backup og meta

ท้องแรก ควรดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 15/11/2022

    ท้องแรก ควรดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง

    ท้องแรก สำหรับผู้หญิงทุกคนนอกเหนือไปจากความยินดีแล้ว สิ่งที่ตามมาคือความกังวลใจโดยเฉพาะการดูแลสุขภาพตนเองและลูกน้อยที่กำลังเติบโตอยู่ในครรภ์ จึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์และได้รับการตรวจครรภ์เป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีของแม่และเด็ก  ว่าที่คุณแม่และคุณพ่อมือใหม่ควรเตรียมตัวให้พร้อมมากที่สุด

    ท้องแรก คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร

    สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เป็นท้องแรก จำเป็นต้องดูแลตัวเองให้ถูกต้อง โดยรับคำแนะนำจากคุณหมอ หรือศึกษาอ่านหาความรู้เพิ่มเติม โดยทั่วไปแล้ว การดูแลตัวเองในเบื้องต้นทำได้ดังนี้

    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

    ก่อนตั้งครรภ์ คุณแม่อาจชอบกินอาหารที่มีรสจัด ทั้งเผ็ดจัด เค็มจัด หรือหวานจัด แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้ว อาหารที่กินเข้าไป ควรจะต้องเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพของแม่และเด็กในครรภ์ โดยเฉพาะกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่ 

  • กรดโฟลิค (Folic Acid) หรือโฟเลต มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของความบกพร่องของท่อประสาทและกระดูกไขสันหลัง คุณแม่ควรได้รับกรดโฟลิคตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และในระหว่างตั้งครรภ์ โดยปริมาณของกรดโฟลิคที่สตรีมีครรภ์ควรได้รับคือประมาณ 600 ไมโครกรัมต่อวัน
  • วิตามินดี มีส่วนช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง ทั้งยังมีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสเฟต ทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมและฟอสเฟตในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของแม่และเด็ก
  • ออกกำลังกาย

    การออกกำลังกายสำคัญสำหรับคนทุกเพศและทุกวัย คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือเตรียมพร้อมที่จะตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน เพื่อลดความเสี่ยงการมีน้ำหนักเกินขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะสุขภาพอย่างเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ ทั้งยังช่วยให้สุขภาพของคุณแม่แข็งแรง และช่วยให้ร่างกายเตรียมพร้อมต่อการคลอด หรืออาจทำให้คลอดง่ายขึ้นด้วย มากไปกว่านั้น การออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ ยังสามารถช่วยรักษาสมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกาย และป้องกันการนอนไม่หลับ หนึ่งในปัญหาที่พบได้มากในคุณแม่ตั้งครรภ์อีกด้วย

    นอนหลับให้เพียงพอ

    การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเป็นกิจวัตรสำคัญที่ทุกคนควรยึดถือและปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ควรพักผ่อนน้อยหรือนอนดึก เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ร่างกายของคุณแม่อ่อนล้ามากเป็นพิเศษ จึงจำเป็นที่จะต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดปัญหาสุขภาพ   เช่น วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นต้น

    รับวัคซีนตามกำหนด

    เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้ออย่างไข้หวัดใหญ่ โรคไอกรน ซึ่งเป็นโรคที่ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพของแม่เท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในครรภ์ด้วย

    ดื่มน้ำบ่อย ๆ 

    คุณแม่ตั้งท้องควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ที่จะส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หรือปวดศีรษะ ทั้งยังช่วยป้องกันโรคนิ่วในไต อาการท้องผูก และโรคริดสีดวงทวาร

    ท้องแรก คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอะไร

    คุณแม่ท้องแรกจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่าง หรือระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวันให้มากขึ้น

    คุณแม่ตั้งครรภ์ห้ามสูบบุหรี่

    บุหรี่มีสารพิษที่ชื่อนิโคติน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการ ตั้งครรภ์ หลายประการ เช่น

  • เสี่ยงต่อโรคปากแหว่งเพดานโหว่
  • การคลอดก่อนกำหนด
  • ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์
  • ทารกเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
  • เสี่ยงต่อความบกพร่องทางสมองและการเรียนรู้
  • เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการอยู่ใกล้กับผู้ที่สูบบุหรี่ เพื่อป้องกันการสะสมสารพิษจากควันบุหรี่ในร่างกายของตนเองและเด็กในครรภ์ 

    คุณแม่ตั้งครรภ์ห้ามดื่มแอลกอฮอล์

    ขณะตั้งครรภ์ควรละเว้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะในปริมาณน้อยหรือมากก็ไม่ควรดื่มทั้งสิ้น เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ ทารกจะได้รับแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปผ่านทางรก และส่งผลกระทบโดยตรงต่ออวัยวะและสมองของทารกที่กำลังพัฒนา เสี่ยงที่จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองผิดปกติ มีปัญหาด้านความจำ ทั้งยังเสี่ยงต่อการแท้งอีกด้วย

    ไม่กินอาหารดิบ

    ขณะตั้งครรภ์คุณแม่ควรกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ควรเว้นจากการกินอาหารดิบ หรืออาหารที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุก เนื่องจากอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อน อาจมีเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส สารปนเปื้อน และสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของแม่และเด็กในครรภ์

    หลีกเลี่ยงคาเฟอีน

    ก่อนการ ตั้งครรภ์ คุณแม่อาจติดการดื่มกาแฟ หรือชา ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมาก และมีส่วนช่วยกระตุ้นร่างกายให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้ว การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพของแม่และเด็กมากนัก เพราะเสี่ยงที่จะทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ รวมถึงเสี่ยงต่อการแท้งบุตรด้วย

    อย่างไรก็ตาม การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณที่ปลอดภัยประมาณ 150-300 มิลลิกรัมต่อวัน ถือเป็นระดับคาเฟอีนที่ปลอดภัยต่อแม่และเด็ก แต่ต้องระมัดระวังการบริโภคคาเฟอีนเกินขนาด เพราะคาเฟอีนไม่ได้พบได้แค่ในชาหรือกาแฟ แต่ยังมีอาหารชนิดอื่น ๆ ที่มีคาเฟอีนอยู่มาก เช่น โกโก้ ช็อกโกแลต ดังนั้น ก่อนจะดื่มเครื่องดื่มใด ๆ ควรดูก่อนว่ามีส่วนผสมของคาเฟอีนหรือไม่

    คำแนะนำเหล่านี้เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับคุณแม่ท้องแรกเท่านั้น ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับการตั้งครรภ์อีกมากที่คุณแม่มือใหม่จำเป็นต้องพบกับคุณหมอเพื่อปรึกษาและรับทราบรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เพื่อสุขภาพการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยทั้งแม่และเด็ก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 15/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา