
สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation; IDF) ให้ข้อมูลว่า มีผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับโรคเบาหวานอัตราส่วน 1 ใน 11 คน หากคนในครอบครัวของคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น โรคเบาหวาน คุณจะมีวิธีใน การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ได้อย่างไรบ้าง Hello คุณหมอ รวบรวมเทคนิคการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้มาฝากค่ะ
8 เทคนิค การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ง่าย ๆ ทำได้ที่บ้าน
1.ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวานเพิ่มเติม
มีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ โรคเบาหวาน มากมาย เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวานไม่ควรออกกำลังกายซึ่งไม่เป็นความจริง ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ว่าโรคเบาหวานคืออะไร สามารถป้องกันในกรณีฉุกเฉินได้อย่างไร หรือสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้อย่างไร รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อจะได้ดูแลคนที่คุณรักให้ดียิ่งขึ้น
2.ช่วยบรรเทาความเครียด
ความเครียดจัดสามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะทำให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ยากขึ้น แต่การจัดการกับโรคเบาหวานอาจทำให้เกิดความเครียด ดังนั้นจึงควรช่วยบรรเทาความเครียดให้คนที่คุณรัก เช่น ชวนไปออกกำลังกาย ไปเที่ยวพักผ่อน หรือชมภาพยนต์ตลกที่บ้านร่วมกัน
3.เป็นฝ่ายสนับสนุน
ควรจำไว้ว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องรับผิดชอบและจัดการกับ โรคเบาหวาน ด้วยตนเอง ส่วนคนในครอบครัวควรเป็นฝ่ายสนับสนุน ไม่ใช่ผู้คุมที่คอยบงการผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้คนในครอบครัวเองก็ควรให้กำลังใจและสนับสนุนผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วย
4.ทำความเข้าใจอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ของคนเป็นเบาหวาน
การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจะช่วยให้อาการอารมณ์แปรปรวนดีขึ้น เนื่องจากการขึ้นลงของระดับน้ำตาลในเลือด สามารถทำให้บางคนสับสน กระวนกระวายใจ วิตกกังวล หรือระคายเคือง การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ จึงสามารถช่วยหลีกเลี่ยงอารมณ์แปรปรวนของผู้ป่วยเบาหวานได้ ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวควรทำความเข้าใจและสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานในการดูแลสุขภาพ
5.กรณีที่เป็นคู่สมรส ควรพูดคุยกันเรื่องปัญหาทางเพศ
โรคเบาหวาน สามารถส่งผลต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงอวัยวะเพศ เช่น ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานอาจมีปัญหาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และปัญหาช่องคลอดแห้ง ซึ่งอาจทำให้เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ส่วนผู้ชายที่เป็นโรคเบาหวานอาจมีแนวโน้มว่าจะเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (Erectile dysfunction)
นอกจากนี้การเป็นโรคเบาหวานยังอาจส่งผลต่อความนับถือตนเอง (self-esteem) ซึ่งอาจทำให้บางคนสนใจเรื่องทางเพศน้อยลง ดังนั้นหากคู่รักของคุณเป็นโรคเบาหวานควรพูดคุยกันเรื่องปัญหาทางเพศ หรือปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออกร่วมกัน
6.กินอาหารที่มีประโยชน์
ทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานและสมาชิกในครอบครัวควรกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยลดน้ำหวาน ลดอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีอาหารสำหรับโรคเบาหวานโดยเฉพาะ
การวางแผนการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเพิ่มผักและผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด นม ไขมันที่มีประโยชน์ และอาหารโปรตีนสูง ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีสุขภาพดีแล้ว คุณเองก็ยังสุขภาพดีด้วย เนื่องจากการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพและกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ สามารถช่วยให้คุณลดน้ำหนักลงได้ รวมถึงลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ
7.คิดในแง่บวกเสมอ
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ยังให้ข้อมูลว่า โรคเบาหวาน เป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับที่ 7 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นการได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน อาจเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับบางคน เนื่องจากเป็นโรคที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ถึงแม้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน คนในครอบครัวก็ควรพูดคุยกับผู้ป่วยในแง่บวกและให้กำลังใจ เช่น พูดถึงผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แต่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มากไปกว่านั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจไม่ต้องการได้ยินข่าวร้าย ว่าใครเสียชีวิตจากการเป็นโรคเบาหวานไปแล้วบ้าง หากคนที่คุณรักเป็นโรคเบาหวาน ควรพูดคุยในเรื่องที่เป็นแง่ดีและไม่ควรเล่าเรื่องราวในแง่ลบ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเครียดได้
8.ออกกำลังกายด้วยกัน
การออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากการออกกำลังกายและการลดน้ำหนักสามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และออกกำลังกาย 5 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่จะให้ดียิ่งกว่านั้น คนในครอบครัวควรไปออกกำลังกายด้วยกันเพื่อจะได้มีสุขภาพดีกันทั้งครอบครัว
สิ่งสำคัญคือคุณควรเลือกกิจกรรมหรือการออกกำลังกายในแบบที่ทุกคนชอบ เช่น ออกกำลังกายด้วยการเดิน การปั่นจักรยาน การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (Strength Training) และการออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น (Flexibility exercises) ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงผู้ป่วย โรคเบาหวาน จะได้ออกกำลังกาย แต่คุณและสมาชิกในครอบครัวทุกคนก็ได้ประโยชน์จากการออกกำลังกายด้วย เช่น บรรเทาความเครียด และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด