backup og meta

เอสโตรเจนสูง ในผู้ชาย เป็นเพราะอะไร สังเกตได้ยังไงบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 10/11/2022

    เอสโตรเจนสูง ในผู้ชาย เป็นเพราะอะไร สังเกตได้ยังไงบ้าง

    แม้เอสโตรเจนจะได้ชื่อว่าเป็นฮอร์โมนเพศหญิง แต่ก็มีความสำคัญกับเพศชายไม่น้อย ผู้ชายที่มีเอสโตรเจน และเทสโทสเตอโรนสมดุลกัน ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะสามารถทำงานได้ง่ายเต็มประสิทธิภาพ แต่หากฮอร์โมนเพศเสียสมดุล หรือการที่ผู้ชายมี เอสโตรเจนสูง เกินไป อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายด้าน ตั้งแต่ภาวะอารมณ์แปรปรวน น้ำหนักขึ้น อวัยวะไม่แข็งตัว ไปจนถึงโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

    เอสโตรเจนสำคัญกับผู้ชายอย่างไร

    ฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่สำคัญและอาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้ชายในหลายด้าน เช่น

    • ช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
    • ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุน
    • ช่วยให้หัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง
    • มีผลกับการทำงานของสมองและอารมณ์ต่าง ๆ
    • ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล
    • ส่งผลต่อสุขภาพผิวหนัง และสุขภาพทางเพศ

    หากระดับเอสโตรเจนของผู้ชายอยู่ในระดับปกติ สมดุลกับระดับของเทอโทสเตอโรน ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป สุขภาพของผู้ชายก็จะสมบูรณ์แข็งแรง

    สาเหตุที่ทำให้ผู้ชายมีเอสโตรเจนสูง

    สำหรับสาเหตุที่อาจทำให้ผู้ชายมีเอสโตรเจนสูง มีดังนี้

    อายุที่มากขึ้น

    ความแก่ชรา หรืออายุที่มากขึ้น อาจทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในร่างกายของผู้ชายค่อย ๆ ลดลง ในขณะที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนกลับสูงขึ้นเรื่อย ๆ

    เอนไซม์อะโรมาเทส

    เอนไซม์อะโรมาเทส (Aromatase) เป็นเอนไซม์ที่เปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมาเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยปกติแล้วจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ แต่หากมีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ไม่ออกกำลังกายจนมีไขมันสะสม กินอาหารแปรรูปบ่อย ๆ เครียดง่ายหรือเครียดเรื้อรัง ก็อาจทำให้ระดับเอนไซม์อะโรมาเทสในร่างกายสูงขึ้นไปอีก

    ไขมันสะสมในร่างกาย

    หากไม่ค่อยออกกำลังกายจนมีไขมันสะสมในร่างกายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไขมันบริเวณหน้าท้อง รอบเอว ก็อาจทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากเซลล์ไขมันมีส่วนช่วยในการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน

    ฮอร์โมนสิ่งแวดล้อม

    ฮอรโมนสิ่งแวดล้อม บางครั้งเรียกว่า ซีโนเอสโตรเจน (Xenoestrogen) หรือสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (Endocrine Disruptor) อาจพบได้ในผลิตภัณฑ์รอบตัวมากมาย เช่น พลาสติก ยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด เนื้อสัตว์ที่เร่งด้วยฮอร์โมน เครื่องสำอาง รวมไปถึงในสิ่งแวดล้อม เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเลียนแบบและทำปฏิกิริยาเช่นเดียวกับฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล

    สัญญาณและอาการที่ควรรู้

    ผู้ชายมีเอสโตรเจนสูงเกินไป อาจทำให้เทสโทสเตอโรนในร่างกายลดลง จึงมักมีอาการของภาวะเทสโทสเตอโรนต่ำควบคู่ไปด้วย ซึ่งอาจสังเกตุได้จากสัญญาณและอาการต่าง ๆ ดังนี้

    • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดพลังงาน
    • นอนไม่หลับ เพราะปวดปัสสาวะบ่อย และมีเหงื่อออกตอนกลางคืน
    • มวลกล้ามเนื้อลดลง
    • มีไขมันหน้าท้อง หรืออ้วนลงพุง
    • เต้านมใหญ่ขึ้น หรือที่เรียกว่าเต้านมโตในผู้ชาย (Gynecomastia)
    • มีปัญหาสุขภาพทางเพศ เช่น ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศไม่แข็งตัวตอนเช้า หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
    • มีปัญหาด้านอารมณ์ โดยเฉพาะอาการซึมเศร้า
    • เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
    • เกิดภาวะต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia หรือ BPH) จนทำให้มีปัญหาในการปัสสาวะ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ด้วย

    เอสโตรเจนสูง ลดและควบคุมได้อย่างไร

    เพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงขึ้น ผู้ชายที่เอสโตรเจนสูงอาจลดระดับเอสโตรเจนในร่างกาย และควบคุมฮอร์โมนเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรนในร่างกายให้อยู่ในระดับที่สมดุลกันได้ด้วยวิธีเหล่านี้

    กินผักตระกูลกะหล่ำ (Cruciferous vegetables)

    เช่น กะหล่ำปลี บร็อคโคลี กะหล่ำดอก กะหล่ำดาว บ็อกชอย หรือผักฉ่อย ที่อุดมไปด้วย สารประกอบกำมะถัน ที่เรียกว่า กลูโคซิโนเลต (Glucosinolates) หนึ่งในสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioactive Compound) ที่ช่วยลดเอสโตรเจน และขจัดเอสโตรเจนส่วนเกินออกจากร่างกาย

    เพิ่มโฟเลต วิตามินบี 12 บีเทน และโคลีนให้กับร่างกาย

    เนื่องจากสารอาหารกลุ่มนี้จัดอยู่ในสารกลุ่มที่ให้เมทิลแก่สารอื่น (Methyl Donor) ซึ่งจะไปช่วยให้กระบวนการทางชีวเคมีที่เรียกว่า การเติมหมู่เมทิล (methylation) มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจช่วยส่งเสริมการเผาผลาญของเอสโตรเจน และการขจัดเอสโตรเจนส่วนเกิน

    กินอาหารเสริมที่มีสารสกัด Indole-3-Carbinol (I3C) และ Diindolylmethane (DIM)

    ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีที่พบได้ในผักตระกูลกะหล่ำ เพื่อช่วยลดระดับเอสโตรเจนในร่างกาย และปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย

    เพิ่มไฟเบอร์ ออกกำลังเป็นประจำ และลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี

    วิธีเหล่านี้นอกจากจะช่วยลดอาการเอสโตรเจนสูงเกินไปในผู้ชายได้แล้ว ยังอาจส่งผลให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นได้ด้วย

    ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    เพราะอาจทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดสูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดยังมีแคลอรี่สูง การดื่มบ่อย ๆ อาจทำให้น้ำหนักตัวขึ้น จนส่งผลให้ฮอร์โมนเพศชายอย่างเทสโทสเตอโรนลดลงด้วย

    หากควบคุมและลดฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วยตัวเองตามวิธีเหล่านี้แล้วไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องตรงจุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 10/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา