
คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome) โรคยอดฮิตในปัจจุบันที่มักพบได้ในคนวัยทำงานและกลุ่มนักศึกษา รวมทั้งคนที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์หรือจ้องหน้าจอสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตเป็นเวลานานๆ โดยอาการที่พบบ่อยๆ ได้แก่ การปวดตา สายตาเมื่อยล้า ตาระคายเคือง ตาแห้ง รวมถึงอาการปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดไหล่และหลัง เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อใช้เวลากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน วันนี้ Hello คุณหมอ มีคำตอบสำหรับอาการ สาเหตุ ตลอดจนแนวทางป้องกันโรค แต่จะมีเคล็ดที่ไม่ลับอย่างไรบ้างนั้นไปดูกันเลยค่ะ
คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมคืออะไร
คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หรือ ซีวีเอส (Computer Vision Syndrome : CVS) คืออาการของคนที่ทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ จนทำให้มีอาการรู้สึกไม่สบายตัว เช่น แสบตา ตาแห้ง ปวดตา ตาพร่ามัว เกิดอาการมองภาพเบลอ และบ่อยครั้งที่จะมีอาการปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง จากการนั่งที่ไม่ถูกวิธีร่วมด้วย ซึ่งระดับความรุนแรงของอาการจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ใช้สายตาอยู่หน้าจอนั่นเอง
อาการของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าการใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ดิจิทัลที่มีหน้าจอต่างๆ นั้น สามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อดวงตาในระยะยาวได้หรือไม่ แต่การใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำก็อาจทำให้เสี่ยงต่อมีอาการดังต่อไปนี้
หากผู้ป่วยมีอาการดังข้างต้นที่กล่าวมานี้ ควรรีบหาทางรักษาหรือแก้ไขเสียตั้งแต่เนิ่นๆ หรือเริ่มมีอาการ เพราะการใช้คอมพิวเตอร์นานๆ นั้น ไม่เพียงก่อให้เกิดอาการเกี่ยวกับดวงตา แต่อาจมีปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ จากการใช้งานและการอยู่ในท่านั่งที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงานได้
สาเหตุของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
สำหรับสาเหตุของการเกิดอาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมนั้น นอกจากการใช้สายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เป็นระยะเวลานานๆ แล้ว ยังเกิดจากการจัดวางตำแหน่งคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสม มีแสงสว่างหรือแสงสะท้อนมากเกินอีกด้วย
การรักษาโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
-
ปรับสภาพแวดล้อมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สายตา
เมื่อเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสายตาให้เหมาะสมได้ อาการปวดศีรษะก็จะดีขึ้น เพราะเมื่อเราใช้สายตาอย่างหนักหรือหักโหมมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดอาการล้าและปวดตาได้ การใช้ดวงตาเพ่งมองเป็นเวลานานก็ควรมีการหยุดพักสายตาบ้าง เช่น ใช้สายตาไป 20 นาที ก็ควรพักสายตาสัก 20 วินาที ด้วยการมองออกไปไกลๆ จากจอคอมพิวเตอร์ประมาณ 20 ฟุต หรือมองธรรมชาติสีเขียว ๆ เพื่อช่วยให้ดวงตาเกิดการผ่อนคลายและเป็นการถนอมสายตาไปในตัว
-
การใช้น้ำตาเทียม
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำน้ำตาเทียม 2 ชนิด คือ น้ำตาเทียมแบบรายเดือน (1 ขวดใหญ่เมื่อเปิดแล้วใช้ได้ 1 เดือน) และน้ำตาเทียมรายวัน (ใช้ได้ 24 ชั่วโมงแล้วทิ้ง) ซึ่งสามารถใช้ได้ตามอาการ กล่าวคือ หากมีอาการตาแห้งไม่มากควรใช้แบบรายเดือน แต่ถ้าตาแห้งมาก ๆ ก็ควรใช้แบบรายวัน เนื่องจากสามารถหยอดได้บ่อยและถี่กว่าปกติ
เมื่อหยอดน้ำตาเทียมแล้วเราจะรู้สึกสบายตามากขึ้นเหมือนมีน้ำหล่อลื่น ช่วงแรกที่มีอาการมาก ๆ ควรต้องใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่องจนกว่าแผลเล็ก ๆ ในตาจะสมานกันดีเสียก่อน พออาการค่อนข้างคงที่แล้วจึงค่อยเว้นระยะการหยอดน้ำตาเทียมให้ห่างขึ้นตามลำดับ
วิธีการป้องกันให้ห่างจากโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
- วางหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากดวงตาประมาณ 20 – 28 นิ้ว และควรให้จุดกึ่งกลางของหน้าจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตาในแนวราบประมาณ 4 – 5 นิ้ว
- ปรับแสงสว่างหน้าจอให้เหมาะสม ไม่สว่างหรือมืดเกินไป โดยอาจจะใช้กระจกกันแสงสะท้อนติดที่หน้าจอหรือสวมแว่นกรองแสง เพื่อช่วยลดแสงสะท้อนเข้าดวงตา
- ควรพักการใช้สายตาเป็นระยะ โดยใช้สูตรการพักสายตา “20 – 20 – 20” หมายถึงละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุก 20 นาที แล้วมองไปยังวัตถุที่อยู่ไกลอย่างน้อย 20 ฟุต นานประมาณ 20 วินาที
- ขณะทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรกระพริบตาให้บ่อยขึ้น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวดวงตา
- ผู้ที่มีสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น ยาว หรือเอียง ควรตรวจและแก้ไขความผิดปกติสายตาโดยใส่แว่นสายตาหรือ คอนแทคเลนส์ เพื่อให้สามารถมองเห็นภาพที่หน้าจอได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ผลจากการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในร่างกายของมนุษย์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราควรระมัดระวังการใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ ซึ่งหากเราใช้บนพื้นฐานของความพอดี เทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งที่เติมเต็มให้ชีวิตมีคุณค่า ทำให้เราทันสมัยและไม่ตกยุคอย่างแน่นอน
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติม:
Review Date: พฤศจิกายน 29, 2019 | Last Modified: ธันวาคม 2, 2019