
หากคุณมีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าปกติ แต่ยังไม่สูงพอที่จะจัดเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 คุณก็อาจมี ภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) ซึ่งต้องการการรักษาเช่นกัน
คำจำกัดความ
ภาวะก่อนเบาหวาน คืออะไร
ภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) หมายถึงการที่ระดับน้ำตาลในเลือดมีมากกว่าปกติ แต่ยังไม่สูงพอที่จะจัดว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หากคุณมี ภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน คุณอาจจะไม่สามารถผลิตอินซูลิน (Insulin) ได้มากพอ หลังการรับประทานอาหาร หรือร่างกายของคุณอาจจะตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่เหมาะสม
หากไม่มีการแทรกแซงใด ๆ ภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน อาจจะกลายเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภายใน 10 ปี หรือน้อยกว่านั้น ภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานสามารถทำความเสียหายต่อหัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิตในระยะเวลานานก่อนจะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2
ภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานพบได้บ่อยได้แค่ไหน
ภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานนั้นพบได้มาก สามารถจัดการได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดปรึกษากับแพทย์
อาการ
อาการของ ภาวะก่อนเบาหวาน เป็นอย่างไร
ในกรณีส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานนั้นจะไม่มีอาการ หากมีอาการแสดงมา อาจจะมี ดังนี้
- กระหายน้ำมากขึ้น
- ปัสสาวะบ่อย
- เหนื่อยล้า
- มองเห็นไม่ชัด
อาการหนึ่งที่พบได้มากสำหรับผู้ที่มีภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานคือสีผิวเปลี่ยนเป็นเข้มขึ้น หรือผิวหนังสีดำหนาคล้ายกำมะหยี่ (Acanthosis nigricans) โดยเฉพาะบริเวณคอ รักแร้ ข้อศอก เข่า และข้อนิ้วมือ
อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์ถึงอาการที่เกิดขึ้น
ควรไปพบหมอเมื่อไร
คุณควรจะไปพบหมอหากคุณมีอาการดังต่อไปนี้
- หากคุณมีภาวะน้ำหนักเกิน มีความดัชนีมวลกายมากกว่า 25
- หากคุณไม่กระฉับกระเฉง
- หากคุณอายุ 45 ปี หรือมากกว่า
- หากคนในครอบครัวของคุณมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2
- หากคุณมีเชื้อชาติแอฟริกา-อเมริกา ลาตินอเมริกา อเมริกันอินเดียน เอเชีย-อเมริกา หรือชาวเกาะแปซิฟิก
- หากคุณเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) หรือให้กำเนิดบุตรที่น้ำหนักมากกว่า 9 ปอนส์ (4.1 กิโลกรัม)
- หากคุณมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome) ซึ่งเป็นสภาวะทั่วไปมีลักษณะคือประจำเดือนที่ไม่ปกติ มีเส้นขนส่วนเกินและความอ้วน
- หากคุณมีความดันโลหิตสูง
- หากระดับของคอเลสเตอรอลไขมันที่มีความหนาแน่นสูง (High-density lipoprotein) (HDL) ต่ำกว่า 35 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (มิลลิกรัม/เดซิลิตร) หรือ 0.9 มิลลิโมล/ลิตร หรือมีระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (2.83 มิลลิโมล/ลิตร)
สาเหตุ
สาเหตุของ ภาวะก่อนเบาหวาน
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาสาเหตุของภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานได้ แต่มีคำแนะนำว่าพันธุกรรมอาจมีส่วนสำคัญในการเพิ่มปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากผิดปกติในยีนที่ควบคุมกระบวนการผลิตอินซูลิน ทำให้ร่างกายของคุณไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเหมาะสม และเมื่อระดับอินซูลินลดลง จะทำให้น้ำตาลสะสมอยู่ในกระแสเลือด ก็สามารถนำไปสู่ภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน
ปัจจัยเสี่ยงมีดังนี้
- น้ำหนัก การมีภาวะน้ำหนักเกินคือปัจจัยเสี่ยงเบื้องต้นของภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน รวมไปถึงผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35
- รอบเอว ผู้ที่มีรอบเอวมากอาจบ่งชี้ถึงภาวะดื้อต่ออินซูลิน
- ไม่กระฉับกระเฉง ยิ่งคุณไม่กระฉับกระเฉงมากเท่าไหร่ คุณยิ่งมีความเสี่ยงในการมีภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานมากขึ้นเท่านั้น
- อายุ แม้ว่าโรคเบาหวานสามารถเป็นได้ทุกช่วงอายุ ความเสี่ยงในการมี ภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน จะเพิ่มมากขึ้น หากคุณอายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังจากอายุ 45 ปี
- ประวัติในครอบครัว ความเสี่ยงในการมีภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานจะเพิ่มขึ้น หากพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- เชื้อชาติ แม้จะไม่ชัดว่าทำไม แต่คนบางเชื้อชาติ รวมไปถึงแอฟริกา-อเมริกา ลาตินอเมริกา อเมริกันอินเดียน เอเชีย-อเมริกา และชาวเกาะแปซิฟิกจะมีโอกาสมีภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานมากกว่า
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) หากคุณเคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานในภายหลังเพิ่มมากขึ้น หากคุณให้กำเนิดทารกที่น้ำหนักมากกว่า 4.1 กก. คุณก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานเช่นกัน
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome) สำหรับผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบซึ่งเป็นสภาวะทั่วไปมีลักษณะคือประจำเดือนที่ไม่ปกติ มีเส้นขนส่วนเกินและความอ้วน จะเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคเบาหวาน
- การนอนหลับ โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) คือความผิดปกติของการนอนหลับที่มีสาเหตุมาจากลมหายใจถูกขัดหลายครั้งขณะนอนหลับ นำไปสู่คุณภาพการนอนที่ไม่ดี ผู้ที่ทำงานเปลี่ยนกะหรือมีกะกลางคืน มีโอกาสที่จะมีปัญหากับการนอนหลับ และยังเพิ่มความเสี่ยงในการมีภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน หรือเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน
วิธีการตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานมีสามวิธี
- การตรวจระดับน้ำตาลสะสม หรือที่เรียกอีกอย่างว่าการตรวจน้ำตาลสะสมในเลือด (Glycosylated hemoglobin A1C test) การทดสอบนี้วัดเปอร์เซ็นต์ของน้ำตาลในเลือด ระหว่าง ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) หรือฮีโมโกลบินปกติ กับไกลโคซิเลต ฮีโมโกลบิน (Glycosylated hemoglobin) หรือฮีโมโกลบินที่มีโมเลกุลของกลูโคสเกาะติดอยู่ เป็นเวลา 2-3 เดือน
ระดับน้ำตาลสะสมที่ปกติควรต่ำกว่า 5.7 % ระดับน้ำตาลสะสมระหว่าง 5.7 และ 6.4 % นั้นถือว่าเป็นภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน ระดับ 6.5 % หรือมากกว่าในการตรวจทั้งสองรอบที่แยกจากกันจะบ่งชี้ว่าคุณเป็นโรคเบาหวาน
- การวัดระดับกลูโคสในพลาสมา (Fasting blood glucose test) แพทย์จะใช้ตัวอย่างเลือดหลังจากที่คุณอดอาหารในตอนกลางคืนไปตรวจ ระดับของน้ำตาลตั้งแต่ 100 ถึง 125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (5.6 ถึง 6.9 มิลลิโมล/ลิตร) นั้นถือว่าเป็นภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน
- การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล (Oral glucose tolerance test) การทดสอบจะวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากที่คุณอดอาหารในตอนกลางคืน หลังจากที่วัดระดับแล้ว คุณจะต้องดื่มน้ำเชื่อมเข้าไปแล้วรอให้น้ำเชื่อมปักหลักในร่างกาย แล้วจะทำการวัดระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง ระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 140 ถึง 199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (7.8 ถึง 11.0 มิลลิโมล/ลิตร) นั้นถือว่าเป็นภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน
สำหรับการทดสอบเหล่านี้ ยิ่งมีตัวเลขสูงเท่าไหร่ยิ่งมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตมากขึ้นเท่านั้น
การรักษาภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน
หากคุณมีภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน การรักษาแรกคือการปรับเปลี่ยนไลฟสไตล์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำ กุญแจสำคัญของการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ที่ช่วยในการจัดการและกำจัดภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน คือการออกกำลังกายเป็นประจำ และการลดน้ำหนัก หากคุณมีน้ำหนักเกิน คุณก็จะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานมาก
หากผลของการทดสอบนั้นสูงแต่ไม่พอที่เรียกว่าโรคเบาหวาน คุณอาจจำเป็นต้องใช้ยา เพื่อควบคุมระดับของอินซูลิน ยาทั่วไปของผู้มีภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานคือ ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) อย่างกลูโคเฟจ (Glucophage)
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองแบบไหนที่จะช่วยรักษา
ลักษณะไลฟ์สไตล์และการเยียวยาด้วยตนเองต่อไปนี้ อาจจะช่วยรักษาอาการของคุณได้
- หยุดสูบบุหรี่
- ลดน้ำหนักด้วยวิธีที่ปลอดภัย แม้แต่การลดน้ำหนักเพียง 5 % ก็สามารถเห็นความแตกต่างได้
- การใช้สมุนไพรเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั้น ค่อนข้างพบได้ทั่วไป สำหรับผู้มีภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวาน สมุนไพรที่มักจะใช้ก็คือ อบเชย (Cassia cinnamon) โครเมียม (Chromium) โคเอนไซม์คิว10 (Coenzyme Q10) โสม กลูโคแมนแนน (Glucomannan) กัวร์ กัม (Guar gum) จิมเนมา (Gymnema) แมกนีเซียม (Magnesium) ผลของต้นกระบองเพชร (Prickly pear cactus) ถั่วเหลือง และหญ้าหวาน แม้ว่าสารบางชนิดนี้อาจจะแสดงให้เห็นความคาดหวังในช่วงแรก ๆ ของการทดลอง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า การรักษาทางเลือกนี้จะได้ผล
หากคุณมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นถึงทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด