
ไข้ซิกา (Zika) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา เชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีพาหะนำโรคเป็นยุงลาย เช่นเดียวกันกับไข้เลือดออก และจะพบได้มากในพื้นที่เขตร้อน และพื้นที่กึ่งเขตร้อน
คำจำกัดความ
ไข้ซิกา คืออะไร
ไข้ซิกา (Zika) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) เชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีพาหะนำโรคเป็นยุงลาย เช่นเดียวกันกับไข้เลือดออก และจะพบได้มากในพื้นที่เขตร้อน และพื้นที่กึ่งเขตร้อน
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงให้เห็นอาการอะไร แต่บางคนก็อาจจะอาจจะมีอาการไข้อ่อน ๆ มีผดผื่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว หรือตาแดง ซึ่งเป็นอาการของโรคไข้ซิกานั่นเอง
หากผู้หญิงตั้งครรภ์ป่วยเป็นโรคไข้ซิกา เชื้อไวรัสนี้ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ ทั้งทำลายสมอง ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและเจริญเติบโต จนอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด หรือเสียชีวิตในครรภ์ได้ นอกจากนี้ เชื้อไวรัสซิกายังอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบประสาทอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome) ได้อีกด้วย
ไข้ซิกา พบได้บ่อยแค่ไหน
ไข้ซิกาจะพบได้มากในประเทศเขตร้อนและประเทศกึ่งเขตร้อน และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดสอบถามแพทย์
อาการ
อาการของไข้ซิกา
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา 4 ใน 5 คนอาจจะไม่มีอาการใด ๆ แต่หากมีอาการ ก็มักจะเริ่มมีอาการภายใน 2-7 วันหลังจากถูกยุงกัด สัญญาณและอาการของโรคไข้ซิกาที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- ไข้อ่อน ๆ
- ผดผื่น
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดหัว
- ปวดตา
- ตาแดง
โดยปกติแล้ว อาการมักจะหายไปภายในหนึ่งสัปดาห์
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถามเกี่ยวกับอาการของโรคโปรดปรึกษาแพทย์
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของไข้ซิกา
ไข้ซิกาเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา ที่มียุงลายเป็นพาหะ เมื่อยุงลายที่มีเชื้อซิกากัดคน เชื้อไวรัสซิกาก็จะเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบว่า ไวรัสซิกาอาจสามารถติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ และสามารถติดจากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้อีกด้วย
โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของไข้ซิกา
ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคไข้ซิกามีดังต่อไปนี้
- อยู่ในพื้นที่เขตร้อน พื้นที่เขตร้อน และเขตกึ่งร้อน เช่น ประเทศไทย อาจจะมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสซิกาได้
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เนื่องจากมีรายงานว่าไวรัสซิกาอาจสามารถติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ได้ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสซิกา
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยไข้ซิกา
แพทย์จะทำการซักประวัติและสอบถามเกี่ยวกับประวัติการเดินทาง เพื่อดูความเสี่ยงว่ามีโอกาสได้รับไวรัสซิกามากน้อยแค่ไหน จากนั้นก็อาจจะทำการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่
สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นไข้ซิกา แพทย์อาจต้องทำการตรวจดังต่อไปนี้
- ตรวจอัลตราซาวน์เพื่อดูความผิดปกติและพัฒนาการของทารกในครรภ์
- ตรวจตัวอย่างน้ำคร่ำ เพื่อหาดูว่ามีเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่
การรักษาไข้ซิกา
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคไข้ซิกาอย่างเฉพาะเจาะจง อีกทั้งยังไม่มีวัคซีนที่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสซิกาได้ การรักษาโรคไข้ซิกาจะมุ้งเน้นไปที่การบรรเทาอาการ พักผ่อน ให้น้ำเกลือ และรับประทานยา เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวด
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับไข้ซิกา
เราสามารถปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อช่วยป้องกันโรคไข้ซิกาได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกา
- กำจัดแหล่งของยุงลาย เช่น แหล่งน้ำขัง แอ่งน้ำนิ่ง หรือบ่อน้ำ เนื่องจากยุงลายนั้นเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสซิกา หากพบน้ำขังควรเททิ้ง หรืออาจจะใช้ทรายกำจัดยุงลาย หรือเลี้ยงปลาหางนกยูงในบ่อน้ำเพื่อช่วยกินลูกน้ำยุงลายก็ได้เช่นกัน
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย
- ทายากันยุง
- ติดมุ้งลวดกันยุง
หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด