backup og meta

น้ำมันหมู กับประโยชน์ต่อร่างกายและข้อควรระวังในการรับประทาน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 25/01/2024

    น้ำมันหมู กับประโยชน์ต่อร่างกายและข้อควรระวังในการรับประทาน

    น้ำมันหมู เป็นน้ำมันที่ได้จากการเจียวส่วนหนังหมูซึ่งเป็นชั้นไขมัน โดยน้ำมันหมูนิยมนำไปประกอบอาหาร ซึ่งมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงการเลือกใช้ ประโยชน์ และโทษของน้ำมันหมู ว่าเหมาะสมหรือไม่ ดีหรือให้โทษต่อร่างกายมากกว่ากัน แต่สิ่งสำคัญคือข้อควรระวังและความเหมาะสมในการเลือกใช้น้ำมันหมูกับการปรุงอาหารให้ถูกประเภท

    เหตุผลในการใช้น้ำมันหมูเพื่อประกอบอาหาร

    น้ำมันหมูเป็นน้ำมันที่ได้รับจากการเจียวไขมันหมูจนได้ออกมาเป็นน้ำมันหมู น้ำมันหมู เป็นน้ำมันที่ได้รับความนิยมในการใช้เพื่อนำมาปรุงอาหารเป็นอย่างมาก เพราะเป็นน้ำมันที่ราคาไม่แพง ทำได้ง่าย แถมหลังจากเจียวมันหมูเสร็จยังเหลือกากหมูให้ไว้รับประทานได้อีกด้วย ที่สำคัญน้ำมันหมูเป็นน้ำมันที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ โดยหมูที่มีการเลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ ยังมีสารอาหาร เช่น วิตามินดี และวิตามินเค2 ที่สูงอีกด้วย นอกจากนี้ น้ำมันหมูยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีก ดังนี้

    น้ำมันหมูทนความร้อนสูง

    น้ำมันหมูเป็นน้ำมันที่ทนความร้อนได้สูงกว่าน้ำมันพืชทั่วไป ดังนั้น น้ำมันหมูจึงเหมาะกับการใช้สำหรับอาหารทอด เมื่อน้ำมันหมูได้รับความร้อนแล้วทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายน้อยกว่าการใช้น้ำมันชนิดอื่น ๆ นอกจากไขมันจากหมูแล้ว ไขมันจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ อย่างเช่น ไขมันวัว ไขมันควาย ไขมันห่าน ยังเป็นไขมันที่ดี และทนความร้อนได้ดีเช่นเดียวกัน

    ให้วิตามินเค 2

    การที่จะระบุได้ว่าน้ำมันหมูนั้นมีปริมาณวิตามินเค 2 เท่าไร ถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะวิตามินเค 2 ในสัตว์แต่ละตัวนั้นมีปริมาณไม่เท่ากัน ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการเลี้ยง โดยสัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยหญ้าสด ในทุ่งหญ้ามีแนวโน้มที่จะมีปริมาณสารอาหารหรือโภชนาการที่ดี ซึ่งไขมันหมูที่มีวิตามินเค 2 สูงนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

    เป็นแหล่งวิตามินดี 3 ที่ดี

    วิตามินดี 3 เป็นวิตามินที่มีในเนื้อหมู และมีความเข้มข้นมากที่สุดในไขมันหมู จึงทำให้น้ำมันหมูเป็นแหล่งวิตามินดี 3 ซึ่งเป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยในการส่งเสริมสุขภาพของกระดูก ฟัน และกล้ามเนื้อ

    ปราศจากไขมันทรานส์

    น้ำมันหมูเป็นไขมันที่ปราศจากไขมันทรานส์ ซึ่งไขมันทรานส์นั้นเกิดจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเข้าไป มักจะใช้ในอุตสาหกรรมเนยขาว เนยเทียม และบางครั้งก็มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในน้ำมันพืชด้วย ซึ่งการได้รับไขมันทรานส์นั้นมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และเพิ่มการเกิดการอักเสบ เพิ่มระดับไขมัน LDL และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

    น้ำมันหมูกับวิธีการปรุงอาหาร

    การทอด น้ำมันหมูมีความเสถียรของสารออกซิเดชัน ทนความร้อน จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการทอด

    ผัด น้ำมันหมูเป็นน้ำมันที่เหมาะกับการปรุงอาหารที่เหมาะกับรูปแบบการปรุงที่อุณหภูมิสูง เพราะทนต่อการเกิดออกซิเดชัน

    ทำแป้งพายและเบเกอร์รี่ น้ำมันหมูเหมาะสำหรับการใช้ทำแป้งพายและเบอเกอร์รี่ต่าง ๆ เพราะมีส่วนช่วยให้ขนมมีความกรอบ เป็นขุย

    ข้อควรระวัง

    น้ำมันหมูเป็นน้ำมันที่มีส่วนประกอบเป็นไขมันอิ่มตัว ทำให้มีคอเลสเตอรอลสูง หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายสูงขึ้น จนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังได้ เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 25/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา