backup og meta

อาหารที่คนท้องห้ามกิน มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 20/06/2022

    อาหารที่คนท้องห้ามกิน มีอะไรบ้าง

    อาหารที่คนท้องห้ามกิน หมายถึง อาหารที่มีส่วนผสมหรือสารประกอบบางอย่างที่อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์ เช่น เครื่องดื่มคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารทะเลบางชนิด ไข่ดิบ รวมทั้งผักดิบบางชนิด อาหารที่ปรุงไม่สุก เพราะอาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้ 

    อาหารที่คนท้องห้ามกิน มีอะไรบ้าง

    อาหารที่คนท้องห้ามกิน หรือควรหลีกเลี่ยง มีดังต่อไปนี้

  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะการรับประทานเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อาจทำให้เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ทารกอาจพิการทางสติปัญญา หรือพิการแต่กำเนิด สำหรับคาเฟอีนอาจดื่มได้ประมาณวันละ 100-200 มิลลิกรัม แต่ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร
  • อาหารทะเลบางชนิด เช่น หอย ปลาอินทรี เพราะอาจมีสารปรอทปนเปื้อนในระดับสูง จึงอาจส่งผลเสียต่อระบบประสาทส่วนกลางของทารกในครรภ์ได้
  • นมและชีสที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ เช่น ชีสเม็กซิกัน เฟตาชีส กามองแบร์ชีส บลูชีส เพราะอาจเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย จนทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ไข่ดิบ เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นทารกเสียชีวิตในครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานไข่ที่ปรุงสุก และเลือกซื้อไข่ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองความปลอดภัย
  • น้ำผลไม้คั้นสด เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียอย่างซาลโมเนลลา และอีโคไล (E. coli) ที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ควรเลือกรับประทานน้ำผลไม้ที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ หรือพาสเจอร์ไรซ์แล้ว
  • ผักที่ไม่ได้ล้าง ผักดิบอาจมีเชื้อโปรโตซัวท็อกโซพลาสมา กอนดีไอ (Toxoplasma gondii) จากดิน ที่ก่อให้เกิดโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) หากไม่ล้างทำความสะอาดให้ดีก่อนรับประทาน อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ทำให้แท้งบุตร
  • อาหารที่แนะนำสำหรับคนท้อง

    อาหารที่เหมาะสำหรับคนท้องมักเป็นอาหารที่มีคุณค่าสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่

    • ผัก และผลไม้ ที่ผ่านการทำความสะอาด เพราะมีวิตามิน แร่ธาตุ และไฟเบอร์ ช่วยย่อยอาหาร ลดอาการท้องผูก แต่ควรหลีกเลี่ยงผักผลไม้แปรรูป เช่น ผักผลไม้แห้ง แช่แข็ง
    • อาหารประเภทแป้ง เพราะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ ทำให้รู้สึกอิ่มท้อง โดยอาหารประเภทแป้งที่แนะนำ ได้แก่ ขนมปัง ซีเรียล ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต
    • อาหารประเภทโปรตีน เช่น ไข่ ถั่ว ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื่องจากเป็นอาหารที่อาจส่งเสริมการเจริญเติบโตให้ทารกในครรภ์
    • ผลิตภัณฑ์จากนม เพราะอุดมด้วยแคลเซียม แต่ควรเลือกนมที่ผ่านการฆ่าเชื้อ หวานน้อย และไขมันต่ำ  

    นอกจากนี้ การรับประทานวิตามินเสริมในช่วงตั้งครรภ์ และหลังคลอด อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพ และช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวหลังคลอดได้ดี โดยสารอาหารที่จำเป็น ได้แก่ โฟเลต โคลีน วิตามินบี 12 วิตามินดี วิตามินเอ และแมกนีเซียม แต่เพื่อความปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนเลือกรับประทานวิตามินหรืออาหารบำรุงสุขภาพ 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 20/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา