backup og meta

5 ประโยชน์ดีๆ ที่อาจทำให้คุณอยากกิน ลูกพลับ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 22/07/2020

    5 ประโยชน์ดีๆ ที่อาจทำให้คุณอยากกิน ลูกพลับ

    มีท่านผู้อ่านท่านใดในที่นี้เป็นแฟนคลับของลูกพลับบ้างคะ? ลูกพลับเป็นผลไม้ที่มีทั้งรสหวานและรสฝาด ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องมีเทคนิคในการเลือก หรืออาจเลือกตามสายพันธุ์ หรือแหล่งจำหน่ายที่ไว้ใจได้ เพื่อให้ได้รสชาติที่พึงพอใจ อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องของรสชาติที่อร่อยแล้ว ลูกพลับ ก็ยังให้คุณค่าทางอาหารสูงมาก แต่ลูกพลับจะให้สารอาหารอะไรบ้าง และดีต่อสุขภาพแค่ไหน เรามาติดตามได้ที่นี่เลยค่ะ กับ Hello คุณหมอ

    สารอาหารใน ลูกพลับ

    ลูกพลับ เป็นผลไม้ที่มีดีมากกว่ารสชาติที่อร่อย เพราะจัดว่าเป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูงและให้แคลอรีต่ำ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่รักสุขภาพ หากคุณรับประทานลูกพลับ 1 ผล (หรือประมาณ 168 กรัม) คุณจะได้รับคุณค่าทางสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

    • พลังงาน 118 แคลอรี่
    • คาร์โบไฮเดรต 31 กรัม
    • โปรตีน 1 กรัม
    • ไขมัน 0.3 กรัม
    • ไฟเบอร์ 6 กรัม

    นอกจากนี้ลูกพลับยังให้วิตามินและแร่ธาตุสำคัญ ที่ช่วยให้สุขภาพดีอีกมากมาย ได้แก่

  • วิตามินเอ
  • วิตามินซี
  • วิตามินอี
  • วิตามินเค
  • วิตามินบี1
  • วิตามินบี6
  • โพแทสเซียม
  • ทองแดง
  • แมงกานีส
  • โฟเลต
  • แมกนีเซียม
  • ฟอสฟอรัส
  • ประโยชน์ของลูกพลับ

     1. ดีต่อสายตา

    ในลูกพลับมีสารต้านอิสระสำคัญที่ชื่อ ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) สารต้านอนุมูลอิสระทั้งสองชนิดนี้เป็นสารอาหารสำคัญที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา ป้องกันความสูญเสียทางการมองเห็น 

    2. มีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมอง

    ลูกพลับอุดมไปด้วยสารไฟเซติน (Fisetin) ซึ่งเป็นสารอาหารในกลุ่มของสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) โดยสารไฟเซตินมีส่วนช่วยเสริมสร้างความจำ ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อระบบเส้นประสาทและสมอง รวมถึงมีส่วนช่วยในการป้องกันความเสื่อมสมรรถภาพทางสติปัญญาด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าสารไฟเซตินมีส่วนช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนินในร่างกายอีกด้วย

    3. ดีต่อสุขภาพหัวใจ

    ผักและผลไม้หลายชนิดมีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพหัวใจและช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ ลูกพลับก็เช่นเดียวกัน เพราะในลูกพลับมีสารอาหารสำคัญต่อหัวใจนั่นคือโพแทสเซียม ซึ่งหากร่างกายได้รับโพแทสเซียมอย่างเพียงพอก็จะช่วยลดความดันโลหิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่นำไปสู่โรคหัวใจ วิตามินซีและโฟเลตในลูกพลับเองก็มีส่วนช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและภาวะหัวใจวาย

    4. มีส่วนช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

    ผลไม้ที่อยู่ในกลุ่มสีส้มหรือสีเหลืองอย่างลูกพลับ จัดว่าเป็นกลุ่มอาหารที่ให้สารอาหารสำคัญอย่างเบต้าแคโรทีน (Beta Carotene) ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีส่วนสำคัญในการควบคุมและลดอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และเนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูงจึงดีต่อระบบขับถ่ายและระบบย่อยอาหาร ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีมากขึ้น จึงลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในลำไส้อย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่

    5. มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน

    ไม่ใช่แค่เพียงการหมั่นออกกำลังกายและการดื่มนมเท่านั้นที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง การรับประทานผักและผลไม้ต่างๆ ก็ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพกระดูกเช่นกัน โดยเฉพาะกับลูกพลับซึ่งมีสาร โพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) ที่ได้รับการค้นพบและวิจัยว่ามีส่วนช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคกระดูกพรุนได้

    วิธีเลือกลูกพลับ

    • เลือกลูกพลับที่มีผลอวบ มีผิวเรียบเนียน เป็นเงาวาว ไม่มีรอยแตกหรือรอยช้ำ
    • หากต้องการรับประทานลูกพลับทันที หรือกินภายใน 1-2 วัน ควรเลือกลูกพลับที่สุกแล้ว เพราะลูกพลับที่ยังไม่สุกอาจจำเป็นต้องใช้เวลาอีก 2-3 วัน กว่าที่ลูกพลับจะสุกพร้อมรับประทาน
    • หากซื้อลูกพลับที่ยังไม่สุกมา และต้องการทำให้สุก สามารถเก็บลูกพลับไว้ในอุณหภูมิห้องได้เลย โดยนำลูกพลับใส่ไว้ในถุงกระดาษที่ปิดมิดชิด

    ข้อควรระวังในการรับประทานลูกพลับ

    • โปรดแน่ใจว่าตนเองไม่มีอาการแพ้ลูกพลับ เพราะหากมีอาการแพ้ที่รุนแรงอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรืออันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ในกรณีที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง
    • หากมีอาการทางสุขภาพที่เกี่ยวกับช่องท้อง กระเพาะอาหาร หรือมีการผ่าตัดที่เกี่ยวเนื่องกับช่องท้องหรือกระเพาะอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานลูกพลับไปก่อนจนกว่าจะหายดี เนื่องจากอาจเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการอุดตันในลำไส้ได้ 
    • ล้างลูกพลับก่อนนำมารับประทานเสมอ และหากนำไปแช่ตู้เย็นควรเก็บลูกพลับให้ห่างจากอาหารประเภทอื่น เช่น เนื้อสัตว์ หรือปลา เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของอาหาร หรืออาจทำให้กลิ่นของอาหารผิดเพี้ยนไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 22/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา