backup og meta

ไขข้อข้องใจ ทำไมกินยาแล้วต้องห้ามกินเหล้า

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ไขข้อข้องใจ ทำไมกินยาแล้วต้องห้ามกินเหล้า

    เวลาที่คุณไปซื้อยาที่ร้านขายยา คุณอาจจะเคยได้ยินเภสัชกรให้คำแนะนำว่าไม่ควรดื่มสุราขณะที่กำลังใช้ยานั้น แต่หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจเสียทีเดียวว่าการรับประทานยาพร้อมกับดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นจะส่งผลอย่างไร หรือเป็นอันตรายอะไรต่อร่างกาย บทความนี้จะมาไขข้อข้องใจว่าทำไม แอลกอฮอล์กับยา จึงไม่ควรกินร่วมกัน

    แอลกอฮอล์กับยา ทำปฏิกิริยากันอย่างไร

    ปฏิกิริยาระหว่างแอลกอฮอล์กับยานั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักดังนี้

  • ปฏิกิริยาทางเภสัชพลศาสตร์ (Pharmacodynamic Interactions)
  • ปฏิกิริยานี้หมายถึง ปฏิกิริยาที่ทำให้ผลข้างเคียงของยาเพิ่มมากขึ้น เช่น หากยาตัวหนึ่งมีผลข้างเคียงคือทำให้ง่วงนอน แล้วคุณดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป ผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงนอนของยานั้นก็จะเพิ่มมากขึ้น และทำให้คุณง่วงนอนหนักกว่าเดิม ปฏิกิริยานี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อคุณดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน เช่น ยาแก้แพ้

    การเพิ่มขึ้นของผลข้างเคียง อย่างอาการง่วงนอนนี้ จะทำให้ผู้ใช้ยามีปัญหากับการมีสติสัมปชัญญะ การรวบรวมสมาธิ การตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขับรถหรือใช้เครื่องจักร และทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

    • ปฏิกิริยาทางเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic Interactions)

    ปฏิกิริยานี้หมายถึง ปฏิกิริยาที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการดูดซึมยา หรือกระบวนการกำจัดยาออกจากร่างกายเปลี่ยนแปลงไป เช่น ทำให้ดูดซึมยามากขึ้นกว่าปกติ และทำให้ฤทธิ์ของยาแรงขึ้น หรือทำให้การกำจัดยาออกจากร่างกายได้เร็วกว่าที่ควร ทำให้ยาไม่สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่

    แอลกอฮอล์นั้นจะถูกย่อยสลายโดยเอนไซม์ต่างๆ ที่อยู่ในตับ ซึ่งเอนไซม์เหล่านี้ก็เป็นเอนไซม์เดียวกันกับเอนไซม์ที่ใช้ย่อยสลายยาหลายๆ ประเภทด้วยเช่นกัน ดังนั้น การดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปพร้อมกับการรับประทานยา จะทำให้เอนไซม์ตับเหล่านี้ต้องทำงานอย่างหนักมากขึ้นเพื่อย่อยสลายทั้งยาและแอลกอฮอล์พร้อมกับ ปฏิกิริยาระหว่างแอลกอฮอล์กับยาเหล่านี้สามารถทำให้ยาบางชนิดทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ หรือทำให้ยาบางชนิดเกิดการสะสมค้างอยู่ในร่างกาย จนกลายเป็นพิษได้

    ยาอะไรบ้างที่อาจจะทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์

    สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (The National Institute of Health) ได้ทำการวิจัยกับคนกว่า 26,000 คน เพื่อหาปฏิกิริยาระหว่างแอลกอฮอล์กับยา พบว่า ในบรรดายากว่า 1,300 ชนิด มียามากกว่า 45% ที่มีโอกาสที่จะทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์

    โดยยาที่มักจะทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์มีดังนี้

  • ยาแก้แพ้และยาแก้หวัด คุณควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หากคุณกำลังรับประทานยาแก้แพ้หรือยาแก้หวัด เนื่องจากยาทั้งสองประเภทนี้มักจะส่งผลให้เกิดอาการง่วงซึม แอลกอฮอล์จะไปเพิ่มผลที่ทำให้ง่วงนอนนั้นและอาจส่งผลกระทบต่อสติ การรับรู้ การตัดสินใจ และความสามารถในการขับรถและใช้เครื่องจักรได้ นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการใช้ยาเกินขนาดได้อีกด้วย
  • ยารักษาอาการเจ็บหน้าอก ยาที่ใช้เพื่อรักษาอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดนั้นมักจะเป็นยาลดการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจ การใช้ยานี้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์สามารถทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงฉับพลัน วิงเวียน และหมดสติได้
  • ยารักษาโรควิตกกังวลและยารักษาโรคลมชัก ยาทั้งสองประเภทนี้หากใช้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม วิงเวียน หายใจช้า พฤติกรรมผิดปกติ ความสามารถในการขับรถลดลง และสูญเสียความจำได้
  • ยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะบางประเภทหากใช้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงฉับพลัน ปวดท้อง อาเจียน ปวดหัว หน้ามืด และอาจทำให้ตับเกิดความเสียหายได้
  • ยาเจือจางเลือด ยาเจือจางเลือดที่ใช้เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด หากใช้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ อาจนำไปสู่อาการตกเลือดภายในร่างกาย และอาจส่งผลให้ยาออกฤทธิ์ตรงกันข้าม คือทำให้เกิดลิ่มเลือดมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจได้
  • ยารักษาโรคเบาหวาน การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานบางชนิดอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณลดลงต่ำมากเกินไป เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว และความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงฉับพลันได้
  • ยาคลายกล้ามเนื้อและยานอนหลับ การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อนี้สามารถทำให้เกิดอาการง่วงซึม วิงเวียน หายใจช้าหรือหายใจติดขัด ความสามารถในการขับขี่ลดลง และอาจทำให้สูญเสียความจำ และชักได้
  • นอกจากนี้ยังมียาอีกมากกว่า 100 ชนิดที่สามารถทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ได้ และยาแต่ละชนิดก็อาจจะมีปฏิกิริยาต่อแอลกอฮอล์แตกต่างกันไป ดังนั้นทางที่ดีคุณจึงควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาของแอลกอฮอล์กับยาที่อาจเป็นอันตราย

    Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา