backup og meta

กลิ่นปากคล้ายน้ำยาล้างเล็บ สัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 13/01/2023

    กลิ่นปากคล้ายน้ำยาล้างเล็บ สัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน

    กลิ่นปากคล้ายน้ำยาล้างเล็บ หรืออะซิโตน (Acetone) อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเบาหวานและมีน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากอะซิโตน คือ คีโตนประเภทหนึ่ง มีกลิ่นคล้ายผลไม้ จัดเป็นสารประกอบหลักของน้ำยาล้างเล็บ ซึ่งอาจทำให้มีกลิ่นปากคล้ายน้ำยาล้างเล็บ หรือกลิ่นคล้ายผลไม้หวาน ๆ เมื่อคีโตก่อตัวเพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเป็นกรดในเลือด ซึ่งอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้

    กลิ่นปากคล้ายน้ำยาล้างเล็บ เกี่ยวข้องกับเบาหวานยังไง

    โดยปกติแล้ว ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) มีหน้าที่ย่อยน้ำตาลกลูโคสในเลือด เพื่อให้เซลล์สามารถดูดซึมไปใช้เป็นพลังงานได้ แต่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ร่างกายจะไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ หรือไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายไม่ได้รับพลังงานจากกลูโคส และเริ่มดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทน กระบวนการเผาผลาญไขมันเป็นพลังงานนี้ เรียกว่า คีโตซิส (Ketosis) ผลพลอยได้จากการสลายไขมันเป็นพลังงานนี้ คือ ตับจะปล่อยสารคีโตน (Ketone) เช่น อะซิโตน ออกมา

    อะซิโตน (Acetone) คือ คีโตนประเภทหนึ่ง มีกลิ่นคล้ายผลไม้ จัดเป็นสารประกอบหลักของน้ำยาล้างเล็บ หากใคร มีกลิ่นปาก คล้ายน้ำยาล้างเล็บ หรือกลิ่นคล้ายผลไม้หวาน ๆ ก็อาจเป็นสัญญาณของการป่วยเป็นโรคเบาหวาน และมีน้ำตาลในเลือดสูง เมื่อคีโตก่อตัวเพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเป็นกรดในเลือด และหากสูงถึงขั้นเป็นอันตรายหรือเป็นพิษต่อร่างกาย จะเรียกว่า ภาวะคีโตซิส (Diabetic Ketoacidosis หรือ DKA) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เหล่านี้

  • มีกลิ่นปากคล้ายน้ำยาล้างเล็บหรืออะซิโตน (Acetone) หรือกลิ่นคล้ายผลไม้หวาน ๆ
  • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
  • ปวดท้อง คลื่นไส้ หรืออาเจียน
  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
  • หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจลำบาก
  • มีอาการสับสน
  • ผิวแห้งลอก
  • นอกจากนี้ ภาวะคีโตซิสถือเป็นภาวะอันตราย ส่วนใหญ่อาจเกิดกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ฉะนั้น หากพบว่าตัวเองมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

    คีโตนอาจไม่ใช่สาเหตุเดียวของกลิ่นปากในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะกลิ่นปากที่เกิดขึ้นอาจมาจาก โรคปริทันต์ (Periodontal Disease) หรือที่เรียกกันว่า โรครำมะนาด ได้เช่นกัน โดยโรคปริทันต์เป็นโรคติดเชื้อ เกิดจากแบคทีเรียทำลายอวัยวะบริเวณรอบ ๆ ฟัน ไม่ว่าจะเป็นเหงือก กระดูกเบ้าฟัน ผิวรากฟัน ทำให้เกิดปัญหา เช่น เลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน เหงือกอักเสบแดง เหงือกร่น ฟันโยก มีกลิ่นปาก อีกทั้งการติดเชื้อที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อระบบเผาผลาญ และทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น จึงยิ่งทำให้โรคเบาหวานแย่ลงด้วย

    โรคเบาหวานอาจทำลายหลอดเลือดได้ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก จึงอาจมีเลือดไปเลี้ยงบริเวณเหงือกและฟันไม่เพียงพอ จนบริเวณนั้นอ่อนแอลงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อีกทั้งโรคเบาหวานยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น แบคทีเรียจึงยิ่งเจริญเติบโตได้ดี การติดเชื้อยิ่งรุนแรง กลิ่นปากก็ยิ่งแย่ลง และหากเป็นโรคติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นในช่องปากหรือบริเวณไหน ผู้ป่วยเบาหวานก็ต้องใช้เวลารักษานานกว่าปกติ

    ฉะนั้น หากรู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวานและมีปัญหาในช่องปาก ควรรีบไปพบคุณหมอทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้ หรือหากไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ แต่มีปัญหาสุขภาพช่องปากบ่อย ๆ และหายยากก็ควรไปพบคุณหมอเช่นกัน เพราะถึงแม้กลิ่นปากจะไม่มีกลิ่นเหมือนน้ำยาล้างเล็บ แต่โรคในช่องปากที่เป็นก็อาจกำลังส่งสัญญาณเตือนว่าอาจเป็นโรคเบาหวาน

    วิธีแก้ปัญหามีกลิ่นปากเพราะเป็นเบาหวาน

    หากคุณ มีกลิ่นปาก เพราะเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นปากคล้ายน้ำยาล้างเล็บที่เกิดจากคีโตน หรือ มีกลิ่นปาก จากโรคปริทันต์ หรืออาการแทรกซ้อนอื่น ๆ การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันเหล่านี้ร่วมกับการใช้ยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด อาจช่วยลดกลิ่นปากที่เกิดขึ้นได้

    • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันทุกวัน
    • เวลาแปรงฟันต้องไม่ลืมแปรงหรือขูดลิ้นด้วย เพื่อกำจัดแบคทีเรียที่ตกค้าง
    • ดื่มน้ำให้มาก ๆ ให้ริมฝีปากและในช่องปากชุ่มชื้นเสมอ
    • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี
    • เคี้ยวลูกอมหรือหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล เพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำลายหรือใช้ยากระตุ้นน้ำลายตามแพทย์สั่ง
    • ไม่สูบบุหรี่
    • พบทันตแพทย์เป็นประจำ และอย่าขาดนัดในการรักษา หากรู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวาน อย่าลืมแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบด้วย
    • หากใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ ต้องใส่ให้ฟันกระชับพอดี ควรถอดออกมาทำความสะอาดเป็นประจำ และแช่ในน้ำสะอาดก่อนนอนทุกวัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 13/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา