backup og meta

อาการคนท้อง 1 สัปดาห์ สังเกตอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    อาการคนท้อง 1 สัปดาห์ สังเกตอย่างไร

    เมื่อผู้หญิงประจำเดือนขาดและตรวจการตั้งครรภ์โดยชุดตรวจตั้งครรภ์ทางปัสสาวะแล้วพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ อาจเข้าใจผิดว่าตัวเองตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ แต่ในทางการแพทย์จะตรวจการตั้งครรภ์ได้จากฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ในปัสสาวะซึ่งพบได้เมื่อตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูกและสร้างรกแล้ว อย่างไรก็ตาม อาจมี อาการคนท้อง 1 สัปดาห์ ที่สังเกตได้และถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ ซึ่งในแต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วย อาการที่พบบ่อยที่สุด คือ ประจำเดือนขาด คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะบ่อย อารมณ์แปรปรวน คัดตึงเต้านม อาการเหล่านี้เป็นอาการที่ควรสังเกตเพื่อการดูแลสุขภาพครรภ์ที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น

    สัญญาณเตือนว่าท้อง 1 สัปดาห์

    เมื่อประจำเดือนขาดและตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดตรวจตั้งครรภ์ทางปัสสาวะแล้วพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ อาจทำให้ผู้หญิงเข้าใจว่าตัวเองตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ แต่ในทางการแพทย์จะตรวจการตั้งครรภ์ได้จากฮอร์โมนเอชซีจี (hCG หรือ Human Chorionic Gonadotropin Hormone) ในปัสสาวะ ซึ่งจะพบได้เมื่อตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูกและสร้างรกแล้ว เพราะฮอร์โมนเอชซีจีสร้างมาจากรก ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 4-5 สัปดาห์ทางการแพทย์ โดยการนับอายุครรภ์ทางการแพทย์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย (Last Menstrual Period หรือ LMP)

    อาการคนท้อง 1 สัปดาห์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายที่ส่งผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะเกือบทุกส่วน ทั้งนี้ สัญญาณเตือนว่าท้อง 1 สัปดาห์อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังนี้

  • ประจำเดือนขาด
  • ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ บางคนอาจอาเจียนด้วย
  • รู้สึกคัดตึงเต้านม เต้านมบวม และเจ็บปวดเต้านม อาจมองเห็นเส้นเลือดสีฟ้าที่ผิวหนังบริเวณเต้านมอย่างชัดเจน
  • ถ่ายปัสสาวะบ่อย
  • อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
  • เมื่อยล้า เหนื่อยง่าย
  • ปวดอุ้งเชิงกรานเล็กน้อย
  • อารมณ์แปรปรวน
  • อยากอาหารมากขึ้น
  • รับรสชาติหรือรับกลิ่นได้เปลี่ยนไป ไวต่อกลิ่นมากกว่าปกติ เช่น กลิ่นอาหาร กลิ่นน้ำหอม ทำให้รู้สึกเหมือนมีรสชาติโลหะในปาก หรือรู้สึกเหม็นอาหารบางชนิดทั้งที่เคยชอบ
  • ท้องผูก ท้องอืด
  • มีตกขาวมากขึ้น
  • น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นอยู่กับว่ามีอาการแพ้ท้องมากน้อยแค่ไหน
  • เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลงอาจทำให้คนท้องต้องเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันบางอย่าง เช่น เลือกรับประทานอาหารมากขึ้น อาจต้องรับประทานอาหารบ่อยขึ้น โดยแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อต่อวัน เพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียน งดรับประทานอาหารมัน เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสดใหม่อยู่เสมอ ต้องเข้านอนเร็วขึ้นเพื่อบรรเทาความเหนื่อยล้าและความอ่อนเพลียของร่างกาย ทั้งนี้ อาการคนท้อง 1 สัปดาห์ อาจเกิดขึ้นไม่เหมือนกันในแต่ละคนขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายโดยรวมและโรคประจำตัวของคุณแม่ด้วย

    วิธีใช้ที่ตรวจตั้งครรภ์เพื่อให้ได้ผลแม่นยำ

  • ควรใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่บ้านหลังจากประจำเดือนขาดไปประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะปริมาณฮอร์โมนเอชซีจีในปัสสาวะจะยิ่งเพิ่มขึ้นตามเวลาของการตั้งครรภ์ หากทดสอบเร็วเกินไปอาจทำให้ผลออกมาผิดพลาดได้
  • ควรตรวจการตั้งครรภ์จากปัสสาวะครั้งแรกในตอนเช้า และควรรอผลตรวจอย่างน้อย 10 นาที อาจช่วยเพิ่มความแม่นยำได้
  • ตรวจสอบวันหมดอายุของชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่บ้านก่อนนำมาใช้งานทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่าเคร่งครัด
  • ปริมาณฮอร์โมนเอชซีจีในปัสสาวะของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน บางคนอาจตรวจพบฮอร์โมนนี้ได้หลังประจำเดือนขาดไป 1 สัปดาห์ แต่บางคนที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมออาจต้องรอนานกว่านั้น ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับการใช้ยาบางชนิดด้วย จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ที่ตรวจครรภ์ หรืออาจตรวจการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลเพิ่มเติมเพื่อความแม่นยำยิ่งขึ้น ด้วยการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับ serum Beta-hCG ถ้าค่าฮอร์โมนมากกว่า 25 mIU/ml แสดงว่าตั้งครรภ์ แต่การตรวจเลือดเพียงครั้งเดียวไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติหรือไม่ จึงอาจต้องตรวจเลือดซ้ำ หากการตรวจระดับ Beta-hCG เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 66 เปอร์เซ็นต์ใน 48 ชั่วโมงจะถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติ

    สิ่งที่ควรทำเมื่อท้อง 1 สัปดาห์

    การดูแลครรภ์ให้มีสุขภาพดีตั้งแต่เริ่มต้นด้วยวิธีดังต่อไปนี้ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ และทำให้ทารกมีสุขภาพดีได้

    • ฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด เพื่อตรวจดูสัญญาณการตั้งครรภ์ ปัญหาสุขภาพ และประเมินความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน การติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจาง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ รวมถึงโรคประจำตัวอื่น ๆ ด้วย
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์และครบ 5 หมู่ ควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ งดอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ และอาหารหมักดอง
    • รับประทานกรดโฟลิควันละ 0.4 มิลลิกรัม และรับประทานธาตุเหล็กบำรุงเลือดในรายที่มีภาวะโลหิตจาง แต่หากมีอาการแพ้ท้องรุนแรง อาจต้องเริ่มรับประทานธาตุเหล็กตอนไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ด้วย
    • ปรึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีในรายที่จำเป็น กับคุณหมอที่ฝากครรภ์
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอง ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนใช้ยา
    • ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพด้วยรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับคนท้อง และควบคุมน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ในแต่ละไตรมาส
    • ป้องกันตัวเองจากภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ในขณะตั้งครรภ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา