
เนื้องอกตับ เป็นก้อนเนื้อในตับที่ไม่ใช่มะเร็ง และไม่เป็นอันตราย เนื้องอกตับเกิดจากความซับซ้อนของเส้นเลือดในตับ ไม่ค่อยมีอาการที่ชัดเจน และไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
คำจำกัดความ
เนื้องอกในตับคืออะไร
เนื้องอกตับชนิดฮีแมงจิโอมา (liver hemangioma) เป็นก้อนเนื้อในตับที่ไม่ใช่มะเร็ง และไม่เป็นอันตราย เนื้องอกที่ตับเกิดจากความซับซ้อนของเส้นเลือดในตับ คำเรียกอื่นๆ สำหรับเนื้องอกที่ตับ ได้แก่ hepatic hemangioma และ cavernous hemangioma ผู้ป่วยเนื้องอกที่ตับส่วนใหญ่ตรวจพบระหว่างการตรวร่างกายหรือการรักษาโรคอื่นๆ ผู้ป่วยเนื้องอกที่ตับไม่ค่อยมีสัญญาณบ่งชี้หรืออาการที่ชัดเจน และไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
การพบเนื้องอกในตับอาจก่อให้เกิดความกังวลใจ แม้ว่าจะไม่ใช่ก้อนเนื้อร้าย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเนื้องอกในตับที่ไม่ได้รับการรักษาสามารถก่อให้เกิดมะเร็งตับได้
เนื้องอกที่ตับพบบ่อยเพียงใด
เนื้องอกที่ตับเป็นเนื้องอกในบริเวณตับที่ไม่เป็นอันตรายที่พบได้มากที่สุด โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของเนื้องอกตับ
ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ เนื้องอกตับไม่มีสัญญาณบ่งชี้หรืออาการใดแต่อาจมีสัญญาณบ่งชี้และอาการบางอย่างที่สัมพันธ์กับการเกิดเนื้องอกที่ตับ ได้แก่
- มีอาการปวดที่ช่องท้องด้านขวาบน
- รู้สึกอิ่มแม้รับประทานอาหารเพียงเล็กน้อย
- คลื่นไส้
- อาเจียน
อย่างไรก็ดี อาการเหล่านี้ไม่ชัดเจนและอาจเกิดจากโรคอื่นๆ อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่างๆ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปหาแพทย์เมื่อใด
หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใดๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของเนื้องอกตับ
แพทย์ไม่ทราบแน่ชัดถึงเหตุผลที่เส้นเลือดเกาะตัวกันและทำให้เกิดเนื้องอกที่ตับ อย่างไรก็ดี แพทย์เชื่อว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งหมายความว่ามีแนวโน้มถ่ายทอดกันภายในครอบครัว และเนื้องอกที่ตับบางชนิดอาจเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของเนื้องอกตับ
ปัจจัยความเสี่ยงสำหรับเนื้องอกที่ตับมีหลายประการ เช่น
- อายุ เนื้องอกที่ตับสามารถตรวจพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักตรวจพบได้มากที่สุดในผู้ที่อายุ 30 ถึง 50 ปี
- เพศ ผู้หญิงมีโอกาสมากกว่าที่จะตรวจพบเนื้องอกที่ตับได้มากกว่าผู้ชาย
- ผู้หญิงที่เคยตั้งครรภ์มีโอกาสมากกว่าที่จะตรวจพบเนื้องอกที่ตับ มากกว่าผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์ เชื่อกันว่าฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ อาจมีบทบาทต่อการเติบโตของเนื้องอกที่ตับ
- การเสริมฮอร์โมน ผู้หญิงที่ใช้การเสริมฮอร์โมนสำหรับอาการในวัยหมดประจำเดือนอาจมีโอกาสมากกว่าที่จะตรวจพบเนื้องอกที่ตับได้มากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ใช้การเสริมฮอร์โมน
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยเนื้องอกตับ
การทดสอบและขั้นตอนที่ใช้วินิจฉัยเนื้องอกที่ตับ ได้แก่
- อัลตร้าซาวด์ (Ultrasound)
- การตรวจด้วยซีทีสแกน
- การตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอ
อาจมีการทดสอบและขั้นตอนอื่นๆ โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของคุณ
การรักษาเนื้องอกตับ
เนื้องอกที่ตับส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรักษาแต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังเท่านั้น อย่างไรก็ดี อาจจำเป็นต้องผ่าตัดออกหากมีขนาดใหญ่และทำให้เกิดอาการต่างๆ หรือก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือความเสียหายต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของตับ โดยแพทย์อาจตัดสินใจผ่าตัดนำส่วนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดออก
เนื้องอกที่ตับสามารถเติบโตได้หากมีกระแสเลือดไปหล่อเลี้ยงมากพอ ในกรณีนี้ แพทย์อาจผูกหลอดเลือดหลักที่ลำเลียงเลือดไปยังเนื้องอก
ที่ตับให้เป็นปม ในขณะที่บริเวณโดยรอบตับจะได้รับเลือดจากหลอดเลือดอื่นๆ และยังคงมีสุขภาพดี การผ่าตัดแบบนี้เรียกว่าการผ่าตัดผูกเส้นเลือดแดงเฮพาติค (hepatic artery ligation)
ในกรณีอื่นๆ แพทย์อาจตัดสินใจฉีดยาเข้าไปในเนื้องอกที่ตับเพื่อขัดขวางกระแสเลือด ซึ่งทำให้เนื้องอกที่ตับหายไปในที่สุด เรียกว่า การอุดเส้นเลือด (arterial embolization)
ในสถานการณ์ที่พบได้น้อยมาก อาจจำเป็นต้องมีการปลูกถ่ายตับ ตับที่เสียหายจะได้รับการแทนที่ด้วยตับของผู้บริจาค แต่เฉพาะในกรณีที่เนื้องอกที่ตับมีขนาดใหญ่มากหรือมีการเพิ่มจำนวน และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นเท่านั้น หรือในบางกรณี อาจจำเป็นต้องมีการฉายรังสีเพื่อลดขนาดเนื้องอกลงอย่างไรก็ดี รูปแบบการรักษานี้พบได้น้อยมาก
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับเนื้องอกที่ตับ
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณจัดการเนื้องอกที่ตับได้
- เนื้องอกที่ตับมักไม่ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนในอนาคต แต่อาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติหากมีขนาดเพิ่มขึ้น ควรหมั่นเอาใจใส่อาการใดๆ ที่อาจสัมพันธ์กับการเพิ่มขนาดของเนื้องอกที่ตับ เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการปวดเรื้อรังช่องท้องด้านขวาบน
- ควรการดูแลรักษาสุขภาพตับ โดยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี ควบคุมน้ำหนักร่างกายให้เหมาะสม และเลิกสูบบุหรี่
- การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์เหล่านี้สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคตับอื่นๆ ได้
หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด