backup og meta

วิธีเล้าโลม เพื่อปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศก่อนร่วมรัก

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 30/01/2024

    วิธีเล้าโลม เพื่อปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศก่อนร่วมรัก

    วิธีเล้าโลม หมายถึง การกระตุ้นอารมณ์ทางเพศก่อนการมีเพศสัมพันธ์ด้วยการสัมผัสไปตามอวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการขบ เม้ม เลีย ตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายแต่ละคนนั้นจะมีจุดอ่อนไหวที่แตกต่างกัน หากรู้จักวิธีเล้าโลมเพื่อเพิ่มอารมณ์ทางเพศแล้วก็จะยิ่งสร้างความพึงพอใจให้กันและกันทำให้โอกาสในการถึงจุดสุดยอดของคู่รักนั้นมีมากขึ้นด้วย คู่รักแต่ละคู่ควรเรียนรู้วิธีเล้าโลมอีกฝ่ายว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เพื่อสร้างความสุขและกระชับความสัมพันธ์

    การเล้าโลมสำคัญอย่างไร

    การเล้าโลม (Foreplay) เป็นหนึ่งในกิจกรรมทางเพศที่คู่รักหลาย ๆ คู่อาจมองข้าม เพียงแค่รู้สึกว่ามีความต้องการทางเพศก็มุ่งไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ด้วยการสอดใส่ในทันที ซึ่งปัญหาที่มักจะตามมาข้อแรก ๆ ก็คือ การไม่สุขสมอารมณ์หมายหรือการไม่ถึงจุดสุดยอดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งคู่

    การเล้าโลมจึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่ไม่ควรละเลย เนื่องจากจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกและอารมณ์ทางเพศของอีกฝ่ายให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย มีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่มากมาย การเล้าโลมอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งแม้เพียงไม่กี่นาที ก็สามารถปลุกเร้าอารมณ์ของอีกฝ่ายให้เข้าใกล้ความสุขที่เรียกว่าจุดสุดยอดได้ 

    นอกจากนี้ การเล้าโลม ยังเป็นการอุ่นเครื่องให้ร่างกายพร้อมสำหรับกิจกรรมทางเพศด้วย การเล้าโลมไปที่จุดเสียวของอีกฝ่าย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักจะถึงจุดสุดยอดได้ยากกว่าผู้ชาย การเล้าโลม ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยกระตุ้นให้ช่องคลอดเกิดการขยายตัว มีน้ำหล่อลื่นออกมา ทำให้เซ็กส์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นไปได้ด้วยดี ไม่เกิดการติดขัด หรือเจ็บปวด และมีโอกาสถึงจุดสุดยอดได้เร็วขึ้น

    วิธีเล้าโลม ทำได้อย่างไรบ้าง

    วิธีเล้าโลมคู่รักนั้นทำได้ด้วยการใช้ปาก มือ หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสไปตามอวัยวะหรือจุดอ่อนไหวของอีกฝ่าย ซึ่งจะไปช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศให้มีมากขึ้น วิธีเล้าโลมอาจเลือกการจูบ ขบ เม้ม ลูบ เลีย คลำ ดูด นวด หรือสัมผัสอวัยวะต่าง ๆ หรือบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้

    หู

    หู เป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความบอบบางและมีตัวรับความรู้สึกกระจุกตัวอยู่มากที่สุด การสัมผัส การจูบ การเลีย การกระซิบให้ลมหายใจกระทบกับใบหู สามารถกระตุ้นความรู้สึกจั๊กจี้หรือเสียวซ่านขึ้นมาได้

    ที่สำคัญ คู่รักควรทำความสะอาดใบหูให้เรียบร้อยเพื่อลดความเสี่ยงของเชื้อโรค แบคทีเรีย หรือปัญหาของกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจจะทำให้รู้สึกหมดอารมณ์มากกว่าที่จะปลุกเร้าอารมณ์

    ต้นคอ

    ต้นคอ เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีความบอบบางและเต็มไปด้วยเส้นประสาทรับความรู้สึกเป็นจำนวนมาก เพียงจูบที่ต้นคอเบา ๆ ลูบไล้ โอบกอด ใช้นิ้วนวดสัมผัสวนไปมา ก็สามารถกระตุ้นความรู้สึกสยิวให้พุ่งพล่านได้ 

    ข้อมือด้านใน

    หลายคนอาจจะเข้าใจว่าจุดเสียวมักจะเป็นจุดที่อยู่ในร่มผ้า แต่ความจริงแล้วยังมีอีกหลายจุดเสียวที่อยู่นอกร่มผ้า หนึ่งในนั้นคือ บริเวณข้อมือด้านใน ซึ่งมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ด้วย การสัมผัสที่ข้อมือบ่อย ๆ ลูบไล้เบา ๆ จูบหรือเลีย สามารถจุดประกายความรู้สึกต้องการเพศได้

    หัวนม

    หัวนม เป็นอวัยวะที่รวมเอาเส้นประสาทรับความรู้สึกไว้มากที่สุดอีกจุดหนึ่ง การสัมผัสด้วยลิ้น รอยจูบ นิ้วมือ หรืออุปกรณ์เสริมสำหรับการมีเซ็กส์ อย่างเซ็กส์ทอย ก็สามารถช่วยกระตุ้นให้รู้สึกเสียวซ่านขึ้นมาได้

    หน้าท้องส่วนล่าง

    ช่วงบริเวณสะดือ เป็นอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์สำหรับการเล้าโลม เนื่องจากไวต่อความรู้สึก การจูบ การเลีย หรือแม้กระทั่งการใช้ขนนกสัมผัสไปมา การใช้น้ำแข็งถูไปมา รวมทั้การขบกัดเพียงเบา ๆ ก็สามารถเร้าอารมณ์ทางเพศให้เพิ่มสูงขึ้นได้

    ต้นขาด้านใน

    ต้นขา ถือเป็นจุดเสียวที่ดีมาก ๆ อีกจุดหนึ่ง โดยเฉพาะต้นขาด้านในซึ่งมีความบอบบางมาก และอยู่ใกล้กับจุดกระตุ้นความเสียวขั้นสูงสุด เพียงลูบไล้ที่บริเวณต้นขาด้านใน ค่อย ๆ บรรจงจูบไล่ขึ้นลง หรือจะเลียเบา ๆ ก็สร้างอารมณ์ความต้องการทางเพศได้ไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ 

    ขาพับ

    ถัดลงมาจากต้นขาก็จะพบกับจุดเสียวอีกหนึ่งจุด นั่นคือบริเวณขาพับ หรือหัวเข่าด้านหลัง ซึ่งเป็นจุดที่ถูกมองข้ามเวลาที่เกิดการเล้าโลม แต่ที่จริงแล้ว จุดนี้เต็มไปด้วยเส้นประสาทรับความรู้สึก การสัมผัสเบา ๆ ที่บริเวณขาพับก็ยิ่งกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้เช่นกัน

    เท้า

    จากหัวเข่าไล่ลงมาจนถึงเท้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกเป็นจำนวนมาก การกระตุ้นอารมณ์ทางเพศจากเท้าแล้วค่อย ๆ ไล่ขึ้นไปยังต้นขา แล้วกลับมาที่เท้าอีกที สามารถกระตุ้นความรู้สึกเสียวซ่านได้ แต่ควรทำค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป เพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุกของขาหรือเท้าและอาจเกิดอันตรายได้ 

    บริเวณหัวหน่าว

    หัวหน่าว เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้คลิตอริส ของฝ่ายหญิง เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีความอ่อนไหวและบอบบาง การจูบหรือสัมผัส หรือการนวดคลึงเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ แม้จะไม่ได้กระตุ้นคลิตอริสโดยตรง แต่ก็เสมือนเป็นการกระตุ้นคลิตอริสทางอ้อม ช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้ไม่ต่างจากจุดอื่น

    คลิตอริส

    คลิตอริสเป็นปุ่มเล็ก ๆ ที่บริเวณอวัยวะเพศหญิงที่มีปลายประสาทรับความรู้สึกอยู่มากกว่า 8,000 เส้น การใช้นิ้วสัมผัสขึ้นลงช้า ๆ การเลีย หรือการใช้อุปกรณ์สำหรับการมีเซ็กส์ นวดหรือคลึงเบา ๆ จะช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้เป็นอย่างดี แต่อาจต้องระวังไม่สัมผัสแรงจนเกินไป เพราะอาจทำให้รู้สึกเจ็บ 

    ปลายอวัยวะเพศชาย

    ลึงค์ คือส่วนหัวของอวัยวะเพศชายที่มีความบอบบางมาก และมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ราว ๆ 4,000 เส้น การเล้าโลม หรือสัมผัสกับบริเวณปลายอวัยวะเพศด้วยลิ้น ริมฝีปาก นิ้ว จะยิ่งกระตุ้นและปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศจนอาจถึงจุดสุดยอดได้

    เส้นสองสลึง

    เส้นสองสลึง (Frenulum) คือ เส้นเอ็นที่เป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ อยู่ที่บริเวณหัวขององคชาต การสัมผัสเส้นสองสลึงด้วยปากหรือมือ จะช่วยเพิ่มอารมณ์ทางเพศ แต่ควรสัมผัสด้วยความระมัดระวังและลูบไล้เพียงเบาๆ เนื่องจากเป็นส่วนที่บอบบางมากที่สุดจุดหนึ่ง

    อัณฑะ

    อัณฑะไม่เพียงแต่จะบอบบางมากเท่านั้น แต่ยังมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่หลายเส้น ดังนั้น นอกจากจะเล้าโลมองคชาต ควรสลับเล้าโลมที่บริเวณอัณฑะด้วย ทั้งการสัมผัสด้วยนิ้ว ลิ้น ปาก สามารถกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้เป็นอย่างดี

    คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีเล้าโลม

    วิธีเล้าโลม เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการมีเพศสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ ควรให้ความใส่ใจถึงความชอบของอีกฝ่าย จุดไหนบ้างที่จะช่วยปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศได้ หรือมีจุดไหนที่อยากให้ใส่ใจมากเป็นพิเศษ รวมทั้งบอกความต้องการของตัวเองให้อีกฝ่ายรับรู้ด้วย เพราะความสุขจากการร่วมรักนั้นไม่ได้หมายถึง การถึงจุดสุดอดเพียงอย่างเดียว การรู้จักหาวิธีเล้าโลมที่สร้างความพึงพอใจให้อีกฝ่ายได้ตั้งแต่เริ่มนับเป็นสัญญาณที่ดี รวมทั้งการบอกพูดบอกรักอีกฝ่ายหรือชื่นชมสิ่งที่อีกฝ่ายทำก็เป็นอีกหนึ่งวิธีเล้าโลมที่ช่วยเพิ่มความสุขและทำให้ถึงจุดสุดยอดระหว่างการร่วมรักได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 30/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา