
ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คือภาวะมีบุตรยาก ที่เกิดขึ้นเมื่อคู่สมรสไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปี ภาวะมีบุตรยากนั้นไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงเท่านั้น สามารถเกิดขึ้นกับเพศชายได้เช่นกัน
คำจำกัดความ
ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คืออะไร
ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คือภาวะมีบุตรยาก ที่เกิดขึ้นเมื่อคู่สมรสไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปี ภาวะมีบุตรยากนั้นไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงเท่านั้น สามารถเกิดขึ้นกับเพศชายได้เช่นกัน โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของเพศหญิงเกิดจาก ความผิดปกติของการตกไข่ และผู้ชายมักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของอสุจิ
พบได้บ่อยเพียงใด
ภาวะมีบุตรยากมักพบในเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 32 ปี ขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสภาวะเครียดทางจิตใจ
อาการ
อาการของภาวะมีบุตรยาก
อาการหลักของภาวะมีบุตรยาก คือ การไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ กรณีผู้หญิงที่มีบุตรยากอาจเกิดจากความผิดปกติของประจำเดือน ส่วนในบางกรณีของผู้ชายอาจเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ความผิดปกติของสมรรถภาพทางเพศ
โดยอาการที่แสดงออกของภาวะมีบุตรยากในเพศหญิงและเพศชายมีดังต่อไปนี้
- อายุ 35 ปีขึ้นไปและพยายามตั้งครรภ์เป็นเวลา 6 เดือน หรือนานกว่านั้น
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- เคยมีประวัติการแท้งมาก่อนหลายครั้ง
- เคยเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใด ๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
สาเหตุการมีบุตรยากนั้นเกิดได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ดังต่อไปนี้
สาเหตุการมีบุตรยากในเพศหญิง
- การตกไข่
เมื่อเซลล์ไข่โตเต็มที่ เซลล์ไข่จะถูกปล่อยออกจากรังไข่ แต่ในผู้มีภาวะมีบุตรยาก การตกไข่อาจผิดปกติ ซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะฮอร์โมนผิดปกติ เช่นมีการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) มากเกินไป ทำให้ขัดขวางการตกไข่ได้
- การปฏิสนธิ
เกิดจากความผิดปกติของการปฏิสนธิของอสุจิกับเซลล์ไข่ในท่อนำไข่ เช่น ท่อนำไข่เสียหายหรืออักเสบจากการติดเชื้อ อาจทำให้ท่อนำไข่เกิดการอุดตันจากการบวมอักเสบได้ ทำให้นำไปสู่ภาวะมีบุตรยาก
- การฝังตัว
เกิดขึ้นเมื่อไข่ปฏิสนธิยึดติดกับเยื่อบุมดลูกซึ่งจะสามารถเติบโตและพัฒนาเป็นทารกได้ แต่ในผู้มีภาวะมีบุตรยาก อาจจะเกิดภาวะทางสุขภาพบางประการ เช่น เนื้องอกในมดลูก ทำให้ขัดขวางการฝังตัวที่มดลูกของตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วได้
สาเหตุการมีบุตรยากในเพศชาย
- น้ำอสุจิไม่มีประสิทธิภาพ
เช่น มีจำนวนอสุจิน้อย หรืออสุจิมีรูปร่างและการเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพในการปฏิสนธิน้อยลง
- ปัญหาการหลั่งน้ำอสุจิ
ซึ่งมักจะเกิดจากปัจจัยภายนอกร่างกาย เช่น สารเคมี รังสี เช่น ควันบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การติดเชื้อแบคทีเรีย และรวมไปถึงภาวะในร่างกายเช่น ความดันโลหิตสูงหรืออาการซึมเศร้าก็ส่งผลกับการผลิดและการหลั่งน้ำอสุจิได้อีกด้วย
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะมีบุตรยาก
ปัจจัยเสี่ยงการมีบุตรยากในเพศหญิง
- อายุเพิ่มมากขึ้น
- สูบบุหรี่
- ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
- น้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือ อยู่ในภาวะอ้วน
- การติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์
ปัจจัยเสี่ยงการมีบุตรยากในเพศชาย
- อายุมากขึ้น
- สูบบุหรี่
- ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
- น้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือ อยู่ในภาวะอ้วน
- ร่างกายมีสารพิษสะสมมากเกินไป
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก
ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติอาการ โดยฝ่ายหญิงแพทย์อาจทำการตรวจบริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อตรวจหาความผิดปกติ นอกจากนี้อาจตรวจด้วยอัลตราซาวน์เพื่อตรวจสอบรังไข่และมดลูก ในกรณีของฝ่ายชายแพทย์อาจนำน้ำอสุจิไปวิเคราะห์ รวมถึงการทดสอบฮอร์โมนเพื่อตรวจหาความผิดปกติ
การรักษาภาวะมีบุตรยาก
ภาวะมีบุตรยากนั้นเกิดจากหลายสาเหตุและหลายปัจจัยด้วยกัน โดยฝ่ายหญิงแพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของมดลูก ร่วมกับการรับประทานยา ในกรณีฝ่ายชายแพทย์อาจให้รับประทานยาเพื่อรักษาสมดุลของฮอร์โมน รวมถึงการผ่าตัดท่อน้ำอสุจิในผู้ที่มีปัญหาท่อน้ำอสุจิอุดตันหรือหลอดเลือดดำอัณฑะขอด
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อเยียวยาภาวะมีบุตรยาก
ภาวะมีบุตรยากนั้นสามารถรักษาได้ด้วยวิธีธรรมชาติ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังต่อไปนี้
- การฝังเข็ม
การฝังเข็มเข้าไปจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เชื่อว่าสามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของพลังงานในร่างกาย ช่วยปรับสมดุล แต่ยังไม่มีหลักฐานจากงานวิจัยที่ยืนยันได้ว่าการฝังเข็มสามารถช่วยในภาวะมีบุตรยากได้
- โยคะ
ช่วยส่งเสริมการผ่อนคลายและลดระดับความเครียด แต่ถึงแม้จะยังมีการศึกษาว่าการเล่นโยคะสามารถช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากได้นั้นยังมีจำกัด แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่า โยคะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงด้านความเครียด ที่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้เช่นกัน
- วิตามิน
การรับประทานวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น โฟเลต (Folate) สังกะสี (Zinc) วิตามินซี (Vitamin C) และวิตามินอี (Vitamin E) เป็นต้น มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะมีบุตรยากได้
- ชา
การศึกษาวิจัยของชา ที่มีผลกับการบรรเทาภาวะมีบุตรยากยังมีจำกัด แต่มีงานวิจัยที่พบว่า สารต้านอนุมูลอิสระในชา อาจช่วยส่งเสริมการเจริญพันธ์ุ เช่น ปรับสมดุลฮอร์โมน เพิ่มจำนวนอสุจิ ได้
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด