ้น

  • รักษาความสะอาดร่างกายได้ไม่ดีนัก เช่น ไม่ค่อยอาบน้ำ
  • ไม่ค่อยขัดขี้ไคล ทำให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วสะสมอยู่บนผิวมากเกินไป จนอาจหมักหมม ติดเชื้อรา และเป็นกลากได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่สะอาด อับชื้น หรือแบ่งปันเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าขนหนู ผ้าห่ม ร่วมกับผู้อื่น
  • อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตร้อน และเขตร้อนชื้น
  • ทำงานที่ต้องสัมผัสกับดินเป็นประจำ เช่น ชาวสวน ชาวไร่
  • สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง
  • มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคกลาก

คุณหมอสามารถวินิจฉัยโรคกลากได้โดยง่าย เพียงแค่การตรวจดูอาการที่ผิวหนังก็อาจทราบแล้วว่าเป็นโรคกลากหรือไม่ เนื่องจากกลากจะมีลักษณะอาการเฉพาะ คือ อาการผื่นแดงเป็นวงกลมที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม บางครั้งคุณหมออาจต้องใช้การตรวจวินิจฉัยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น

  • การนำตัวอย่างผิวหนังที่มีอาการไปตรวจด้วยการเพาะเชื้อ เพื่อดูว่ามีเชื้อราหรือไม่
  • การนำตัวอย่างผิวหนังไปส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูความผิดปกติของผิวหนัง และตรวจหาเชื้อรา

การรักษากลาก

การรักษากลาก สามารถทำได้ด้วยวิธีดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • การใช้ยา โดยปกติ การใช้ยาฆ่าเชื้อราสำหรับรักษากลากที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาเป็นประจำตามคำแนะนำของเภสัชกรหรือเอกสารกำกับยา ก็สามารถรักษากลากได้ แต่หากเป็นกลากบนหนังศีรษะหรือเล็บ อาจจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อราแบบรับประทาน ที่ออกฤทธิ์ค่อนข้างแรงกว่ายาทาฆ่าเชื้อราทั่วไป
  • การปรับเปลี่ยนนิสัย นอกเหนือจากการใช้ยาฆ่าเชื้อรา คุณหมออาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อช่วยรักษาโรคกลาก เช่น รักษาความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ ทำความสะอาดเครื่องนอน เสื้อผ้า และผ้าเช็ดตัว เป็นประจำ

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยบรรเทาและป้องกันกลากได้ อาจมีดังนี้

  • รักษาความสะอาดของผิวหนัง อาบน้ำเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดมากเกินไป เพื่อไม่ให้เหงื่อออกมากจนหมักหมมและอับชื้น
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด แห้ง ไม่อับชื้น
  • ทำความสะอาดเครื่องนอน และผ้าเช็ดตัว เป็นประจำ โดยปกติคือ ซักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • หลังจากสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงหรือดินทราย ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 04/03/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา