backup og meta

ประโยชน์ของกระเทียม ดีต่อสุขภาพอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 07/12/2021

    ประโยชน์ของกระเทียม ดีต่อสุขภาพอย่างไร

    กระเทียม เป็นพืชผักสวนครัวที่ช่วยให้อาหารจานโปรดอร่อยและหอมชวนกินยิ่งขึ้น นอกจากเรื่องของกลิ่นและรสชาติแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมายมาย ไม่ว่าจะเป็นช่วยบรรเทาอาการหวัด ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ซึ่งอาจลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ แม้ว่าการรับประทานกระเทียมจะมีประโยชน์ต่อสุขภสพ แต่ถ้าหากรับประทานมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียตอสุขภาพได้เช่นกัน

    ข้อมูลโภชนาการของกระเทียม

    กระเทียมปริมาณ 28 กรัม ให้พลังงาน 42 กิโลแคลอรี่ มีสารอาหาร ดังนี้

    • แมงกานีส 23% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
    • วิตามินบี 6 17% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
    • วิตามินซี 15% ของปริมาณวิที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
    • ซีลีเนียม 6% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
    • ไฟเบอร์ 0.6 กรัม
    • โปรตีน 1.8 กรัม
    • คาร์โบไฮเดรต 9 กรัม

    นอกจากนี้ ในกระเทียมยังมีแคลเซียม ทองแดง โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 และสารอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย

    ประโยชน์ของกระเทียม

    ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด

    อาหารเสริมกระเทียมอาจช่วยเร่งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้ มีงานวิจัยที่พบว่า การรับประทานอาหารเสริมกระเทียมทุกวัน อาจช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดได้ถึง 63% เมื่อเทียบกับการได้รับยาหลอก (Placebo) นอกจากนี้ กลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีอาการหวัดเป็นเวลา 5 วัน แต่กลุ่มที่รับประทานกระเทียมเป็นหวัดเพียงแค่ 1.5 วัน ซึ่งถือว่ากระเทียมช่วยให้ระยะเวลาในการเป็นหวัดลดลงเฉลี่ยถึง 70% เลยทีเดียว

    ทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่า การรับประทานสารสกัดกระเทียมในปริมาณสูง (2.56 กรัม/วัน) ช่วยลดจำนวนวันที่ป่วยเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ได้ 61% แต่อย่างไรก็ตาม มีการค้นคว้าชิ้นหนึ่งที่สรุปว่า หลักฐานยังไม่เพียงพอและจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม แม้ว่าในปัจจุบัน ข้อมูลเรื่องการใช้กระเทียมบรรเทาอาการไข้หวัดยังคงต้องการหลักฐานทางวิทยาศาตร์ยืนยันเพิ่มเติม แต่หากเป็นหวัดบ่อย การเพิ่มกระเทียมในอาหารแต่ละมื้อก็ถือเป็นเรื่องที่น่าลอง

    ช่วยลดความดันโลหิต

    การศึกษาวิจัยในมนุษย์พบว่า อาหารเสริมกระเทียมส่งผลต่อการลดระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า สารสกัดกระเทียมแก่ 600-1,500 มิลลิกรัม มีประสิทธิภาพพอ ๆ กับการรับประทานยาอะทีโนลอล (Atenolol) ที่ช่วยลดความดันโลหิตได้ภายในเวลา 24 สัปดาห์ ซึ่งปริมาณอาหารเสริมควรมากพอที่จะได้มีผลลัพธ์ตามที่ต้องการ โดยปริมาณอาหารเสริมจะเทียบเท่ากับการรับประทานกระเทียม 4 กลีบ/วัน

    ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ซึ่งอาจลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ

    กระเทียมสามารถลดระดับคอเลสเตอรอล โดยเฉพาะแอลดีแอลคอเลสเตอรอล (LDL Cholesterol) หรือคอเลสเตอรอลไม่ดีได้ สำหรับผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง อาหารเสริมกระเทียมอาจช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลทั้งหมด (Total Cholesterol) หรือแอลดีแอลคอเลสเตอรอลได้ประมาณ 10%-15% ทั้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อไขมันเอชดีแอล (HDL Cholesterol) หรือไขมันดี และไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) อีกด้วย

    งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร the Journal of Nutritional Biochemistry ได้ทำการศึกษาวิจัยโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่คอเลสเตอรอลสูงแต่ความดันโลหิตปกติ กับกลุ่มที่ทั้งคอเลสเตอรอลสูงและความดันโลหิตสูง โดยพวกเขารับประทานอาหารเสริมสารสกัดกระเทียมเป็นเวลา 4 เดือน ผลการวิจัยพบว่า อาหารเสริมสารสกัดกระเทียมช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และลดความดันโลหิตในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอีก

    ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อม

    การรับประทานอาหารเสริมกระเทียมช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย สารต้านอนุมูลอิสระอาจช่วยลดการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress) หรือความไม่สมดุลระหว่างปริมาณอนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระ จนทำให้ร่างกายมีอนุมูลอิสระมากเกินไป

    คุณสมบัติของกระเทียมในการช่วยลดคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต รวมถึงคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคทางสมองอย่าง โรคอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อมได้

    ช่วยล้างพิษโลหะหนักในร่างกายได้

    สารซัลเฟอร์ในกระเทียมอาจช่วยป้องกันอวัยวะไม่ให้ถูกทำลายโดยพิษจากโลหะหนักได้ จากการศึกษาวิจัยเวลา 4 สัปดาห์ ในพนักงานโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ที่มีปริมาณสารตะกั่วเกิน พบว่า กระเทียมช่วยลดระดับสารตะกั่วในเลือดได้ 19% นอกจากนี้ ยังช่วยลดสัญญาณและอาการที่บอกว่า ร่างกายกำลังได้รับสารพิษ เช่น ปวดหัว ความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย

    ช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น

    มีงานวิจัยที่ศึกษาในหนูทดลองพบว่า การเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน ช่วยลดการสูญเสียมวลกระดูกได้ จากงานวิจัยในอาสาสมัครผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนชิ้นหนึ่ง พบว่า เมื่อให้ผู้หญิงเหล่านี้รับประทานสารสกัดกระเทียมแห้งในปริมาณเทียบเท่ากระเทียมสด 2 กรัมทุกวัน อาจช่วยลดการขาดเอสโตรเจน นั่นหมายความว่า สารอาหารในกระเทียมอาจมีประโยชน์กับสุขภาพกระดูกของผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลมารองรับเรื่องนี้อย่างเพียงพอ จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัดขึ้น

    ข้อควรระวังในการรับประทานกระเทียม

    แม้คนส่วนใหญ่จะสามารถรับประทานกระเทียมได้โดยไม่เกิดโทษใด ๆ แต่ก็มีข้อควรระวังดังนี้

    • ผลข้างเคียงจากการรับประทานกระเทียม การรับประทานกระเทียมสดทำให้มีกลิ่นปาก มีอาการแสบร้อนที่ปากหรือกระเพาะอาหาร แสบร้อนทรวงอก มีแก๊ส คลื่นไส้ อาเจียน มีกลิ่นตัว ท้องเสีย รวมถึงมีอาการหอบหืด
    • กระเทียมอาจระคายทางเดินลำไส้ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ควรรับประทานกระเทียมอย่างระมัดระวัง
    • ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตรและเด็ก ไม่ควรรับประทานกระเทียมในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
    • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน กระเทียมอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ในทางทฤษฎี การรับประทานกระเทียมอาจทำให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลต่ำเกินไป
    • ผู้ที่ผ่าตัด การรับประทานกระเทียมอาจเพิ่มความให้เกิดภาวะเลือดออกมาก ส่งผลกระทบต่อระดับความดันโลหิต หรือลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ผู้ที่รับประทานกระเทียมมีอาการเลือดออกหลังผ่าตัด ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานกระเทียมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 07/12/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา