
ความดันโลหิตต่ำ เป็นภาวะที่ความดันโลหิตลดลงอย่างกะทันหัน ถึงระดับต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งจะทำให้ปริมาณเลือดลดลง เนื่องหากหัวใจไม่บีบตัว
คำจำกัดความ
ความดันโลหิตต่ำคืออะไร
ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Low blood pressure เป็นภาวะที่ความดันโลหิตลดลงอย่างกะทันหัน ถึงระดับต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งจะทำให้ปริมาณเลือดลดลง เนื่องหากหัวใจไม่บีบตัว
ค่าความดันโลหิตมี 2 ตัวเลข ตัวแรกที่มีค่าสูงกว่าคือ ค่าความดันซิสโตลิก (systolic pressure) หรือความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจเต้นและลำเลียงเลือดผ่านเส้นเลือด ตัวเลขที่ 2 คือ ค่าความดันไดแอสโตลิก (diastolic pressure) หรือความดันในหลอดเลือดเมื่อหัวใจหยุดพักในระหว่างการเต้น
ดังนั้น ผู้ที่ถือว่ามีความดันโลหิตต่ำก็ต่อเมื่อ ได้ค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 ซึ่งหมายความว่า
- 90 มิลลิเมตรปรอท หรือต่ำกว่า เป็นความดันซิสโตลิก
- 60 มิลลิเมตรปรอท หรือต่ำกว่า เป็นความดันไดแอสโตลิก
ความดันโลหิตต่ำ เป็นอาการหนึ่งของภาวะทางสุขภาพหลายประการ และสามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ อย่างไรก็ดี การออกกำลังกายเป็นประจำ การยืนเป็นเวลานานเกินไป หรือแม้แต่การยืนขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอน ก็สามารถทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ โดยเรียกว่า ความดันโลหิตลดลงในท่ายืน (Postural Hypotension หรือ Orthostatic Hypotension)
ความดันโลหิตต่ำพบได้บ่อยเพียงใด
ความดันโลหิตต่ำสามารถส่งผลต่อทุกคน สามารถจัดการได้โดยลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของความดันโลหิตต่ำ
อาการต่างๆ ของความดันโลหิตต่ำ เกิดขึ้นเมื่อเลือดที่ลำเลียงไปเลี้ยงสมองลดลง โดยอาการทั่วไป ได้แก่
- อาการเวียนศีรษะหรืออาการมึนศีรษะ
- เป็นลมหรือวูบ
- ไม่มีสมาธิ
- การมองเห็นไม่ชัด
- คลื่นไส้
- ตัวเย็น ชื้น หรือซีด
- หายใจเร็วและสั้น
- อ่อนเพลีย
- มีอาการซึมเศร้า
- กระหายน้ำ
ความดันโลหิตต่ำเรื้อรังที่ไม่มีอาการถือว่าไม่รุนแรง เนื่องจากบางคนที่มีสุขภาพดี หรือออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะมีความดันโลหิตต่ำได้ แต่ความดันโลหิตที่ลดลงกะทันหัน สามารถทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆ ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสมอง โดยปริมาณเลือดที่ลดลงทำให้อวัยวะต่างๆ เกิดการขาดสารอาหารไปหล่อเลี้ยงได้
ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำบางรายมักมีอาการต่างๆ ที่รุนแรง เช่น เป็นลม ช็อค และชีพจรลดลง
อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการบางประการที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ความดันโลหิตต่ำไม่เป็นปัญหารุนแรง คนจำนวนมากมีค่าความดันโลหิตต่ำแต่ยังรู้สึกปกติ ในบางครั้ง อาจรู้สึกมึนศีรษะและเวียนศีรษะ แต่ไม่เป็นปัญหาหากอาการไม่รบกวนชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หากมีความดันโลหิตต่ำ เนื่องจากอาจเป็นสิ่งบ่งชี้ของปัญหาสุขภาพที่รุนแรงอื่นๆ ได้มากขึ้น ควรไปพบหมอหรือพยาบาล หากคุณมีอาการใดๆ ดังต่อไปนี้
- รู้สึกเวียนศีรษะหรือรู้สึกเหมือนจะอาเจียน เมื่อยืนเป็นเวลานานขึ้น (มากกว่า 5 วินาที)
- มีอาการใจสั่น (หัวใจเต้นเร็ว แรง หรือผิดปกติ)
- มองเห็นไม่ชัด
- คลื่นไส้
- ตัวอุ่น
- เหงื่อออกมาก
- มึนศีรษะ
สาเหตุ
สาเหตุของความดันโลหิตต่ำ
สาเหตุของความดันโลหิตต่ำมีหลายประการ ได้แก่
- มีของเหลวไม่เพียงพอในหลอดเลือด สามารถเกิดขึ้นได้หากเกิดการสูญเสียเลือดหรือมีภาวะขาดน้ำ ซึ่งหมายความว่าไม่มีของเหลวเพียงพอในร่างกาย โดยมีสาเหตุจาก
- ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
- มีอาการท้องร่วงหรืออาเจียนรุนแรง
- มีเหงื่อออกมาก (ตัวอย่างเช่น ในระหว่างออกกำลังกาย)
- หัวใจสูบฉีดไม่แรงพอ
- เส้นประสาทและฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายที่ควบคุมหลอดเลือดทำงานไม่เหมาะสม
- ตั้งครรภ์
- ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ เบาหวาน หรือน้ำตาลในเลือดต่ำ
- เพลียแดด หรือเป็นลมแดด
- การใช้ยาที่วางจำหน่ายโดยทั่วไปบางชนิด
- ยาที่แพทย์สั่ง เช่น ยาสำหรับความดันโลหิตสูง ภาวะซึมเศร้า หรือโรคพาร์กินสัน
ในผู้ป่วยบางราย ความดันโลหิตต่ำเกี่ยวข้องกับปัญหาอื่นๆ เช่น
- โรคเบาหวาน
- โรคพาร์กินสัน
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
- หลอดเลือดขยายหรือกว้างขึ้น
- โรคตับ
แต่ผู้ที่มีสุขภาพดีก็สามารถเป็นความดันโลหิตต่ำได้เช่นกัน โดยผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นความดันโลหิตต่ำได้มากกว่า นอกจากนี้ ยังพบได้ทั่วไปในหญิงตั้งครรภ์ด้วยเช่นกัน
ในผู้ป่วยบางราย ความดันโลหิตสามารถลดลงได้อย่างกะทันหัน โดยอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การสูญเสียเลือดจากภาวะเลือดออก
- อุณหภูมิร่างกายต่ำ
- อุณหภูมิร่างกายสูง
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว
- การติดเชื้อในเลือดขั้นรุนแรง
- ภาวะขาดน้ำขั้นรุนแรงจากการอาเจียน ท้องร่วง หรืออาการไข้
- ปฏิกิริยาต่อยาหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ปฏิกิริยาภูมิแพ้ขั้นรุนแรง หรือเรียกว่าอาการ “แอนาฟิแล็กซิส”
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตต่ำ
ความเสี่ยงสำหรับทั้งภาวะความดันโลหิตต่ำ และความดันโลหิตสูง มักเพิ่มขึ้นตามอายุ กระแสเลือดที่ถูกส่งไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ และสมองลดลงตามอายุ ซึ่งมักเป็นผลจากการก่อตัวของคราบพลัคในหลอดเลือด ผู้คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ประมาณร้อยละ 10-20 มักมีความดันโลหิตต่ำ
ยาบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตต่ำได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ (diuretics) ยากลุ่มไนเตรท (nitrates) และยาวาโสลิเดชั่น (vasodilation)
ความเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่
- มีประวัติการสูญเสียปริมาตร (อาเจียน ท้องร่วง การจำกัดของเหลว อาการไข้)
- มีประวัติสุขภาพเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลว โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคพิษสุราเรื้อรัง
- หลักฐานการตรวจทางประสาทวิทยาของโรคพาร์กินสัน โรคปลายประสาทอักเสบ และระบบประสาทอัตโนมัติพกพร่อง เช่น การตอบสนองของรูม่านตาผิดปกติ
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยความดันโลหิตต่ำ
มีการทดสอบบางประการ ที่สามารถช่วยให้แพทย์หรือพยาบาลวินิจฉัยได้ว่า ความดันโลหิตต่ำทำให้เกิดอาการต่างๆ หรือไม่ การทดสอบที่มักใช้กันมากที่สุดคือ การวัดความดันโลหิตและชีพจรในขณะที่กำลังนั่งหรือนอนลง แล้ววัดอีกครั้งหลังจากยืนขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบอื่นๆ ได้แก่
- การทดสอบเลือดเพื่อดูว่ามีภาวะเลือดจาง (Anemia) หรือไม่ ซึ่งเกิดขึ้นหากมีเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยเกินไป
- การทดสอบเลือดเพื่อตรวจว่า เลือดมีสมดุลของสารเคมีที่เหมาะสมและระดับของเหลวในเลือดอยู่ในช่วงที่เหมาะสม
- การทดสอบเพื่อให้มั่นใจว่าหัวใจสูบฉีดโลหิตอย่างเหมาะสม
การรักษาความดันโลหิตต่ำ
ความดันโลหิตต่ำทั้งที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น อาการเวียนศีรษะในเวลาสั้นเมื่อยืนขึ้น ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
สิ่งแรกที่แพทย์หรือพยาบาลจะต้องการดำเนินการหากพบว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำคือ วินิจฉัยว่าเกิดจากยาใดๆ ที่ใช้หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว แพทย์จะเปลี่ยนให้ใช้ยาชนิดอื่นหรือลดขนาดยาลง หากปรากฏอาการของโรคใดๆ โรคหนึ่ง แพทย์มักจะรักษาโรคที่มีอยู่ก่อน
วิธีการรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำขึ้นอยู่กับอายุ ภาวะทางสุขภาพ และประเภทของความดันโลหิตต่ำ โดยมีวิธีดังต่อไปนี้
- เพิ่มเกลือในอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้า เนื่องจากโซเดียมส่วนเกินอาจทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
- ดื่มน้ำมากขึ้น จะช่วยเพิ่มปริมาณเลือด และรักษาภาวะขาดน้ำได้
- สวมใส่ถุงน่องรัด
- ยาหลายชนิดสามารถใช้เพื่อรักษาความดันโลหิตต่ำที่เกิดขึ้นเมื่อยืนขึ้น หรือความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension)
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการความดันโลหิตต่ำ
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองดังต่อไปนี้ จะช่วยให้จัดการความดันโลหิตต่ำ โดยเป็นแนวทางปฏิบัติ หลังจากได้รับการรักษาจากแพทย์หรือพยาบาลแล้วเท่านั้น
- ยืนขึ้นอย่างช้าๆ และให้เวลาร่างกายได้ปรับตัว โดยเฉพาะตอนลุกขึ้นจากที่นอนในตอนเช้า ให้เริ่มต้นด้วยการลุกขึ้นนั่งสักครู่หนึ่ง แล้วแกว่งขาสักครู่หนึ่ง เมื่อลุกขึ้นยืน ควรมีสิ่งให้จับยึด หากรู้สึกเริ่มเวียนศีรษะ
- หลีกเลี่ยงการวิ่ง เดินทางไกล หรือทำสิ่งใดๆ ที่ใช้พลังงานมากในสภาพอากาศร้อน สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำในท่ายืนมีอาการแย่ลง
- ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อน
- หนุนขาเตียงทางด้านหัวเตียง เพื่อช่วยยกศีรษะให้สูงเหนือระดับหัวใจเล็กน้อยขณะนอนหลับ
- สวมใส่ถุงน่อง “รัด” ที่มีความยาวไปถึงเอวสามารถช่วยได้ แต่อาจสวมใส่ยาก
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด