backup og meta

อาการใกล้คลอด มีอะไรบ้าง และวิธีรับมือเมื่อมีอาการใกล้คลอด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    อาการใกล้คลอด มีอะไรบ้าง และวิธีรับมือเมื่อมีอาการใกล้คลอด

    อาการใกล้คลอด อาจเริ่มปรากฏขึ้นในช่วง 2-4 สัปดาห์ก่อนถึงกำหนดคลอด หรือประมาณสัปดาห์ที่ 36 ของการตั้งครรภ์ อาการใกล้คลอดที่พบบ่อย เช่น เจ็บท้องหลอก มดลูกบีบตัว ท้องเสีย ปากมดลูกขยายเริ่มขยาย มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด การรู้จักสังเกตของอาการใกล้คลอด และเรียนรู้วิธีรับมือเมื่อมีอาการใกล้คลอด อาจช่วยให้คุณแม่สามารถเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดได้อย่างเหมาะสมเมื่อถึงกำหนดคลอดจริง

    อาการใกล้คลอด มีอะไรบ้าง

    สัญญาณของอาการใกล้คลอด ที่สามารถสังเกตได้โดยทั่วไป มีดังนี้

    ทารกเคลื่อนตัวลงต่ำ

    ประมาณ 2-4 สัปดาห์ก่อนถึงกำหนดคลอด ท้องของคุณแม่จะคล้อยต่ำลง เนื่องจากทารกเคลื่อนตัวลงมาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับกระดูกเชิงกราน และเริ่มกลับศีรษะเข้าไปที่บริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ในระยะนี้คุณแม่จะเริ่มหายใจได้สะดวกขึ้น เนื่องจากทารกเคลื่อนตัวออกห่างจากบริเวณปอด

    ปากมดลูกขยาย

    เมื่อใกล้วันคลอด ปากมดลูกของคุณแม่จะเริ่มเปิดและขยายกว้างขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดทารก อย่างไรก็ตาม คุณแม่ใกล้คลอดบางคนอาจมีอาการปากมดลูกเปิดก่อนกำหนดโดยอาจจมีมีอาการมูกเลือดออกทางช่องคลอดให้สังเกตเห็นได้ ขณะที่บางคนปากมดลูกเปิดช้ากว่ากำหนด ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ควรได้รับการดูแลจากคุณหมออย่างใกล้ชิด

    อาการปวดหลัง

    ยิ่งใกล้คลอดเท่าไหร่ อาการปวดหลังก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเท่านั้น คุณแม่ใกล้คลอดจะรู้สึกปวดหลังมากกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณหลังส่วนล่าง หรือบางครั้งอาจปวดแบบเป็นตะคริวลามไปจนถึงต้นขา ซึ่งอาการปวดเช่นนี้เป็นผลมาจากร่างกายยืดและขยายตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด รวมถึงอาจจะเกิดจากการที่เริ่มมีมดลูกหดรัดตัวบ้างแล้ว ทำให้มีการปวดร้าวไปถึงหลังได้

    อาการท้องเสีย

    คุณแม่หลายคนมักมีอาการท้องเสียเมื่อใกล้คลอด เนื่องจากร่างกายผ่อนคลายเพื่อเตรียมกล้ามเนื้อให้พร้อมสำหรับการคลอด โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนักที่จะคลายตัวอย่างมาก รวมทั้งมีการหลังสารที่ทำให้มดลูกเริ่มมีการหดรัดตัว ซึ่งสารดังกล่าวมีผลทำให้ลำไส้บีบตัวร่วมด้วยได้บ้าง จึงทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น 

    มีเมือกไหลออกจากช่องคลอด

    การขับเมือกเหนียวและตกขาวออกมาทางช่องคลอดเป็นอาการใกล้คลอดที่พบบ่อย ยิ่งใกล้กำหนดคลอดมากเท่าไหร่ คุณแม่ก็จะยิ่งมีตกขาวและเยื่อเมือกเหนียวไหลออกมามากขึ้นหรือหนาขึ้นเท่านั้น เมือกเหนียวและตกขาวที่พบมักมีเลือดปนออกมาด้วย จากการที่ปากมดลูกเริ่มมีการขยายตัวเปิดออกซึ่งถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าใกล้ถึงกำหนดคลอดเต็มทีแล้ว

    มดลูกบีบตัว

    ในช่วงใกล้คลอด มดลูกจะเริ่มหดหรือบีบตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ทำให้คุณแม่ใกล้คลอดรู้สึกเกร็งช่องคลอด ท้องแข็งปั้นเป็น ๆ หาย ๆ และช่องคลอดจะยิ่งบีบตัวมากขึ้นกว่าปกติ เมื่อเข้าใกล้วันคลอด

    มีอาการเจ็บครรภ์หลอก

    เมื่อใกล้คลอด มดลูกจะบีบรัดตัว ยิ่งใกล้คลอดก็จะยิ่งบีบรัดตัวมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางคนอาจมีอาการเจ็บท้องหลอก คือ เจ็บท้องคล้ายจะคลอดลูก แต่ยังไม่ถึงกำหนดคลอดจริง ลักษณะจะเป็นการปวดที่ไม่สม่ำเสมอ และไม่ได้ถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ อาการนี้มักเกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดคลอดหลายสัปดาห์หรือหลายวัน อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเจ็บท้องใกล้คลอด ควรไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจดูว่าเป็นอาการเจ็บท้องคลอดจริง หรือเจ็บท้องหลอก หากเจ็บท้องจริงคุณหมอจะได้เตรียมทำคลอดทันที แต่หากเจ็บท้องหลอก และไม่อยู่ในภาวะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด คุณหมอมักให้กลับบ้าน

    น้ำคร่ำแตก

    ทารกในครรภ์จะเจริญเติบโตอยู่ภายในน้ำคร่ำ แต่เมื่อถึงกำหนดคลอด และทารกพร้อมลืมตาดูโลกแล้ว ถุงน้ำคร่ำนั้นจะแตกและน้ำคร่ำไหลออกมาทางช่องคลอด เรียกว่า น้ำคร่ำแตก ซึ่งอาการนี้ถือเป็นสัญญาณสุดท้ายก่อนการคลอด เพราะเมื่อมีน้ำคร่ำไหลออกมาแล้ว นั่นหมายความว่า ถึงกำหนดคลอดจริง ๆ แล้ว

    ทำอย่างไรเมื่อมี อาการใกล้คลอด

    เมื่อเริ่มมีอาการใกล้คลอด ควรติดต่อหรือไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด เพื่อรับคำแนะนำจากคุณหมอและเตรียมคลอด ในกรณีที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล อาจจำเป็นต้องพักที่โรงพยาบาลเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด

    ในกรณีที่คลอดฉุกเฉิน หากมีคนใกล้ชิดคอยดูแล ควรนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือหากคุณแม่อยู่ลำพัง ควรมีเบอร์ฉุกเฉินสำหรับโทรแจ้งโรงพยาบาล เพื่อให้โรงพยาบาลนำรถมารับตัวเพื่อนำส่งโรงพยาบาลและทำคลอดโดยด่วน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา