backup og meta

อัลตร้าซาวด์ ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกหรือไม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์ · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    อัลตร้าซาวด์ ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกหรือไม่ 

    อัลตร้าซาวด์ ก่อนคลอด เป็นขั้นตอนทางการแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยอวัยวะในร่างกายด้วยคลื่นความถี่สูง เพื่อตรวจดูรังไข่หรือลักษณะและพัฒนาการของทารกในครรภ์ ถุงน้ำคร่ำ และรก การตรวจครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวด์อาจช่วยให้คุณหมอมีโอกาสตรวจพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์และภาวะอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการคลอดได้

    คุณแม่ตั้งครรภ์ตรวจอัลตร้าซาวด์เมื่อไร

    โดยปกติ คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ จะได้รับการตรวจครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวด์ ซึ่งจะช่วยให้คุณหมอสามารถทราบว่ารกอยู่ในสภาพที่แข็งแรง และทารกเติบโตตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ โดยคุณหมออาจสังเกตการเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของทารกผ่านการตรวจนี้ได้ด้วย

    การตรวจด้วยอัลตราซาวด์อาจช่วยในการตรวจเพศของทารกได้ โดยสามารถระบุความต้องการกับคุณหมอก่อนการตรวจว่าอยากทราบเพศของทารก แต่ก็ควรเผื่อใจไว้ด้วยว่า ผลการตรวจเพศด้วยการอัลตร้าซาวด์นี้อาจไม่แม่นยำ และไม่แน่นอน

    การตรวจอัลตร้าซาวด์นั้น สามารถทำได้ 2-3 ครั้ง ในระหว่างตั้งครรภ์ โดยจุดประสงค์ของการตรวจก็จะแตกต่างกันไปตามอายุครรภ์ คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจอัลตร้าซาวด์ ก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ โดยมีจุดประสงค์ ดังนี้

  • ตรวจหาจำนวนทารกในมดลูก
  • คำนวณเพื่อกำหนดวันคลอด
  • คำนวณอายุของทารกในครรภ์ (อายุครรภ์)
  • ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ การทำอัลตร้าซาวด์อาจช่วยให้ทราบเกี่ยวกับ

  • สภาวะสุขภาพของทารก
  • ตำแหน่งของรกและท่าทางของทารก
  • ปริมาณน้ำคร่ำ
  • ตำแหน่งของทารก
  • น้ำหนักของทารกเมื่อแรกคลอด
  • ขั้นตอนการตรวจครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวด์

    ลำดับแรก ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ เพื่อความสะดวกในการตรวจของคุณหมอ จากนั้น จึงนอนลงบนเตียงตรวจ และคุณหมอจะทาเจลบริเวณหน้าท้อง ซึ่งเจลนี้มีส่วนผสมของน้ำ และจะไม่ทิ้งคราบบนเสื้อผ้า

    คุณหมอจะค่อย ๆ วางตัวแปลงสัญญาณบริเวณหน้าท้อง และคลื่นเสียงความถี่สูงจะถูกส่งจากตัวแปลงสัญญาณนี้ไปสู่โครงสร้างภายในครรภ์ และสะท้อนกลับเป็นภาพทารกบนหน้าจอ ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ยินเสียงหัวใจของทารก และมองเห็นการเคลื่อนไหวของทารกบนหน้าจอ และภาพเหล่านี้สามารถพิมพ์ออกมาได้ด้วย

    โดยปกติแล้ว ในระหว่างการทำอัลตร้าซาวด์ คุณแม่ตั้งครรภ์อาจเกิดความรู้สึกไม่สบายตัว เนื่องจากคุณหมออาจสั่งให้กลั้นปัสสาวะไว้ให้เต็มกระเพาะปัสสาวะ เพื่อให้ตรวจดูสิ่งผิดปกติบริเวณกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ ในระหว่างการตรวจคุณหมออาจขอให้กลั้นหายใจในบางช่วง โดยทั่วไปการตรวจครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวด์มักใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที

    การตรวจอัลตราซาวด์ขณะตั้งครรภ์ปลอดภัยหรือไม่

    ทุกกระบวนการทางการแพทย์ทุกประเภท ย่อมมีความเสี่ยงทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ระบุว่า การตรวจครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวด์นั้นจะส่งผลเสียหรือเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์แต่เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และทารก ควรให้คุณหมอ ผู้ที่ผ่านการอบรมหรือผู้เชี่ยวชาญ (Sonographer) เป็นผู้ทำอัลตร้าซาวด์เท่านั้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์ · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา