backup og meta

เสมหะปนเลือด สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด เมื่อสัปดาห์ก่อน

    เสมหะปนเลือด สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน

    หากมีอาการไอเรื้อรัง บางครั้งอาจทำให้เกิด เสมหะปนเลือด ได้ด้วย การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุที่อาจทำให้เสมหะปนเลือด และวิธีป้องกันที่เหมาะสม อาจช่วยให้รับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น และรักษาได้อย่างทันท่วงที

    เสมหะปนเลือด เกิดจากอะไรได้บ้าง

    อาการมีเสมหะปนเลือดเมื่อไอ หรือที่เรียกว่า ไอเป็นเลือด สามารถพบได้บ่อย มักเกิดจากปัญหาในระบบทางเดินหายใจที่ไม่รุนแรง เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลมอักเสบ โรคหอบหืด แต่หากเสมหะมีเลือดปนเป็นจำนวนมาก หรือเห็นเลือดในเสมหะบ่อยครั้ง ในกรณีที่ไม่รุนแรงอาจเกิดจากปัญหาที่ปอดหรือกระเพาะอาหาร แต่หากเสมหะปนเลือดสีเข้ม และมีเศษอาหาร หรือสิ่งที่ดูเหมือนกากกาแฟปนออกมาด้วย อาจเป็นสัญญาณของปัญหาในระบบการย่อยอาหารที่รุนแรง ซึ่งควรเข้าพบคุณหมอทันที

    สาเหตุที่พบบ่อยของเสมหะปนเลือด

    สาเหตุที่พบได้บ่อย เมื่อมีเสมหะปนเลือด เช่น

  • อาการไอรุนแรงและเรื้อรัง ส่งผลทำให้ระบบทางเดินหายใจส่วนบนระคายเคืองและเส้นเลือดฉีกขาด
  • โรคหลอดลมอักเสบ อาจเกี่ยวข้องกับการอักเสบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของทางเดินหายใจ
  • เลือดกำเดาไหล
  • การบาดเจ็บสาหัส โดยเฉพาะที่บริเวณทรวงอก อาจทำให้มีเสมหะปนเลือดได้
  • โรคมะเร็งปอด สามารถทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง หายใจถี่ เจ็บหน้าอก และบางครั้งอาจจะปวดกระดูกหรือปวดศีรษะด้วย
  • โรคมะเร็งลำคอ มักเริ่มจากในลำคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม และอาจทำให้เกิดอาการบวม หรือมีอาการเจ็บคอที่ไม่สามารถรักษาให้หายถาวรได้ นอกจากนั้น ยังอาจทำให้เกิดรอยสีแดงหรือสีขาวในปากด้วย
  • โรคปอดบวม มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลให้เนื้อเยื่อปอดอักเสบ และอาจทำให้ไอเป็นเลือด หรือมีเสมหะปนเลือดได้ นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคปอดบวม มักมีอาการเจ็บหน้าอกเมื่อหายใจหรือไอ อ่อนเพลีย มีไข้ เหงื่อออก และหนาวสั่น หากเป็นผู้สูงอายุอาจมีอาการสับสนร่วมด้วย
  • ปัญหาที่ปอด เช่น เส้นเลือดอุดตันที่ปอด มีลิ่มเลือดในปอด อาการบวมน้ำที่ปอด มีของเหลวในปอด รวมดึงการหายใจเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทำให้เกิดการกีดขวางการไหลเวียนของอากาศจากปอดอย่างถาวร จนส่งผลให้หายใจลำบาก ไอ ผลิตเสมหะ และหายใจเสียงดังฮืด ๆ
  • การติดเชื้อ เช่น วัณโรค ซึ่งวัณโรคนั้นเกิดจากแบคทีเรีย ทำให้เกิดการติดเชื้อในปอดอย่างรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่ไข้ เหงื่อออก เจ็บหน้าอก เจ็บขณะหายใจ ไอ หรือไอถาวร
  • การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เวลาไออาจทำให้มีเลือดบาง ๆ ปนออกมากับเสมหะ
  • อาการบาดเจ็บและการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ
  • การสูดดมสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเสมหะปนเลือดในเด็ก
  • การใช้ยาเสพติด เช่น โคเคน ที่สูดดมผ่านรูจมูก สามารถทำให้ระบทางเดินหายใจส่วนบนระคายเคืองได้
  • ลิ้นหัวใจแคบ อาจทำให้หายใจถี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อออกแรงหรือนอน นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ เท้าหรือขาบวม ใจสั่น เหนื่อยล้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องออกกำลังกายหนัก ๆ
  • วิธีรับมือเมื่อเสมหะปนเลือด

    หากมีเสมหะปนเลือดออกมามาก ควรเข้าพบคุณหมอในทันที โดยเฉพาะเมื่อมีเสมหะปนเลือดสีเข้ม และมีเศษอาหารปนออกมาด้วย เพราะอาจเป็นสัญญาณว่ามีปัญหาสุขภาพร้ายแรงในระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ หากมีเสมหะปนเลือดร่วมกับมีอาการดังต่อนี้ไป ก็ควรรีบเข้าพบคุณหมอเช่นกัน

    • วิงเวียนศีรษะ
    • มีไข้
    • ปวดศีรษะ
    • เจ็บหน้าอก
    • หายใจถี่ หรือหายใจลำบากขึ้นเรื่อย ๆ
    • มีเลือดปนในปัสสาวะหรืออุจจาระ
    • ไม่อยากอาหาร
    • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

    การป้องกันไม่ให้เกิดเสมหะปนเลือด

    วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันการเกิดเสมหะปนเลือดได้

    • หยุดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งปอด
    • ดื่มน้ำให้มากขึ้น หากรู้สึกว่ากำลังติดเชื้อในทางเดินหายใจให้ดื่มน้ำให้มากขึ้น เพราะน้ำดื่มสามารถทำให้เสมหะจางลงและช่วยขับเสมหะได้
    • รักษาบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ หากเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด หรือปอดอักเสบ ฝุ่นละอองอาจทำให้ปอดระคายเคือง และทำให้อาการแย่ลง นอกจากนี้ เชื้อราและโรคราน้ำค้าง (Mildew) ก็อาจทำให้ติดเชื้อและระคายเคืองในทางเดินหายใจ จนทำให้เกิดเสมหะปนเลือดได้
    • เมื่อพบความผิดปกติ ควรปรึกษาคุณหมอ อาการไอที่มีเสมหะสีเหลืองและสีเขียว อาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อทางเดินหายใจ ดังนั้น การปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยให้รักษาโรคได้ทันท่วงที และช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด เมื่อสัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา