backup og meta

เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด สัญญาณเตือน ปัจจัยเสี่ยง และวิธีป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด สัญญาณเตือน ปัจจัยเสี่ยง และวิธีป้องกัน

    เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เป็นภาวะที่หญิงตั้งครรภ์รู้สึกเจ็บท้องคลอดก่อนอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 37 ซึ่งภาวะนี้อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์และครอบครัวตกใจ หรือกระวนกระวายใจ จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ทั้งสัญญาณเตือน ปัจจัยเสี่ยง และวิธีรับมือที่ถูกต้องหากเกิดภาวะนี้ขึ้นก่อนคลอด

    เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เกิดจากอะไร

    การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด (Premature Labor) เกิดจากมดลูกหดรัวตัวก่อนถึงกำหนดคลอด จนทำให้ปากมดลูกเปิด ซึ่งภาวะนี้มักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์  

    ปัจจัยที่ทำให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

    สาเหตุที่ทำให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดอาจมีดังนี้

    • มีประวัติเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดมาก่อน
    • ท้องลูกแฝด ตั้งแต่แฝดสองขึ้นไป
    • ปากมดลูกสั้น
    • คุณแม่ท้องมีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไปตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
    • มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูกหรือรก
    • มีการติดเชื้อในน้ำคร่ำ หรืออวัยวะส่วนล่าง
    • สูบบุหรี่
    • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึมเศร้า
    • แม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากหรืออายุน้อยเกินไป
    • มีความผิดปกติของทารกในครรภ์

    สัญญาณ เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เป็นอย่างไร

    อาการที่อาจเป็นสัญญาณของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด อาจมีดังนี้

    • ปวดท้องรุนแรง โดยไม่มีอาการท้องร่วง
    • เจ็บหรือแน่นที่บริเวณหน้าท้องบ่อย ๆ
    • มีตกขาวเพิ่มขึ้น
    • ตกขาวมีเลือด มูก หรือของเหลวปนมา
    • ปวดหลัง โดยเฉพาะหลังส่วนล่าง
    • มดลูกหดตัว หรือรู้สึกแน่นที่มดลูกทุก ๆ 10 นาที
    • มีเลือดออกทางช่องคลอด
    • ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด ทำให้มีของเหลวไหลออกมา
    • รู้สึกได้ถึงแรงดันที่บริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

    วิธีบรรเทาอาการ เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด 

    หากคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดอาการเจ็บท้องคลอดแล้ว คุณหมอจะไม่สามารถยับยั้งอาการดังกล่าวได้ และอาจจำเป็นต้องให้ยาดังตัวอย่างต่อไปนี้ เพื่อให้ทารกมีโอกาสรอดชีวิตเป็นปกติ

    • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เพื่อช่วยให้ปอดของทารกสามารถทำงานได้เป็นปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการเจ็บท้องคลอดในช่วงสัปดาห์ที่ 23-34 ของการตั้งครรภ์
    • ยาแมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium sulfate) หากเจ็บท้องคลอดในช่วงสัปดาห์ที่ 24-32 ของการตั้งครรภ์ คุณหมอจะให้ยาตัวนี้เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อสมองของทารก
    • ยาระงับการหดรัดตัวของมดลูก (Tocolytics) คุณหมออาจสั่งจ่ายยาตัวนี้เพื่อชะลอการหดตัวของมดลูก และชะลอไม่ให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด

    อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณแม่ถึงมือคุณหมอและได้รับการดูแลในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังคงมีอาการเจ็บท้องคลอดอยู่ คุณหมอจะเตรียมทำคลอดเป็นลำดับต่อไป แต่หากอาการเจ็บท้องคลอดทุเลาหรือไม่เสี่ยงคลอดก่อนกำหนดแล้ว คุณหมออาจอนุญาตให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านได้

    วิธีป้องกันภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

    ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดไม่สามารถป้องกันได้ แต่การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตตั้งแต่ก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ อาจช่วยให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างสมบูรณ์และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ โดยหญิงตั้งครรภ์อาจลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้ง่าย ๆ ดังนี้

    • ฝากครรภ์ และไปพบคุณหมอตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อให้สามารถติดตามความคืบหน้า ความเสี่ยง และรับคำแนะนำในการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ได้อย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับอายุครรภ์และภาวะสุขภาพขณะนั้น
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน เนื่องจากมีผลการวิจัยระบุว่ามีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด
    • ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ยาเสพติด เพราะทำให้เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
    • ดูแลน้ำหนัก น้ำหนักของผู้หญิงตั้งครรภ์ควรอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะการมีน้ำหนักตัวน้อยหรือมากเกินไป อาจนำมาสู่ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้
    • จัดการกับปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคเรื้อรังใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดูแลสุขภาพตนเองอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคเรื้อรังนั้นกำเริบจนส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อไร

    หากพบว่ามีสัญญาณหรืออาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้น ควรไปพบคุณหมอทันที เพื่อเข้ารับการประเมินเบื้องต้น และรับการดูแลจากคุณหมออย่างใกล้ชิด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา