
จากข้อมูลขององค์การนามัยโลก หรือ WHO เมื่อเดือนวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563 พบว่า มะเร็งปอด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกสูงเป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 10 อันดับ โดยในปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านคน เป็น 1.8 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงของมะเร็งปอด วันนี้ Hello คุณหมอ จึงมีวิธี ป้องกันมะเร็งปอด แบบง่าย ๆ มาฝากค่ะ
มะเร็งปอดเป็นอย่างไร
มะเร็งปอด คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณปอด โดยเกิดจากการที่มีเซลล์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเซลล์นั้นจะค่อย ๆ ลุกลามไปยังปอดข้างใดข้างหนึ่ง หรือปอดทั้งสองข้าง ก่อนจะค่อย ๆ เติบโตและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย ซึ่งสาเหตุหลักที่มักจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดสูงที่สุดคือการสูบบุหรี่
ป้องกันมะเร็งปอด ได้อย่างไรบ้าง
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางประการ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง สุขภาพจิตแจ่มใสแล้ว ก็ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็น มะเร็งปอด อีกด้วย โดยคุณสามารถปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ง่าย ๆ เพื่อป้องกันมะเร็งปอดได้ดังนี้
เลิกสูบบุหรี่
บุหรี่มีสารก่อมะเร็งที่สำคัญอยู่หลายชนิด หลัก ๆ คือ นิโคติน (Nicotine) สารไนโตรซามีน (Nitrosamine) และสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons, PAHs) เมื่อร่างกายได้รับสารก่อมะเร็งจากการสูบบุหรี่เป็นประจำ ก็จะทำให้เนื้อเยื่อที่ปอดได้รับความเสียหาย และไปกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเติบโตเร็วจนผิดปกติ ซึ่งจากการรายงานของหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC) พบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดในสหรัฐอเมริการาว ๆ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นมะเร็งปอดเนื่องจากการสูบบุหรี่ ดังนั้น การเลิกสูบบุหรี่จึงถือเป็นวิธีป้องกันความเสี่ยงของ มะเร็งปอด ได้เป็นอย่างดี
หลีกเลี่ยงควันบุหรี่
คุณอาจจะคิดว่า แค่ไม่สูบบุหรี่ ก็ไม่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอดแล้ว ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะดูเหมือนใช่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีผู้ป่วยมะเร็งปอดหลายรายที่ตรวจพบว่าเป็น มะเร็งปอด โดยที่ไม่เคยสูบบุหรี่ แต่เป็นมะเร็งปอดเพราะว่าได้รับควันบุหรี่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจเป็นประจำ หรือที่เราเรียกกันว่า ควันบุหรี่มือสอง คือ การได้รับควันบุหรี่มาจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือจากที่ทำงาน ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงจึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สถานที่ที่จัดให้มีการสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการนั่งใกล้กับผู้ที่สูบบุหรี่ หรือถ้าเป็นคนในครอบครัว อาจมีการพูดคุยหรือโน้มน้าวให้เลิกสูบบุหรี่
สวมหน้ากากอนามัย
มลพิษทางอากาศ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองในอากาศ ฝุ่น PM2.5 ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันธูปในห้องพระ ควันธูปในวัดหรือสถานที่สำคัญต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงของ มะเร็งปอด ทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าหากสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน หรือต้องเดินทางไปสถานที่ที่มีแนวโน้มของมลพิษทางอากาศ ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศเหล่านี้
ตรวจเช็กสารเรดอน
เรดอน (Radon) เป็นสารพิษที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เป็นก๊าซที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในบ้านเรือนที่มีการปิดทึบ ไม่มีอากาศถ่ายเท จะยิ่งทำให้ปริมาณของก๊าซเรดอนพุ่งสูง ซึ่งวิธีหลัก ๆ ในการลดปริมาณสารเรดอนในบ้านเรือนก็คือ การเลือกวัสดุก่อสร้างบ้านที่ไม่มีสารกัมมันตรังสี ตลอดจนการจัดบ้านให้มีอากาศถ่ายเท ก็จะช่วยลดปริมาณของสารเรดอนภายในครัวเรือนได้ มากไปกว่านั้น ยังสามารถตรวจเช็กสารเรดอนในบ้านเรือน เพื่อดูว่ามีค่ากัมมันตรังสีเกินมาตรฐานหรือไม่ โดยในประเทศไทย สามารถติดต่อขอรับบริการหรือข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยในการเผาผลาญแคลอรี่แล้ว ก็ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมให้ปอดแข็งแรงอีกด้วย โดยเฉพาะกิจกรรมที่มีความเข้มข้นในระดับปานกลางอย่างการออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ การวิ่ง กระโดดเชือก ซึ่งการออกกำลังกายรูปแบบนี้จะเน้นการหายใจและการใช้ออกซิเจนเพื่อใช้เป็นพลังงานในการเผาผลาญ ทั้งยังช่วยบริหารหัวใจและหลอดเลือดให้แข็งแรงอีกด้วย
ใส่ใจกับอาหารการกิน
แม้ปอดจะทำหน้าที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ แต่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์สามารถช่วยบำรุงปอดให้แข็งแรงได้ หมั่นรับประทานผักและผลไม้ เพราะเป็นอาหารที่ให้วิตามินและแร่ธาตุที่มีส่วนช่วยให้ปอดแข็งแรง และสารอาหารบางชนิดอย่าง สารต้านอนุมูลอิสระก็ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็น มะเร็งปอด และมะเร็งชนิดอื่น ๆ อีกด้วย
มะเร็งปอด ถึงแม้จะเป็นอาการทางสุขภาพที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่ถ้าหากเราเริ่มปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเสียตั้งแต่วันนี้ ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอด หรือความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพปอดก็อาจจะลดลง และยังช่วยให้ปอดของเราแข็งแรงไปอีกนาน
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด